6 ม.ค. เวลา 04:08 • ความคิดเห็น

Home run mindset

ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหนหรือธุรกิจใด การเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้นจากทุกทางนั้นทำให้บริษัทไทยทั้งหลายไม่สามารถอยู่กับที่ได้ จะต้องหา S curve ใหม่ที่จะโตต่อ ธุรกิจใหญ่ๆ หลายแห่งก็เริ่มจากการพยายามสร้างทีมนวัตกรรมขึ้นมา เริ่มมีกองทุนเพื่อไปลงทุนในบริษัทดาวรุ่งที่เผื่อจะได้ผลกำไรหรือเห็นโอกาสอะไรใหม่ๆ เพื่อต่อยอดในรูปของ Corporate venture Capital (CVC) หรือแม้กระทั่งแยกบริษัทย่อยออกไปลองธุรกิจที่คิดว่าจะเป็นอนาคต
แต่ส่วนใหญ่ก็ดูจะไม่มีใครทำได้ประสบความสำเร็จชัดเจนนัก ประเทศไทยเลยติดหล่มอยู่แบบนี้มาพักใหญ่..
ปัญหาที่ทำให้ติดอยู่ในกับดัก ไม่สามารถหา S curve ใหม่ได้ทันการณ์นั้น ไม่น่าจะอยู่ที่เงินทุนเพราะหลายที่ก็มีเงินพร้อมลงจำนวนมาก ไม่น่าจะอยู่ที่ความสามารถของบุคลากรเพราะมีสตางค์ มีปัญญาจ้างคนเก่งๆ ได้เช่นกัน แต่น่าจะอยู่ที่กับดักทางความคิดและวัฒนธรรมองค์กรมากกว่าในความเห็นผม
แล้วถ้าจะลองไปสังเกตที่ไหนซักที่หนึ่งที่ค้นพบและฟูมฟักนวัตกรรมของโลกได้บ่อยๆ สร้าง S curve ใหม่ๆของโลกได้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี กลุ่มทุนและกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ไปค้นหา สนับสนุนจนบริษัทที่มีนวัตกรรมดีๆเติบใหญ่
หลายบริษัทโตขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลกและทำกำไรมหาศาลซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็คือกลุ่มพวก venture capital โดยเฉพาะฝั่งอเมริกาที่ลงทุนและดูแลบริษัทแสนล้าน หรือล้านล้านมาตั้งแต่ยังตั้งไข่ วิธีคิดของกลุ่มคนพวกนี้จึงน่าสนใจและอาจจะเป็นวิถีที่เป็นแนวทางใหม่สำหรับบริษัทไทยที่ทดลองแล้วล้มเหลวมาตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ก็ได้
1
ผมได้ฟังอาจารย์ Alia Stof แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้ศึกษาและวิจัยกลุ่ม venture capital มาตลอดยี่สิบปี บอกว่าเหตุปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้นวัตกรรมนั้นสำเร็จขึ้นมาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้นั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่า venture mindset ที่เป็นหลักการในการตัดสินใจลงทุนของพวก VC ในโลกของนวัตกรรมนั่นเอง
อาจารย์เล่าว่าถ้าดูบริษัทใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน 8 ใน 10 คือบริษัทที่กลุ่ม VC สนับสนุนมาตั้งแต่ต้นทั้งสิ้น กลุ่ม VC เหล่านี้ลงทุนมา 20-50 ปีในบริษัทเล็กๆ แทบไม่มีใครรู้จักที่ดูมีแววจะเติบโต ลงแล้วก็ช่วยผลักดัน วางระบบ จนบริษัทเหล่านั้นเติบใหญ่ พวก VC ใหญ่ๆ นั้นประสบความสำเร็จมาต่อเนื่องยาวนานในการลงทุน ถ้าลงบริษัทเดียวแล้วฟลุครวยก็อาจจะเรียกว่าโชค แต่ VC เหล่านี้ทำได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกจึงไม่ใช่โชคแต่เป็นทักษะ
