20 ม.ค. เวลา 00:00 • หนังสือ

ค่าใช้จ่ายกับการลงทุนต่างกันอย่างไร

ความจำเป็นต้องซื้อหนังสือภาษาอังกฤษมาอ่านเสมอเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มข้อมูลในหัว ก็มีปัญหาของมัน เพราะหนังสือภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ที่ส่งมาจำหน่ายในบ้านเรามีราคาสูง เล่มที่ราคาต่ำที่สุดหนึ่งเล่มสามารถซื้อหนังสือภาษาไทยได้ถึงสองสามเล่ม
หลายครั้งเมื่อดูราคาปกแล้ว ก็ต้องคิดใหม่ ชั่งน้ำหนักว่าความรู้ที่อาจจะได้นั้นคุ้มกับเงินที่จะต้องควักออกไปหรือไม่
สำหรับคนที่เงินในกระเป๋าจำกัด การตัดสินใจซื้ออะไรสักอย่างไม่ง่ายเหมือนคนคาบช้อนเงินช้อนทอง
บางคนอยากเรียนทำอาหาร แต่เมื่อเห็นค่าเรียนคอร์สละสองพันสามพัน ก็ต้องคิดใหม่ ลงท้ายก็อาจไม่เรียน
การซื้อคอมพิวเตอร์, เครื่องพิมพ์, เครื่องถ่ายเอกสาร, การเรียนพิเศษ, การเรียนภาษา, การเรียนต่อต่างประเทศ, การเข้าคอร์สอบรมพิเศษต่าง ๆ ฯลฯ เหล่านี้ก็มักอยู่ในกรอบการคิดแบบ “มันคุ้มหรือเปล่า?” เพราะเงินทองไม่ได้หาง่าย ๆ เหมือนพวกคอร์รัปชั่น ทุจริตเชิงนโยบายทีละหลายพันล้านบาท แต่หากใช้เงินเป็นตัวตั้งในทุกเรื่อง เราอาจจำกัดโอกาสหลาย ๆ อย่างในชีวิต เพราะไม่ใช่การควักเงินทุกครั้งหมายถึง ‘การเสีย’
หลักคิดที่ง่ายที่สุดก็คือ แยกแยะให้ออกว่าการควักเงินนั้นเป็น ‘ค่าใช้จ่าย’ หรือ ‘การลงทุน’
หลายคนมักไม่แยกแยะอย่างนี้ ทำให้ประหยัดในเรื่องที่ไม่ควรประหยัด และไม่ประหยัดในเรื่องที่ควรประหยัด
ค่าใช้จ่ายกับการลงทุนฟังดูคล้ายกัน ทำให้กระเป๋าเงินเบาเหมือนกัน แต่มันต่างกัน
ค่าใช้จ่าย (expense) คือการควักเงินออกไปแล้ว ไม่มี ‘กำไร’ กลับคืนมา เช่น ซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่มาสนองตัณหาตัวเอง, กินอาหารเย็นในภัตตาคารหรู, ซื้อขนม, ซื้อนิยายมาอ่านเพื่อความบันเทิง, ซื้อหนังสือภาพดารามาดูเพื่อสนองความพึงใจ, ค่าหมอ, ค่าจัดฟัน ฯลฯ เหล่านี้เป็นเงินที่เราจ่ายไปเพื่อดำรงชีวิต อาจได้ความสุข ความสบายใจมาด้วย แต่ในตอนจบ ไม่มีกำไร
ส่วนการลงทุน (investment) คือการควักเงินออกไปแล้ว มี ‘กำไร’ กลับคืนมา อาจเร็วหรือช้า แต่มันจะกลับคืนมา เช่น ซื้อหนังสือแฟชั่นฝรั่งเล่มละสามพันบาทมาเป็นไอเดียการออกแบบเสื้อผ้าไปขาย ได้เงินสามแสน เป็นต้น
1
บางครั้งเรื่องเดียวกันก็อาจเข้าข่ายได้ทั้งค่าใช้จ่ายและการลงทุน เช่น ซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่มาสนองตัณหาตัวเอง ขณะเดียวกันก็สวมไปถ่ายแบบ ได้เงินค่าจ้าง, ซื้อนิยายมาอ่านเพื่อความบันเทิงแต่ก็สามารถใช้เป็นบทเรียนเพื่อเขียนหนังสือไปขายได้ด้วย, จัดฟันให้สวยเพื่อรักษาสุขภาพฟัน ขณะเดียวกันก็ไปถ่ายแบบ เป็นต้น
กำไรในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินทองเสมอไป
มองแบบนี้ทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เสียเวลาคิดน้อยลง
นักแสดงชาวออสเตรเลีย ฮิว แจ็กแมน เคยเล่าว่า “พ่อของผมเป็นนักอุดมคติตัวจริง เขาสนใจแต่เรื่องการเรียนรู้ ถ้าผมขอรองเท้าไนกีสักคู่ คำตอบคือ ‘ไม่’ แต่ถ้าผมขอแซกโซโฟนสักตัว ผมจะได้มันในวันรุ่งขึ้นเลย แต่ผมก็ต้องเทกคอร์สเรียนการเป่า อะไรที่เกี่ยวกับการศึกษาหรือการเรียนรู้ พ่อผมจะไม่ประหยัดเลย”
1
ในวัยเด็ก ครอบครัวผมมีเงินไม่มากนัก แต่พ่อของผมก็ไม่เคยประหยัดในเรื่องการเรียนพิเศษภาษาจีนและอังกฤษของลูก ๆ เลย แม้ต้องทำงานหนักขึ้นก็ตาม (แต่แน่นอน แซกโซโฟนราคาสูงเกินไป!)
ในเรื่องเลี้ยงลูก พ่อแม่ที่ฉลาดจึงควรรู้จักแยกแยะความแตกต่างระหว่าง ‘ค่าใช้จ่าย’ กับ ‘การลงทุน’
1
จาก ท้องฟ้าไม่ปิดทุกวัน
36 บทความกำลังใจ ราคาเพียง 175 บาท = บทความละ 4.86 บาท (ไม่คิดค่าส่ง)
หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว
โฆษณา