6 ม.ค. เวลา 09:18 • ข่าว

นายกฯ กรีนแลนด์เตรียมทำประชามติ แยกประเทศจากเดนมาร์ก

ประกาศลั่น เกาะนี้ไม่ได้มีไว้ขาย
มูเต เอเกเด นายกรัฐมนตรีกรีนแลนด์ ได้ประกาศเป้าหมายสำหรับประชาชนกรีนแลนด์ รับปีใหม่ 2025 ว่า ถึงเวลาแล้วที่เกาะกรีนแลนด์จะเป็นประเทศเอกราชเสียที ท่ามกลางข่าวลือสะพัดว่า โดนัลด์ ทรัมพ์ ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ กำลังหมายตาอยากซื้อเกาะกรีนแลนด์มาเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา
2
โดย เอเกเด ผู้นำกรีนแลนด์ วัยเพียง 38 ปี อ่อนกว่านายกฯ อิ๊งค์ บ้านเราเพียง 1 ปี ได้แสดงวิสัยทัศน์ผ่านสุนทรพจน์ในวันปีใหม่ที่ผ่านมาว่า
“จากประวัติศาสตร์ที่ผ่าน จนถึง สถานการณ์ปัจจุบันแสดงให้เห็นแล้วว่าความร่วมมือระหว่างกรีนแลนด์ และเดนมาร์ก ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเท่าเทียมกันได้อย่างสมบูรณ์ ตอนนี้จึงสมควรแก่เวลาแล้วที่ประเทศของเราต้องก้าวต่อไป เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในโลก และอุปสรรคที่เราต้องขจัดออกไป คือ โซ่ตรวนของลัทธิล่าอาณานิคมเส้นนี้ เพื่อก้าวไปข้างหน้า"
3
ปัจจุบันกรีนแลนด์ เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ยังถือเป็นอาณานิคมส่วนหนึ่งของประเทศเดนมาร์ก ซึ่งได้สิทธิ์ในการปกครองตนเองตามผลประชามติที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2008 และได้เปลี่ยนภาษาราชการจากภาษาเดนิช มาเป็นภาษากรีนแลนด์ดิค อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2009 ที่ถือว่าเป็นวันชาติกรีนแลนด์ด้วย
2
แต่การเป็นรัฐปกครองตนเอง ก็ยังไม่เท่ากับเป็นรัฐเอกราช อีกทั้งกรีนแลนด์ก็ยังได้รับงบประมาณช่วยเหลือเศรษฐกิจบางส่วน หรือ จะเรียกว่าส่วนใหญ่ก็ได้ จากเดนมาร์กอยู่
ซึ่งเงินช่วยเหลือจากเดนมาร์กต่อปีอยู่ที่ราวๆ 3.9 พันล้านโครเนอเดนมาร์ก (ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาทไทย) คิดเป็น 2 ใน 3 ของงบประมาณของรัฐบาลกรีนแลนด์ ซึ่งเทียบเท่ากับ 1 ใน 3 ของ GDP ของกรีนแลนด์ที่มีประชากรเพียง 57,000 คน
1
ซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กก็ไม่ได้ห้าม ถ้ากรีนแลนด์จะขอแยกประเทศ โดยมีข้อตกลงหลังจากที่กรีนแลนด์ตั้งรัฐบาลปกครองตนเองเรียบร้อยแล้วในปี 2009 ว่า กรีนแลนด์จะเป็นรัฐเอกราชได้ด้วยการลงคะแนนประชามติโดยชาวเกาะกรีนแลนด์ เมื่อไหร่ก็ได้ที่พร้อม
1
ซึ่งชาวกรีนแลนด์ก็เคยซ้อมลงคะแนนผ่านโพลมาแล้วถึง 2 ครั้งในปี 2016 ที่มีชาวกรีนแลนด์สนับสนุนการแยกประเทศถึง 64% แต่ทว่าในการทำโพลปีถัดมา เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ชาวกรีนแลนด์ส่วนใหญ่เลยเปลี่ยนใจ ไม่ขอแยกประเทศแล้วมากถึง 78%
3
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะหากเมื่อใดก็ตามที่ชาวเกาะกรีนแลนด์ขอแยกประเทศ ก็เท่ากับว่ารัฐบาลเดนมาร์กไม่ต้องเจียดงบประมาณมาช่วยเหลือกรีนแลนด์ในแต่ละปีเป็นพันล้านอีก ไม่นับรวมงบค่าการทหารในการป้องกันดินแดน และสวัสดิการอื่นๆ
นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลกรีนแลนด์ที่ผ่านมาต้องทบทวนแผนการทำประชามติแยกประเทศอย่างรอบคอบ เนื่องจากเศรษฐกิจของกรีนแลนด์พึ่งพารายได้จาก การประมง, การท่องเที่ยว, และ งบช่วยเหลือรายปีจากเดนมาร์กเป็นหลัก แม้กรีนแลนด์จะมีทรัพยากรธรรมชาติ และ แหล่งพลังงานมากมายมหาศาลแค่ไหนก็ตาม แต่ทุกอย่างต้องอาศัยเม็ดเงินมาลงทุน และแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่กรีนแลนด์ยังขาดแคลนอยู่มาก
1
ดังนั้น รัฐบาลกรีนแลนด์จึงขอเป็นเอกราชอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าจะขอเป็นเอกราชเดี๋ยวนี้ แล้วตัดท่อน้ำเลี้ยงจากเดนมาร์กไปเลยทันทีโดยพื้นฐานเศรษฐกิจ และการพัฒนาอุตสาหกรรมยังไม่พร้อมนั่นเอง
แต่มาวันนี้ นายกรัฐมนตรีคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง มูเต เอเกเด บอกว่า กรีนแลนด์ พร้อมแล้วที่จะยืนด้วยลำแข้งของตนเอง และเกริ่นว่า การทำประชามติแยกประเทศจะมีขึ้นในช่วงเดือนเมษายนของปีนี้ พร้อมๆกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะถึงนี้ด้วย
1
แล้วที่ โดนัลด์ ทรัมพ์ ประกาศว่าสนใจจะซื้อเกาะกรีนแลนด์จากรัฐบาลเดนมาร์ก เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ จะไม่ถือว่าเข้าทางปืนทรัมพ์หรือ??
