7 ม.ค. เวลา 06:05 • กีฬา

เกมไม่ใหญ่ ใจไม่เอา : แมนฯ ยูไนเต็ด สู้ได้ทุกทีมถ้าเอาจริง แต่ทำไมไม่ทำ ? | Main Stand

"ถ้าเราทำแบบนี้ได้ในเกมกับลิเวอร์พูล อันดับ 1 ในลีก ที่แอนฟิลด์ ทีมที่โชว์ฟอร์มสุดยอดมากในลีกเวลานี้ ถ้าเราเล่นแบบนี้ที่นี่ได้ ทำไมเราไม่ทำแบบนั้นทุกสัปดาห์ ?"
บรูโน่ แฟร์นันด์ส กัปตันทีม แมนฯ ยูไนเต็ด ให้สัมภาษณ์หลังเกมบุกเสมอ ลิเวอร์พูล 2-2 แบบที่เล่นได้ดีผิดหูผิดตา พร้อม ๆ กับคำถามจากแฟนบอลปีศาจแดงว่า "ก็รู้นี่ แล้วทำไมไม่ทำ ?"
2
ประเด็นของเรื่องนี้มันเกิดจากอะไร ? มีเหตุผลอะไรที่ต้องรอให้ถึงเกมใหญ่เท่านั้นจึงจะดูมีความกระหายกันขึ้นมา ? เรื่องนี้มีที่มา ติดตามกับ Main Stand
ปัญหาคลาสสิก
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทำให้แฟนบอลของพวกเขากลับมามีความรู้สึกดี ๆ อีกครั้งในช่วงก่อนฤดูกาล 2024-25 เริ่มต้นราวเดือนสิงหาคม
ผลงานของพวกเขาในช่วงตลาดซื้อขายนักเตะได้รับคำชมเชยมากมาย เนื่องจากพวกเขาแก้ไขจุดอ่อนและจุดแข็งที่สำคัญได้สำเร็จ มีระบบใหม่ที่ให้ความรู้สึกว่ามีความสามารถอย่างแท้จริง และแฟนๆ จะได้เห็น ค็อบบี้ เมนู และ อเลฮานโดร การ์นาโช่ ที่กำลังจะยกระดับจากดาวรุ่งขึ้นมาเป็นคนสำคัญของทีมด้วย
2
ทว่าเมื่อฤดูกาลเริ่มขึ้นจนถึงตอนนี้ ลากยาวมาจากยุคของ เอริค เทน ฮาก สู่ รูเบน อโมริม ปรากฏว่าฟอร์มของพวกเขาสามารถใช้คำว่า "น่าผิดหวัง" แบบเต็มอัตรา ในเกมที่ควรจะได้ 3 แต้ม กลับแทบไม่สามารถคว้าชัยชนะได้เลย แถมรูปเกมองค์ประกอบการเล่นทุกอย่าง ยิ่งดูยิ่งชวนหมดหวัง ทำเอาความรู้สึกตื่นเต้นในช่วงเดือนสิงหาคมหดหายไปหมด
เอริค เทน ฮาก บอกว่ามันเป็นปัญหาจากเรื่องความเฉียบคม เมื่อมีโอกาสก็จบสกอร์ไม่ได้ และเมื่อบวกกับแนวรับที่เปื่อยยุ่ยเสียง่ายจากการบุกไม่กี่ครั้ง ทีมก็พร้อมจะเสียประตูก่อน และทำให้สถานการณ์ยากลำบากทันที
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ เทน ฮาก บอกไม่ได้ตรงกับความจริงเชิงสถิติทั้งหมด (รวมถึงยุคของ รูเบน อโมริม ด้วย) พวกเขาแพ้ให้กับทีมอย่าง ไบรท์ตัน, เวสต์แฮม, ฟอเรสต์, บอร์นมัธ, วูล์ฟส์ ในลีก และทำแต้มหล่นกับทีมในยูโรป้าลีก ที่ดีกรีไม่ได้ดีกว่าพวกเขาอย่าง ทเวนเต้, ปอร์โต้ และ เฟเนร์บาห์เช่
กลับกัน เวลาเจอกับทีมอย่าง แมนฯ ซิตี้ หรือแม้กระทั้ง ลิเวอร์พูล ในเกมล่าสุดที่ก่อนเกมใครก็มองว่า แมนฯ ยูไนเต็ด เสร็จแน่ เพราะนอกจากจะฟอร์มแย่แล้วยังเป็นทีมเยือนด้วย กลับกลายเป็นเกมที่พวกเขาเล่นได้ดีที่สุดในซีซั่น
สิ่งที่ว่ากันในเชิงสถิติได้คือ ในเกมเหล่านี้ มีไม่กี่เกมที่ ยูไนเต็ด มีโอกาสจบสกอร์มากกว่าคู่แข่งแบบชัด ๆ และมีเกมอีกไม่น้อยที่พวกเขาครองบอลน้อยกว่า แม้กระทั่งกับทีมรองบ๊วย (ณ เวลานั้น) อย่าง วูล์ฟส์
ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้มันเกิดจากคุณภาพเกมในสนามแบบไร้ข้อโต้แย้ง โดยเฉพาะในยุคของ เอริค เทน ฮาก ที่คุมทีมมา 3 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรคือแก่นของฟุตบอลที่ฝังไว้ให้กับนักเตะของ ยูไนเต็ด ส่วนยุคของ อโมริม นั้นก็มีเวลาน้อยไป แถมยังเข้ามากลางทาง จนทำให้อะไรหลายอย่างติดขัดไปหมด
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้มีเหตุผลจากเรื่องของแท็คติกและวิธีการเท่านั้น มันต้องเริ่มกลับไปยังจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งนั่น "ทัศนคติ" ... เพราะนี้คือสิ่งที่ชี้วัดว่าคุณพร้อมที่จะเป็นผู้ชนะมากแค่ไหนเวลาลงสนาม ไม่ว่าจะเจอกับใครก็ตาม
หัวใจ เรื่องสำคัญ
เพื่อให้เห็นภาพความสำคัญของสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างคำว่า "ทัศนคติ หรือ หัวจิตหัวใจ" เราคงต้องยกตัวอย่างการสร้างทีม ลิเวอร์พูล ขึ้นมาใหม่จาก 0 ของ เยอร์เก้น คล็อปป์ ที่เขาบอกว่า เมื่อเขามาที่ ลิเวอร์พูล ครั้งแรกนั้น ทัศนคติ คือสิ่งแรกที่เขาพยามเปลี่ยนให้กับลูกทีมทุกคน
คล็อปป์ เล่าถึงตอนที่เขาเข้ามาคุมทีม ลิเวอร์พูล ใหม่ๆ และพบว่ามีหลายสิ่งผิดแปลกไปจากที่เขาเคยเจอตอนเป็นเจ้านายที่ ไมนซ์ และ ดอร์ทมุนด์ สิ่งแรกที่เขาคัดกรองคนที่จะทำงานด้วย คือคน ๆ นั้นจะต้องเป็นคนที่ต้องมีเป้าหมายเดียวกันทั้งหมด ทุกคนต้องมองเป้าหมายให้เหมือนกัน อาทิ "จบเกมนี้ต้องชนะ" ไม่มีข้อแม้ ไม่มีข้ออ้างว่าเหตุใดจึงทำไม่ได้ และการที่จะทำให้ลูกทีมของเขาเป็น "มิสเตอร์ วินเนอร์" เขาจะต้องเปลี่ยนทัศนคติของแต่ละคนเสียใหม่ นั่นคือ "เลิกแอ็คท่าว่าเหนือชั้น และเล่นให้เหมือนกันทุก ๆ เกม"
1
"องค์ประกอบทางจิตวิทยาของเราไม่มั่นคง และมันคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีมตกต่ำในรอบหลายปีหลัง" คล็อปป์ ว่าเอาไว้เช่นนั้น
ย้อนกลับไปตอนที่เขาเข้ามาทำงานในเดือนตุลาคม 2015 เขาพบว่านักเตะลิเวอร์พูล ณ เวลานั้นมีสภาพจิตใจที่ไม่คงที่ นั่นทำให้ถึงแม้เขาจะพยายามทำให้ทุกคนในทีมเห็นว่า "เป้าหมาย" คือการไปถึงชัยชนะด้วยกัน แต่ความจริงแล้วมันไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้ เนื่องจากคำว่า "ทัศนคติที่ขึ้น ๆ ลง ๆ" เมื่อเล่นกับทีมระดับหัวแถว ลิเวอร์พูลจะกลายเป็นทีมที่ยอดเยี่ยมสู้ไม่ถอย แต่เมื่อเจอกับทีมระดับต่ำกว่า พวกเขากลายเป็นทีมที่ไม่สามารถเล่นได้ตามมาตรฐานของตัวเอง
