6 ม.ค. เวลา 23:18 • ไลฟ์สไตล์

ปีใหม่ เริ่มใหม่ ชีวิตใหม่ "ขัดเกลากิเลสและพัฒนาความเมตตา"

----------------------------
1. สิ่งสูงสุดของชีวิตคือความสุข  แต่ความสุขจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย  หากจิตใจของเราเต็มไปด้วยกิเลส  กิเลสคือความโลภ  โกรธ  หลง  หรือพูดง่าย ๆ  ว่าความเห็นแก่ตัว  การเอาตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล  ในการใช้ชีวิต  จงระลึกให้มากว่าเราเกิดมาเพื่อขัดเกลากิเลส  มิใช่บำรุงกิเลส  เมื่อไหร่ที่อยากได้  จงตรวจสอบตนเอง  เมื่อไหร่ที่โกรธ  เกลียด  จงตรวจสอบตนเอง  เมื่อไหร่ที่คิดเอาแต่ใจ  เอาแต่ความรู้สึกของตน  จงตรวจสอบตนเอง
ความโกรธ  ใครบ้างไม่รู้ว่าไม่ดี  แต่ใครบ้างที่คิดลด ละ เลิก  ด้วยเหตุนี้  คนมีความสุขแท้ จึงมีเพียงหยิบมือ  คนมีความทุกข์จึงล้นโลก  คนรวยก็ทุกข์  คนจนก็ทุกข์  ใคร ๆ ก็ทุกข์ได้  แต่คนหมดกิเลสไม่มีวันทุกข์  หนทางดับกิเลส  กับหนทางแห่งความสุขเป็นเรื่องเดียวกัน  เมื่อต้องการความสุขแท้  แต่มัวไปหาความสุขเทียมแล้วมันจะพ้นทุกข์ไปได้อย่างไร
2. การขัดเกลากิเลสทำได้ทุกที่  มิต้องเข้าป่า  เข้าวัด  เข้าโบสถ์  ขอให้สังเกตใจตนให้ดี  ขณะนี้ร้อนหนาวอย่างไร  ขณะนี้ใจดี  เบิกบาน  หรือกำลังใจร้าย  อึดอัด  เราอยู่กับใจทุกวัน  อยู่กับใจทุกที่  การดูใจ  เห็นกิเลสจึงไม่เลือกที่เลือกเวลา  โลกนี้มีกิจกรรมมากมาย  แต่กิจกรรมที่ประเสริฐ  และเป็นประโยชน์ที่สุด  ไม่มีสิ่งใดเทียบเท่า  การระลึกรู้เท่าทันกิเลสตน
3. ความคิดคือเครื่องนำทาง  เป็นสิ่งเปี่ยมพลัง  สิ่งที่มีอำนาจเหนือความคิดยังมีอยู่  คือสติ  ความคิดคุมชีวิตเรา  แต่สติควบคุมความคิดอีกชั้น  หากเป็นไปได้  จงเรียนรู้ ฝึกฝน ฝึกเจริญสติให้เชี่ยวชาญ ชำนาญ  แล้วชีวิตทุกมิติจะยกระดับขึ้นในคราวเดียว  ทำสิ่งใดทั้งปวงในชีวิต  เราใช้ตัวของของเราไปทำทั้งนั้น  สตินี้เองคือศูนย์กลางแห่งชีวิต  จุดไฟแห่งสติไว้กับตัว  ชีวิตย่อมสว่างไสว
4. โลก มนุษย์ สรรพสัตว์ล้วนมีความสัมพันธ์โยงใยกัน  ลูกเราอิ่มแล้ว  ลูกคนอื่นยังหิวอยู่  ก็แบ่งปันให้เขากินบ้าง  เราซื้อเสื้อสวย ๆ มาสามตัว  ก็แบ่งให้เขาได้สวมใส่ซักหนึ่งตัว   ค่าเทอมทั้งปีของเด็กกำพร้าตาดำ ๆ อาจซื้อแว่นตากันแดดอันใหม่ของเราไม่ได้  บำรุงบำเรอตนแต่พอสมควร  เปิดตา  มองฟ้า ดูโลกกว้าง  โลกที่กว้างใหญ่ไปกว่ากะลาแห่งอัตตาตัวตน  มีเพื่อนมนุษย์มากมายกำลังอดอยาก ลำบากกาย  ชีวิตที่แท้
มิได้ออกแบบให้เราใช้เพื่อกอบโกยทุกอย่าง   กินเองบ้าง แบ่งเขาบ้าง  ทำเพื่อตนเองบ้าง  ทำเพื่อคนอื่นบ้าง  ความสมดุลของชีวิตเช่นนี้  สิ่งนี้ควรฝึกให้เป็นนิสัย
5. แท้จริงแล้วทุกคนล้วนร่ำรวย  บ้างรวยปัญญา  บ้างรวยเงินทอง  บ้างรวยพละกำลัง  ร่ำรวยสิ่งใด  จงให้สิ่งนั้น  อย่างน้อย  รอยยิ้ม  กำลังใจ   คำว่า อภัย  เราให้กันได้  เพราะเป็นของไม่ต้องซื้อหา  หัดชื่นชมผู้อื่นให้เป็นนิสัย  มิใช่เอาแต่ติติง  วิจารณ์ในทางเสียหาย  สังคมเป็นอย่างไร  มิใช่หน้าที่ของใครคนหนึ่ง   เพราะสังคมคือภาพใหญ่ที่เราช่วยกันวาด  เราเองก็มีพู่กันเหมือนเช่นคนทั้งโลก
6. เมตตาผู้อื่น  เท่ากับเมตตาตนเอง 
เมตตาคือรักแท้  คือความสุขแท้ 
จงมีเมตตาแก่ตนเองและเพื่อนมนุษย์
** พศิน  อินทรวงค์**
cr. ผู้เขียนและภาพประกอบ
โฆษณา