วิธีคิดหรือหลักการที่ทำให้ VC เจอเพชรในตมแล้วเอามาขัดเกลาได้ตลอดเวลาหลายสิบปี เจอบริษัทที่เรียกได้ว่า home run คือปั้นบริษัทที่สร้างนวัตกรรมใหม่ได้จนเติบใหญ่กลายเป็นยักษ์ ได้กำไรเป็นร้อยๆ เท่าจากเงินลงทุนอยู่อย่างต่อเนื่องนั้น อาจารย์ได้สรุปบทเรียนสำคัญไว้ดังนี้
Home run matters, strike out don’t
ทุก VC ที่ประสบความสำเร็จที่อาจารย์ Alia ศึกษามานั้นมีหลักการคล้ายกันที่สำคัญที่สุดก็คือวิธีคิดในการตัดสินใจลงทุนในโลกที่หมุนเร็วสุดๆ ในยุคปัจจุบัน VC ไม่แคร์เลยว่าจะลงแล้วเจ๊งกี่ตัว แต่แคร์เฉพาะกำไรที่จะได้ในการลงทุนที่โดนจังๆเท่านั้น เหมือนในภาษาเบสบอลก็คือไม่แคร์ว่าจะตีไม่โดนกี่ครั้ง ขอตีโดนแบบโฮมรันครั้งเดียวพอ อาจารย์บอกถึงสถิติด้วยว่า VC ตีโดนประมาณหนึ่งในยี่สิบเท่านั้นเอง แต่หนึ่งนั้นได้กำไรเกินพอจนไม่ต้องสน 19 ที่เหลือได้อย่างสบายๆ
ที่อเมริกามี museum of failure เป็นพิพิธภัณฑ์ที่โชว์นวัตกรรมตลกๆที่ล้มเหลวมากๆ เต็มไปหมด และในนั้นส่วนใหญ่ VC ที่ประสบความสำเร็จก็ลงทุนในโครงการต่างๆอยู่เยอะเช่นกัน วิธีคิดนี้อาจจะอธิบายได้ว่าทำไม Coporate Venture Capital (CVC) หรือกองทุนลงทุนนวัตกรรมที่บริษัทไทยตั้งถึงไม่ค่อยรอด เพราะบริษัทธรรมดาส่วนใหญ่มักจะมีวัฒนธรรมห้ามล้มเหลว
ถ้าไปลงทุนแล้วไม่กำไรซักตัวสองตัวก็โดนบอร์ดเรียกไปชี้แจง โดนดุ โดนตรวจสอบจนต้องทำอะไรอย่างระมัดระวัง เผลอๆ โดนตัดโบนัส เป็นการจับผิดมากกว่าจับถูก ซึ่งตรงข้ามกับ VC mindset โดยสิ้นเชิง
อาจารย์ alia บอกด้วยซ้ำว่า VC ที่ประสบความสำเร็จมากๆนั้นมีอัตราเปอร์เซ็นต์ความล้มเหลวสูงกว่า VC ธรรมดาเข้าไปอีก ซึ่งอาจารย์เทียบกับชีวิตของคนเราด้วยว่า จริงๆแล้วชีวิตเรานั้นเป็นเรื่องของ Home run การมองย้อนกลับไปในชีวิตว่าเราได้ทำอะไรสำเร็จที่น่าภูมิใจมาบ้าง ซึ่งก่อนจะมีสิ่งนั้นก็จะต้องลองผิดลองถูก ล้มเหลวก่อนทั้งสิ้น การล้มเหลวไม่ว่าจะเป็นเรื่องลงทุนหรือชีวิตนั้นดีเสมอถ้ารีบล้มเร็ว ล้มแบบไม่แพง และล้มแล้วลุกใหม่ได้นั่นเอง
1
Getting outside the four wall
ในโลกของ VC เก่งๆ นั้นเราจะไม่ค่อยเจอพวกนี้ในออฟฟิศของตัวเอง แต่เราจะเจอพวกเขาตามร้านกาแฟ งานแฟร์ที่พยายามดั้นด้นไปคุยกับผู้ประกอบการหน้าใหม่ พวก VC เก่งๆ จะไม่จำกัดตัวเองอยู่แต่ในออฟฟิศแล้วเรียกคนมานำเสนอ แต่จะหาหนทางที่จะ spot ดาวรุ่งแบบเร็วๆและไปหา ไปจีบก่อนใคร ในช่วงต้นมี VC ใหญ่ที่หนึ่งใช้วิธีที่เรียกว่า early bird คือไปดู app store ว่ามีแอฟไหนที่ไม่กี่วันที่ผ่านมาไต่แรงกิ้งขึ้นมาผิดปกติ แล้วก็จะรีบไปนัดไปคุยกับเจ้าของแอพทันที
