Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ขีดๆเขียนๆบอกเล่าเรื่องราว
•
ติดตาม
5 ม.ค. เวลา 16:57 • การศึกษา
ลองใช้ T-score: อีกร่างของ z-score สื่อสารเข้าใจง่ายขึ้น 🎯📊
เมื่อวานพูดถึงคะแนนมาตรฐาน (Standard Score) หรือ z-score กันไปแล้ว แต่คุณอาจไม่รู้ว่าในบางสถานการณ์ มีอีกค่า คือ T-score ซึ่งอาจเป็นคำตอบที่เหมาะสมยิ่งกว่า โดยเฉพาะกรณีที่ต้องการนำเสนอผลลัพธ์ให้อ่านและสื่อสารได้ง่าย วันนี้เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับ T-score กัน ทำให้ง่ายหรือทำให้งงเดี๋ยวรู้กัน✨
T-score คืออะไร? 🤔
T-score เป็นคะแนนมาตรฐานที่ “ปรับ” ค่าของ z-score ให้มีค่าที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดย การแปลงร่าง เป็น T-score นั้น เริ่มจากการกำหนดให้
- ค่าเฉลี่ย (Mean) = 50
- ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation, SD) = 10
- ค่า z-score คำนวนมาจากข้อมูลดิบ สูตรเดิมครับ (X-Mean)/SD ลองกลับอ่านบทความที่แล้วดูครับ
โดย T-score = Mean + Z-score x SD หรือ แทนค่า ได้เป็น
T-score = 50 + Z-score x10
ซึ่งทำให้ค่าส่วนใหญ่ของ T-score อยู่ในช่วงประมาณ 20–80 (+/- 3 SD)
การกำหนดค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในระดับที่ตายตัว (50 และ 10) ไม่มีเหตุผลอะไรมาก ก็แค่ช่วยให้เข้าใจและการนำเสนอข้อมูลได้อย่างชัดเจนและสะดวกยิ่งขึ้น ✨
ทำไมต้องใช้ T-score แทน z-score? 🧮
1. เข้าใจง่ายกว่า
ค่า z-score อาจมีค่าติดลบหรือเป็นทศนิยม เช่น -1.25 หรือ +2.37 ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้สับสนหรือมองเห็นภาพยาก การเปลี่ยนเป็น T-score จะทำให้ค่าทั้งหมดเป็นค่าบวกและอยู่ในช่วงที่ “อ่านง่าย” เช่น 30, 45, 60, 74
2. สื่อสารผลลัพธ์ได้สะดวก
ในการประเมินต่าง ๆ (เช่น การทดสอบทางจิตวิทยา การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย) T-score สามารถนำเสนอค่าได้อย่างกระชับเข้าใจง่าย ไม่ต้องอธิบายซ้ำว่าค่าลบหมายถึงอะไร ค่าบวกหมายถึงอะไร
3. เปรียบเทียบได้ง่าย
เมื่อต้องเปรียบเทียบคะแนนของผู้เข้าทดสอบหลาย ๆ คน หรือหลายกลุ่มในเวลาเดียวกัน การใช้ T-score ซึ่งอยู่ในสเกลเดียวกัน ช่วยให้การเปรียบเทียบ มีความเป็นธรรม และทำให้เห็นภาพรวมได้รวดเร็ว
อีกตัวอย่างที่หลายท่านอาจเคยเห็นในการรายงานผลการสอบคัดเลือก ซึ่งส่วนใหญ่มีหลายวิชาหลายส่วน ความยากง่ายไม่เท่ากัน คะแนนเต็มไม่เท่ากัน ดังนั้นในการเปรียบเทียบคะแนนรวม โดยการนำคะแนนดิบของแต่ละวิชามาบวกกันแล้วเปรียบเทียบอาจดูไม่ค่อยแฟร์ในหลายๆมิติ จึงมีหลายสถาบันใช้การรายงานค่า T-score ประกอบด้วย ยกตัวอย่างเช่น การสอบเข้ามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ใช้คะแนนสอบเข้าสามวิชาประกอบกัน คือ
วิชาคำนวน วิชาวิเคราะห์ วิชาภาษา โดยแต่ละวิชามีคะแนนเต็ม 30 40 และ 30 คะแนนตามลำดับ จากนั้นนำคะแนนรวมมาใช้ในการเปรียบเทียบ ก็ดูน่าจะยุติธรรมนะ แต่ถ้าเรามีข้อมูลเพิ่มเติมว่า
วิชาคำนวน มีคะแนนเฉลี่ย 7 คะแนน และ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 3 คะแนน โห โหดมากเลย คะแนนเต็ม 30 ค่าเฉลี่ยแค่ 7 เรียกได้ยากมากครับ
วิชาวิเคราะห์ มีคะแนนเฉลี่ย 32 คะแนน และ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 7 คะแนน วิชานี้น่าจะไม่ยากเท่าไหร่ เพราะค่าเฉลี่ยค่อนข้างสูงเลย