"ผมเข้ามาและจำได้ว่าทีมมีความมั่นใจทะยานเต็มที่มาก เราเล่นกับ แมนฯ ซิตี้ ในเดือนธันวาคมและเราสามารถเอาชนะเกมนั้นได้ ทั้งสองทีมเล่นได้ดีแต่เราคือผู้ที่ได้รับชัยชนะอย่างสมควร และนั่นคือการเรียกคืนความมั่นใจที่ขาดหายไปของทีมนี้ไปถึง 50 ปี ... เราคิดว่าจะมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นหลังจากนี้"
"แต่อีก 2 วันให้หลัง เราเล่นกับซันเดอร์แลนด์ด้วยรูปแบบที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง และจบด้วยการทำได้แค่เสมอ เกมนั้นพวกเขาตั้งรับลึกและได้ประตูจาก 2 จุดโทษ ขณะที่ลูกทีมของผมเริ่มออกอาการแบบว่า 'โอ้ ! ไม่นะ หรือจริง ๆ แล้วเป็นพวกเรานี่แหละที่ไม่ดีพอ' สิ่งที่ผมทำคือต้องจัดการกับสถานการณ์แบบนี้ให้ได้เพื่อความแข็งแกร่งที่ยั่งยืน" คล็อปป์ กล่าว
วิธีแก้ ... คล็อปป์ ตอบคำถามนั้นด้วยคำตอบง่าย ๆ แต่ปฎิบัติตามยาก นั่นคือ "แน่วแน่กับสิ่งที่จะทำ" และใช้ความพยายามทั้งหมดที่มีเพื่อไปถึงเป้าหมายนั้น แม้ระหว่างทางจะโดนโจมตี หรือเจออุปสรรคอะไร ก็จงแน่วแน่กับเส้นทางที่ตัดสินใจเลือกตั้งแต่ต้น ... ห้ามลังเลเด็ดขาด
ตัดภาพกลับมาที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ณ ตอนนี้ รูเบน อโมริม พยายามจะเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ ผ่านการให้สัมภาษณ์หลังจบเกมแทบทุกนัดที่พวกเขาไม่สามารถเอาชนะคู่แข่งได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แก้ยาก และมองไม่ออกสำหรับคนนอก เพราะเป็นเรื่องของคนที่อยู่ด้วยกันในฐานะทีม คลุกคลีกันในแต่ละวันพอ ๆ กับคนในครอบครัว
แต่ถ้าถามว่าทำไมเราจึงรับทราบได้ว่าแนวคิดและทัศนคติของ แมนฯ ยูไนเต็ด มีปัญหา ก็เพราะข่าวหลุดเรื่องพฤติกรรมนอกสนามของนักเตะในทีมที่มีออกมาไม่พัก โดยเฉพาะกับนักเตะที่ได้ค่าเหนื่อยมากที่สุดในทีม ที่ควรจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการผลักดันทีมไปข้างหน้าอย่าง มาร์คัส แรชฟอร์ด ที่ล่าสุดก็ไม่ได้ลงสนามมา 5 เกมติดต่อกันแล้ว ... และเกมที่ไม่มีเขา ยูไนเต็ด ก็เอาชนะทีมอย่างแมนฯ ซิตี้ และเสมอทีมจ่่าฝูงอย่างลิเวอร์พูลได้
ย้ำอีกทีว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทัศนคติ และหัวใจของแข้งผีแดงมีปัญหามานานแล้ว หากยังจำกันได้ อเล็กซิส ซานเชซ ที่เคยเล่นให้กับ แมนฯ ยูไนเต็ด ช่วงสั้น ๆ ถึงกับออกมาพูดว่า
"หลังจากเซ็นสัญญาและอยู่ที่นั่นแล้วหลายเดือน ผมก็ยังรู้สึกเหมือนเดิมกับวันแรกในตอนย้ายมาใหม่ ๆ นั่นก็คือพวกเขาไม่ได้สามัคคีกันเลยในฐานะทีม”
ว่ากันที่ปัจจุบัน ณ ตอนนี้ อโมริม พยายามใช้ไม้แข็ง แสดงอำนาจที่เขามีให้ลูกทีมเห็นว่าต่อจากนี้จะเหลือแต่คนที่จะไปด้วยกันแบบทุ่มทั้งแรงกายแรงใจ ... และถ้าใครทำไม่ได้ ทางออกเดียวคือการถูกตัดออกจากทีมเหมือนกับการตัดเชื้อร้าย และถ้าแก้ไขไม่ได้จริง ๆ ปลายทางก็คือการออกไปจากทีม และหาคนใหม่ที่พร้อมจะทุ่มเทให้ทีมมากกว่าเข้ามาเติมความสด ความห้าว และความเป็นผู้ชนะให้กับทีม ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับตลาดซื้อขาย ที่ อโมริม ยังไม่ได้เลือกนักเตะของตัวเองเลยแม้แต่คนเดียว
ขนาดทีม และความฟิต
ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกยุคนี้ คุณไม่สามารถเอาชนะทีมใหญ่อย่างเดียวและลุ้นว่าจะประสบความสำเร็จได้อีกต่อไปแล้ว สิ่งสำคัญสุด ๆ ไม่แพ้เรื่องทัศนคติก็คือขุมกำลังที่เก่งพอ ทัศนคติดีพอ และฟิตพอสำหรับการแข่งขันระยะยาว 9 เดือน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งความสม่ำเสมอ
คุณปฏิเสธไม่ได้ว่าการหมุนเวียนนักเตะในแต่ละนัดคือสิ่งที่ไม่อาจเลี่ยงได้ ดังนั้นเพื่อให้นักเตะตัวหลักได้พัก และให้เหล่าตัวสำรองได้โอกาสลงสนาม ได้มีแมตช์ฟิต มันจะทำให้พวกเขาพร้อมสำหรับการหยิบจับมาใช้ในเวลาที่ต้องการ
เรื่องนี้ถ้าถามว่าใครคือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เราก็คงต้องมองไปที่ แมนฯ ซิตี้ ที่ในช่วงหลายปีหลัง พวกเขาให้ความสำคัญของนักเตะแต่ละตำแหน่งที่จะต้องมีตัวแทนที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน และ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ก็เป็นกุนซือที่เชี่ยวชาญเรื่องโรเตชั่นมาก ๆ ... มากเสียจนแฟนบอลไม่สามารถเดาถูกได้เลยว่าเขาจะส่งใครลงเป็น 11 ตัวแรกในแต่ละเกม ทุกอย่างสามารถพลิกแพลงได้ตลอด
ดังนั้นเมื่อตัวสำรองที่ปกติมีคุณภาพสูสีทัดเทียมตัวจริงอยู่แล้ว ได้มีแมตช์ฟิต เมือถึงเวลาต้องใช้งานในการโรเตชั่นทีมในการเจอทีมเล็ก ๆ ในลีก หรือแม้กระทั่งในฟุตบอลถ้วย แมนฯ ซิตี้ ของ เป๊ป มักไม่ค่อยเจอปัญหาและจะเข้ารอบลึก ๆ เป็นประจำ แม้ในรอบแรก ๆ โดยเฉพาะในฟุตบอลถ้วยในประเทศที่พวกเขาแทบจะพักตัวหลักทั้งหมด พร้อมใช้ตัวสำรองกับดาวรุ่งจากทีมเยาวชนขึ้นมาเล่นแบบไม่กลัวแพ้หรือไม่กลัวเสียคุณภาพของเกมเลย
และคุณอาจจะไม่ต้องมองไปที่ทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในช่วงหลังอย่าง แมนฯ ซิตี้ ก็ได้ ณ ปัจจุบัน ให้ลองหันไปดูทีมอย่าง เชลซี ที่แทบจะเริ่มสร้างทีมยุคใหม่พร้อม ๆ กับ แมนฯ ยูไนเต็ด พวกเขาก็มีนักเตะดาวรุ่งในทีมหลายคน และพวกเขามีการเฉลี่ยกันลงสนามในฟุตบอลถ้วย ซึ่งผลงานที่ตามมาก็คือนักเตะตัวหลักของพวกเขามีความฟิตพอที่จะเล่นเกมลีก และทำให้ เชลซี มีผลงานที่เซอร์ไพรส์ในตอนนี้
แม้ เธียร์รี่ อองรี ตำนานอาร์เซน่อลจะออกมาพูดว่า "เชลซีจะเป็นทีมลุ้นแชมป์เต็มตัวก็ต่อเมื่อชนะทีมระดับบิ๊กโฟร์ได้ต่อเนื่อง" แต่เราก็ต้องยอมรับว่า เชลซี ในปีนี้ดีขึ้นมากเรื่องความสม่ำเสมอ แม้ตอนนี้จะหลุด ๆ ไปบ้าง แต่พวกเขาได้ 3 แต้มสำคัญกับทีมระดับต่ำกว่าอยู่บ่อย ๆ
3
ตัดกลับมาที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ณ ตอนนี้ทีมของพวกเขาแตกต่างกับ เชลซี ที่ผลัดใบเต็มตัวไปแล้ว และกำลังเริ่มต้นเส้นทางของการเป็นผู้ชนะ ขุมกำลังของแมนฯ ยูไนเต็ด ยังมีนักเตะที่ใช้งานไม่ได้ เล่นไม่ดี ไม่มีความฟิต (เจ็บบ่อย) หัวใจไม่แกร่งพอ และไม่ตอบโจทย์เชิงแท็คติกอีกมากมายหลายคน นักเตะประเภท "Deadwood" หรือ ไม้ตายซาก เหล่านี้อยู่กับทีมมานานโข หลายคนอยู่มาตั้งแต่ยุคของ โชเซ่ มูรินโญ่
แต่ก็ยังคงอยู่ในทีมชุดปัจจุบันต่อไป ทั้ง ๆ ที่ใช้งานได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และถึงเวลาที่ทีมต้องการ พวกเขาก็เจ็บไม่พร้อมลงเล่น อาทิ วิคตอร์ ลินเดอเลิฟ และ ลุค ชอว์ เป็นต้น
การที่นักเตะคุณไม่พร้อมที่จะหมุนเวียนทีม และไม่สามารถพักตัวหลักได้ ทำให้ในเกมที่เจอกับทีมที่เล็กกว่า แมนฯ ยูไนเต็ด ประสบปัญหาคุ้นตามากมายเช่น ไม่มีตัวเปลี่ยนเกมบนม้านั่งสำรองเวลาที่ตัวหลักเล่นไม่ได้หรือฟิตไม่พอ ครั้นจะส่งตัวสำรองลงเล่นในตำแหน่งสำคัญ ๆ คุณภาพก็ตกวูบแบบน่าใจหาย เล่นไปเล่นมากลายเป็นแย่กว่าทีมคู่แข่งที่อ่อนชั้นกว่าอย่างเห็นได้ชัด
1
กล่าวโดยสรุปคือ ทีมอยู่ในยุคกำลังสร้าง และคุณภาพการเล่น ความเข้าใจแท็คติก ความฟิต และความกระหายความห้าวที่จะเป็นผู้ชนะของนักเตะ แมนฯ ยูไนเต็ด มันยังน้อยเกินไป แตกต่างกับคู่แข่งทีมเล็ก ๆ ที่มาแข่งกับ แมนฯ ยูไนเต็ด โดยไร้ความกลัวเพราะได้เห็นสิ่งที่เกิดกับพวกเขาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นั่นทำให้พวกเขาแพ้แทบทุกประตู และจบเกมด้วยผลลัพธ์แย่ ๆ ในเกมที่ควรจะต้องได้ 3 แต้มอยู่เรื่อยมา
กลับกัน เวลาที่ทีมพวกเขาเป็นรอง มองว่ายังไงก็เละแน่ กลับกลายเป็นเกมที่แข้ง แมนฯ ยูไนเต็ด เล่นได้ดีสู่สนุก จนมีการบอกว่า "ถ้าเอาจริงก็สู้ได้" ...ซึ่งความจริงก็คือพวกเขาไม่ได้เอาจริง แต่พวกเขายังขาดคุณสมบัติของการเป็นทีมที่ดีอีกมาก
การมีแต่ลูกฮึดที่จะพิสูจน์ตัวเองเวลาจะเจอกับทีมใหญ่ ไม่เพียงพอ และตกยุคไปแล้วสำหรับทีมระดับท็อปของโลกฟุตบอลในเวลานี้ ... พวกเขาจะต้องทำอะไรอีกมากมายเพื่อกลายเป็นทีมที่พร้อมจะชนะทุกนัดที่ลงสนามโดยไม่สนใจคู่แข่ง ซึ่งปัญหาก็คือเราไม่รู้เลยว่า แมนฯ ยูไนเต็ด จะต้องใช้เวลานานเท่าไรเพื่อแก้ปัญหานี้ ?
บทความโดย : ชยันธร ใจมูล
โฆษณา