2
มีครั้งหนึ่ง มีแอฟนึงที่ไต่แรงกิ้งมาเร็วมาก ไม่มีใครรู้ว่าบริษัทนี้คือใครเพราะยังใหม่มาก หา database ก็ไม่เจอ รู้แต่ว่าอยู่แถว mountain view ที่มีประชากรประมาณเจ็ดหมื่นคน ทีม VC ยักษ์ใหญ่ก็เลยใช้วิธีไปเดินหา ถามคนตามถนนไปเรื่อยๆอยู่หลายวันจนเจอ founder ของแอฟนี้ ได้พูดคุยและได้ลงทุนในที่สุดซึ่งบริษัทนั้นก็คือ whatsapp ที่ตอนหลังขายให้ facebook ไปเกือบสองหมื่นล้านเหรียญในเวลาไม่กี่ปี
1
นี่คือหลักการที่ต้องออกจากกำแพงสี่ด้าน ก็คือออฟฟิศตัวเอง ใช้เท้าทำงาน พยายามไปหาของดีก่อนใคร ผมก็เคยสังเกตและคุยกับคุณตุ๊ก CEO ของ TQM ซึ่งภายหลังก็ลงทุนได้แม่นยำอยู่หลายบริษัทว่า ถ้าบริษัทไหนดั้นด้นมานำเสนอชวนให้ลงทุนถึง TQM ที่อยู่ไกลถึงลาดปลาเค้า ให้มีสมมติฐานก่อนเลยว่าไม่น่าจะดี บริษัทที่ดีที่น่าลงทุนคือบริษัทที่เราต้องไปหา ไปง้อ ไปตื๊อ ไปบอกว่าขอให้เราลงทุนเถอะเพราะเรามีประโยชน์กับเขามากกว่า
1
หลักการการเดินไปหานี้ก็ตรงกับวิธีการที่คุณหมู ookbie แห่ง shark tank ผู้ตั้งกองทุน VC ประสบความสำเร็จอยู่หลายกอง ล่าสุดก็ทำกองทุน SME คุณหมูก็เดินทางไปดูโรงงานกระเพราที่อุดร ไปนั่งคุยกับเจ้าของกระปุกยาดมที่โรงงานด้วยตัวเอง เป็นหลักการ getting outside four wall ที่เป็นกับดักแห่งความสำเร็จที่บริษัทใหญ่ๆไม่ค่อยจะทำกัน
1
The prepared mind
หลุยส์ ปาสเตอร์ผู้ค้นพบนวัตกรรมทางการแพทย์บ่อยๆเคยพูดคำหนึ่งไว้ว่า “Chance favors only the prepared mind” ถ้าจะค้นพบอะไรใหม่ๆบางอย่างไม่ใช่แค่โชค แต่พอเห็นโชคก็ต้องรู้ด้วยว่านี่คือโชค กลุ่ม VC เหล่านี้จะมี pattern ในหัวเสมอว่าจะถามอะไร อะไรคือหัวใจสำคัญเวลาจะคุยจะดึง insight จากเจ้าของหรือผู้ประกอบการเพื่อจะได้สามารถตัดสินใจได้เร็วมากๆ ก่อนคนอื่นเช่นกัน
Say “NO” 100 times
อาจารย์ Alia พบว่าทุกการลงทุนหนึ่งครั้งของ VC เก่งๆ เขาจะปฏิเสธมาเกินร้อยก่อน พวก VC เหล่านี้จะหูตากว้างไกล ทำงานหนักเพื่อจะได้เห็นโอกาสเยอะๆ แล้วทิ้งโอกาสหลายๆอันที่ยังไม่ชัวร์ไปเยอะมาก โดยใช้เทคนิค fast lane slow lane การที่ลดทางเลือกจาก 100 เหลือ 10 นั้นจะใช้ fast lane และพอเหลือ 100 ลดเหลือ 1 จะใช้ slow lane
ช่วงแรกที่ลดตัวเลือกที่เยอะๆให้เหลือน้อยแบบเร็วๆ คำถามจะต่างออกไป จะเป็นคำถามว่า “why should I not invest in this deal” คือถ้าไม่ดีจริง ตอบไม่ได้พอก็ทิ้งไปเลย อาจารย์บอกว่าพวก VC มือใหม่จะมีปัญหากับการพยายามวิเคราะห์บริษัททีละมากๆซึ่งจะทำให้ช้าและสับสนเกิน