วิชาภาษา มีคะแนนเฉลี่ย 18 คะแนน และ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 10 คะแนน วิชานี้น่าจะกลางๆ
สมมติ นาย เอก สอบวิชาคำนวนได้ 15 คะแนน เก่งมากเลยนะ วิชาวิเคราะห์ได้ 28 คะแนน กลาง ๆ นะ และวิชาภาษาได้ 20 แต้ม ก็ใช้ได้ รวมคะแนนทั้งหมดเป็น 63 คะแนน จาก 100 คะแนน
ผู้เข้าสอบอีกท่านคือ นาย บอย สอบวิชาคำนวนได้ 10 คะแนน กลางๆ นะ วิชาวิเคราะห์ได้ 35 คะแนน ก็กลาง ๆ นะ และวิชาภาษาได้ 22 แต้ม ก็กลางๆ รวมคะแนนทั้งหมดเป็น 67 คะแนน จาก 100 คะแนน เหนือกว่านาย เอก ครับ
สิ่งที่เราสังเกตุได้คือ ข้อสอบ 3 วิชานี้ มีความยากง่ายไม่เหมือนกัน และบางวิชาคะแนนเต็มมากกว่าด้วย ถ้าตั้งใจให้น้ำหนักมากกว่าก็โอเคครับ แต่ถ้าเจตนาจะให้ความสำคัญของข้อสอบทั้งสามเท่าๆกัน น่าจะมีประเด็น ในกรณีแบบนี้ถ้าเราใช้ค่า T-score แทน คือการคำนึงถึงความยากง่ายของข้อสอบ และให้น้ำหนักเท่าๆกัน เราจะพบว่า
นาย เอก ได้;
Z-score วิชาคำนวน = (15-7)/3 = 2.67 แปลงเป็น T-score = 50 + (2.67X10) = 76.7
Z-score วิชาวิเคราะห์ = (28-32)/7 =-0.57 แปลงเป็น T-score = 50 + (-0.57X10) = 44.3
Z-score วิชาภาษา = (20-18)/10 = 0.20 แปลงเป็น T-score = 50 + (0.20X10) = 52
รวม T-score ได้ 173
นาย บอย ได้
Z-score วิชาคำนวน =(10-7)/3 = 1 แปลงเป็น T-score = 50 + (1X10) = 60
Z-score วิชาวิเคราะห์ = (35-32)/7 =0.43 แปลงเป็น T-score = 50 + (0.43X10) = 54.3
Z-score วิชาภาษา = (22-18)/10 = 0.40 แปลงเป็น T-score = 50 + (0.40X10) = 54
รวม T-score ได้ 168.3
เมื่อเปรียบเทียบ T-score แล้ว กลับเป็นนายเอกจะมีคะแนนสูงกว่า
ตรงนี้ก็ฝากไว้ให้คิดแล้วกันครับ แบบไหนแฟร์กว่ากัน เพราะอะไร คงไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์แบบ ขึ้นอยู่กับสมมติฐาน และวัตถุประสงค์ในการประเมินเรื่องนี้ แต่ก็ฝากค่า T-score ไว้ให้ลองพิจารณาดูครับ
สรุป 📖
T-score เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปรับค่า z-score ให้อยู่ในรูปแบบ “อ่านง่าย” โดยเน้นการสื่อสารผลลัพธ์กับผู้ใช้ หรือผู้รับข้อมูลในบริบทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการวัดผลการศึกษา หรือการสอบแข่งขัน ที่ต้องการความเที่ยงตรงและเป็นธรรมในการเปรียบเทียบ
แม้ว่า z-score จะเป็นพื้นฐานที่ใช้แพร่หลายทางสถิติ แต่ T-score ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการนำเสนอข้อมูลและการตีความผลลัพธ์ โดยเฉพาะเมื่อเราต้องการให้ผู้รับข้อมูล “เข้าใจได้ทันที” โดยไม่ต้องอ้างอิงค่าติดลบหรือทศนิยมมากมาย การเลือกใช้ T-score หรือ z-score จึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ และกลุ่มเป้าหมายของการวิเคราะห์ข้อมูลนั่นเอง ✨
ความยุติธรรมและความถูกต้องคือหัวใจสำคัญของการสอบ 🤝 การนำค่า T-score มาใช้จะช่วยสร้างระบบการประเมินที่ผู้สอบและตัวอาจารย์สามารถเชื่อมั่นได้ 🎓✨ซึ่งเราสามารถใช้ "สถิติ" ช่วยเรื่องการประเมินผลได้อย่างลงตัวอีกแบบ ✨ ตอกย้ำได้เลยว่าการใช้สถิติเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด แต่กลับเป็นตัวช่วยที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นและตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น 🚀😊
#สถิติ #ชีวิตง่ายขึ้น #คําตอบของชีวิต #สถิติง่ายนิดเดียว
#วิเคราะห์ข้อมูล #การประเมินผล #ข้อสอบหลายชุด
#Tscore #Zscore #ความเป็นธรรมในการสอบ
1 บันทึก
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย