6 ม.ค. เวลา 08:18 • ธุรกิจ

EP12: การทำงานแบบ Hon-Ren-So

หากเราทำงานในบริษัทญี่ปุ่น คงต้องมีสักครั้งที่ได้ยินคำว่า Ho Ren So คำว่า Ho Ren So ในภาษาญี่ปุ่นเป็นชื่อผักโขม หรือ Spinach ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับวิธีการทำงานในแบบญี่ปุ่น แต่คำว่า Ho Ren So เป็นคำพ้องเสียงจากตัวย่อของภาษาญี่ปุ่น 3 คำ คือ Hokoku, Renraku, และ Sodan
คำสามคำนี้ได้ถูกนำเสนอขึ้นมาเป็นครั้งแรกโดย Mr. Yamazaki Tomiji อดีตประธานบริษัทยามานาชิโชเก็ง (ซึ่งกลายมาเป็น SMBC Nikko Securities ในภายหลัง) โดยเขาได้เสนอความคิดนี้ไว้ในหนังสือชื่อ “โฮเรนโซ จะทำให้บริษัทแข็งแกร่ง” ที่ออกวางขายในปี 1986 ในช่วงที่เศรษฐกิจฟองสบู่ของญี่ปุ่นกำลังบวมโต ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงของโลก ด้วยอัตราการเติบโตของ GDP มากกว่า 10% ต่อปี
ดูแล้วก็น่ายินดี แต่หลายบริษัทกลับกลายเป็นว่า กำลังมีปัญหาอันเกิดจากการสื่อสารที่รวดเร็วและลัดขั้นตอนจนเกินไปของคนรุ่นใหม่ที่พยายามฉกฉวยโอกาสในการทำตลาด ดีก็ดีไป แต่พอพลาดกลับหาคนรับผิดชอบไม่ได้ จนเป็นปัญหาในการบริหารงาน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในองค์กร และกำลังจะทำให้องค์กรแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ หนังสือเล่มนี้กลายมาเป็นหนังสือยอดฮิต ทำให้โฮเรนโซกลายเป็นคำสำคัญในแวดวงธุรกิจของญี่ปุ่น
คำว่า Hokoku แปลเป็นไทยได้ว่า การรายงาน หมายถึงว่าในการทำงานอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะโดยคำสั่งของหัวหน้างานหรือพนักงานสร้างสรรค์งานขึ้นมาเอง ระหว่างการทำงานต้องมีการบอกเล่าเก้าสิบ ให้กับคนในทีม หรือหัวหน้างานรับทราบด้วย การรายงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และเป็นขั้นเป็นตอน ทบทวนง่าย และหากเกิดข้อผิดพลาด ทีมงานและหัวหน้างานจะได้ช่วยเหลือได้
Renraku แปลเป็นไทยได้ว่า การติดต่อสื่อสาร ในการทำงานพนักงานทุกคนคงไม่สามารถทำงานรวมกันอยู่ในห้องโถงขนาดใหญ่กันทุกคนทำให้เห็นหน้ากันตลอดเวลาได้ หลายคนทำงานในโรงงาน หลายคนออกไปพบลูกค้า หลายคนทำงานอยู่ในคลังสินค้า ดังนั้นเมื่อมองไม่เห็นซึ่งกันและกันในระหว่างทำงาน การติดต่อสื่อสารกันย่อมเป็นสิ่งที่สมควรทำมากขึ้น
การติดต่อสื่อสารไม่ได้หมายถึง ต้องโทรศัพท์ไปหาหัวหน้ารายงานตลอดเวลาว่าตอนนี้อยู่ที่ไหนทำอะไรอยู่ แต่อย่างน้อยเมื่อไปถึงจุดหมายปลายทาง หรือหลังเสร็จภารกิจก็ควรจะโทรศัพท์หรือส่งไลน์ไปบอกหัวหน้าบ้างก็ได้ว่า เป็นอย่างไรบ้าง
Sodan หมายถึง การขอคำปรึกษาหารือ ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ล้วนมีการศึกษาดีกว่าคนรุ่นก่อน ทำงานได้รวดเร็ว ตัดสินใจฉับไวไม่ลังเล ใช้เครื่องมือ IT ยุคใหม่ได้คล่องแคล่ว แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะมีน้อยกว่าคนรุ่นก่อนหรือหัวหน้างานก็คือ ประสบการณ์ในการทำงาน การตัดสินใจลงมือทำอะไรสักอย่างของพนักงานอาจเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่มันอาจจะเป็นเรื่องเก่าที่หัวหน้างานเคยพบ และอาจจะผิดพลาดจากการตัดสินใจอย่างนั้นในเรื่องนั้นมาก่อนก็ได้
โฆษณา