อาจารย์ alia เปรียบเทียบกับการเลือกอะไรๆที่สำคัญในชีวิตด้วยว่า คำถามแรกที่เราควรถามตัวเองคือเรามีทางเลือกที่เยอะพอหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นการหางานใหม่หรือการลงทุนอะไรซักอย่างในชีวิต ถ้ายังน้อยก็ต้องพยายามขยายทางเลือกในมากเพื่อที่จะได้มีโอกาสมีทางเลือกที่ดีที่สุด และเมื่อเรามีทางเลือกเยอะแล้วค่อยใช้ fast lane ลดให้เหลือไม่กี่อัน ก่อนค่อยๆพินิจพิเคราะห์ให้ละเอียดถึงทางเลือกสำคัญไม่กี่อันในที่สุด
VC mindset ของการมองหาแต่ home run ไม่มองว่าการลงทุนที่พลาดเป็นเรื่องใหญ่ การเดินออกไปหาดีลดีๆ จมูกไวและลงมือเร็ว ไม่มัวแต่นั่งอยู่ในออฟฟิศ การเตรียมพร้อมที่มี pattern อยู่ในหัวว่ามองหาอะไร และการพยายามหาทางเลือกให้มากที่สุดในระดับร้อยเพื่อเลือกหนึ่งแล้วรีบลดทางเลือกเพื่อเหลือไม่กี่อันที่จะดูละเอียดก่อนตัดสินใจ
วิธีคิดเหล่านี้ดูจะตรงข้ามกับวิถีของบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำอะไรก็ห้ามพลาด อยู่แต่ในกล่องสี่เหลี่ยมของตัวเอง ไม่ได้เตรียมอะไรพร้อม และไม่ได้มีไม่ได้หาช้อยส์อะไรเท่าไหร่ มีไอเดียอยู่น้อยมาก ก็น่าจะบอกได้ดีว่าทำไมการหา home run หรือ s curve ของบริษัทที่มีทรัพยากรที่พร้อมลงทุนจึงไม่ประสบความสำเร็จ
เพราะหัวใจของการหา homerun นั้นไม่ได้อยู่ที่สตางค์หรือหาคนเก่งๆ มาทำ แต่น่าจะอยู่ที่ mindset ของผู้บังคับบัญชา ของบอร์ด มากกว่าที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่จะเอื้อต่อการหาและลองผิดลองถูกที่ถูก เร็วและลองใหม่ได้ดีแค่ไหน
อาจารย์ alia ปิดท้ายด้วยว่าตัวอาจารย์เองก็ลงทุน startup กับโครงการของนักเรียนอยู่หลายตัว มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว อาจารย์ชอบความล้มเหลวที่เรียกว่า contructive failure มาก คือการล้มเหลวที่เราสามารถเอามาเรียนรู้และพัฒนาตัวเองต่อในโครงการต่อไปได้ อาจารย์จึงชอบที่จะบอกนักเรียนที่ล้มเหลวว่าถ้ามีโครงการต่อไปให้กลับมาระดมทุนใหม่ได้นะ เป็นทัศนคติที่สำคัญมากๆ ต่อ home run และ strikeout
อาจารย์ปิดจบด้วยว่าให้ลองคิดถึงครั้งสุดท้ายที่ล้มเหลวและลองคิดว่าเรียนรู้อะไรจากมันได้บ้าง.. become a failure champion ซึ่งน่าจะเป็นหัวใจของการหา s curve ของบริษัทใหญ่ๆ ที่ดูจะตันกันไปหมดในช่วงนี้ได้อยู่
และในมุมคนรุ่นใหม่ที่อยากจะประสบความสำเร็จในชีวิต การที่พยายามมองหา Home run ไม่กลัว strike out ลองผิดลองถูก ล้มให้เร็วลุกให้เร็ว การใช้เท้าทำงาน ได้กลิ่นของโอกาสและเตรียมตัวตลอดเวลา การสร้างเครือข่ายหาทางเลือกให้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน การลงทุนหรือแม้แต่การหาคู่ชีวิตแล้วค่อยพินิจพิเคราะห์ทางเลือกที่ดีที่สุดเหล่านี้ก็น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีที่จะหา HOME RUN ในชีวิตได้เช่นกัน….
โฆษณา