1
นายกฯ กรีนแลนด์ ยังคงยืนยันว่า เกาะกรีนแลนด์เป็นดินแดนของพวกเรา ไม่ได้มีไว้ขาย และ ไม่คิดจะขาย ไม่ว่ากับใครก็ตาม
3
ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า โดนัลด์ ทรัมพ์ ผู้ยึดติดกับประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของสหรัฐอเมริกา จะคิดเช่นนั้นหรือไม่ เพราะ กรีนแลนด์ก็เคยมีสถานะเป็นลูก(ฝาก)เลี้ยง ของสหรัฐฯอยู่ช่วงหนึ่ง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพนาซีเยอรมัน สามารถยึดครองเดนมาร์กได้ (1940-1945) ทำให้รัฐบาลเดนมาร์ก ต้องยอมโอนกรรมสิทธิ์เกาะกรีนแลนด์ให้สหรัฐอเมริกาชั่วคราว เพื่อกันไม่ให้รัฐบาลนาซีมาอ้างสิทธิ์เหนือเกาะกรีนแลนด์ได้
1
ว่าแล้วสหรัฐ ก็ยาตราทัพขึ้นไปจับจองพื้นที่บนเกาะกรีนแลนด์ในปี 1941 พร้อมสร้างฐานทัพอากาศทิ้งไว้ถึง 2 แห่ง จนถึงทุกวันนี้สงครามโลกครั้งที่ 2 จบไปนานเป็นชาติแล้ว ฐานทัพอากาศสหรัฐ ยังคาอยู่ที่เกาะกรีนแลนด์เลยเด้อ แถมกลายเป็นฐานที่มั่นทางการทหารสำคัญในภูมิภาคอาร์คติกของสหรัฐอีกต่างหาก
3
จึงไม่แปลกใจที่โดนัลด์ ทรัมพ์ จะมองว่า ชาวกรีนแลนด์เด้อ ครับเด้อ ยูว์จะตั้งประเทศให้เหนื่อยทำไม มาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐดีกว่าเยอะ
3
แต่หากรัฐบาลเอเกเด ไม่สนข้อเสนอของทรัมพ์ และ ยืนยันว่าจะตั้งประเทศเองเพื่อปลดแอกตัวเองจากลัทธิล่าอาณานิคมแต่เดิมมา ก็ไม่ใช่อุปสรรคกับสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด เพราะสมัยนี้การที่จะยึดครองดินแดนใคร ไม่ได้มีความหมายในเชิงกายภาพเสมอไป
1
แต่สามารถใช้อำนาจทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าได้ด้วยการลงทุน ครอบครองกิจการ หรือ สัมปทานโครงสร้าง เรื่องแรงงานสร้างชาติ ไม่มีปัญหา เดี๋ยวขนคนงานต่างชาติข้ามแดนที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือในสหรัฐมาลงให้ นานวันเข้าก็สามารถตั้งรกราก แก้ปัญหาประชากรเบาบางได้ ไม่ต้องกังวลว่าคนเยอะไปจะวุ่นวาย เดี๋ยวระบอบประชาธิปไตยแบบสหรัฐจะตามเข้าไปเอง ง่ายยิ่งกว่าระบบ Cloud อีก
4
อนาคตของชาวกรีนแลนด์ สามารถตัดสินคูหาได้ก็จริง แต่คำว่า "อนาคต" ไม่ใช่สิ่งที่คาดเดาได้ แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพร้อมยอมรับให้ได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะเป็นผลจากฉันทามติของประชาชนนั่นเอง ดังนั้น ก่อนตัดสินใจเลือก ต้องแน่ใจว่ารัฐบาลของคุณได้วางแผนไว้อย่างรอบคอบแล้ว นั่นต่างหากจึงสามารถพูดได้ว่า "ถึงเวลาที่เหมาะสม"
2
****************
ติดตามบทความของ "หรรสาระ" เพิ่มเติมได้ที่
Facebook - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
Twitter - @HunsaraByJeans
Blockdit - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
แพลทฟอร์มคุณภาพ ไม่ปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหา
****************
1
แหล่งข้อมูล
โฆษณา