7 ม.ค. เวลา 07:16 • หุ้น & เศรษฐกิจ

มุมมองการลงทุน US & Asia ปี 2568 รวบรวมโดย Bloomberg

ภาพรวมการลงทุนสหรัฐ
  • เศรษฐกิจโลก vs. เศรษฐกิจสหรัฐฯ
๐ อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงและนโยบายสนับสนุนการเติบโตคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวในระดับปานกลาง ขณะที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐฯ คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง อีกครั้งด้วยแรงขับเคลื่อนใหม่จากนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจและการลดกฎระเบียบของทรัมป์ นักวิเคราะห์คาดการณ์ผลตอบแทนที่แข็งแกร่งพอสมควรในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งได้เปรียบตลาดในภูมิภาคอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้า
๐ ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกก็มีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายจากทรัมป์ ดังนั้นการกระจายความเสี่ยงยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการลงทุน
  • อัตราเงินเฟ้อและนโยบายการเงิน
๐ นโยบายกีดกันทางการค้าและการควบคุมการเข้าเมืองของทรัมป์มีแนวโน้มที่จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ Fed ลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ และอัตราดอกเบี้ย Terminal Rate สูงกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อในสหรัฐและประเทศต่างๆ ยังคงถูกมองว่าอยู่ในขอบเขตที่ควบคุมได้และอยู่ในกรอบแคบเมื่อเทียบกับในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
  • ตลาดหุ้น
๐ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่ได้คาดหวังว่าหุ้นกลุ่ม AI จะให้ผลตอบแทนสูงเท่าปีที่ผ่านมา แต่ก็เห็นว่า AI ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนผลตอบแทนและช่วยหนุนให้มีการเติบโตกระจายไปยังหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กในสหรัฐฯ ซึ่งยังคงเป็นตลาดที่ได้รับความนิยม นอกจากนี้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนการเติบโตของ AI จะยังคงอยู่และไปต่อได้
  • ตลาดตราสารหนี้
๐ แม้จะมีความผันผวนในอัตราดอกเบี้ยและ Yield ที่สูงขึ้น แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ยังคงเห็นประโยชน์จากการลงทุนในพันธบัตรเนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจ
๐ ในส่วนของตราสารหนี้ภาคเอกชนก็มีความน่าสนใจ เนื่องจาก Fed อยู่ในช่วงของการลดดอกเบี้ยและความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ก็ถือว่าค่อนข้างต่ำ
  • เงินดอลลาร์และทองคำ
๐ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นในระยะสั้นจากนโยบายของทรัมป์ ขณะที่ทองคำยังคงเป็นตัวเลือกในการป้องกันความเสี่ยงที่ดี
ที่มา: Bloomberg ณ 2 ม.ค. 2568
จับตา 5 ประเด็นสำคัญในตลาดหุ้นเอเชีย
ภาพรวมปี 2568 นโยบายต่างๆ ของทรัมป์และท่าทีที่เข้มงวดของ Fed ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าและอาจกดดันตลาดหุ้นเอเชีย ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนหุ้นในภูมิภาค ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ทาง การเมืองในเกาหลีใต้ และการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางอื่นๆ
ทั้งนี้ Bloomberg ได้สรุป 5 ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามสำหรับตลาดหุ้นเอเชียในปีนี้ไว้ดังนี้
1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน
  • หลังการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีนที่ขับเคลื่อนด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อเดือนกันยายนได้หยุดชะงักลงไป นักลงทุนก็รอการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคมซึ่งคาดว่าจะมีรายละเอียดแผนกระตุ้นการบริโภคออกมา โดยมาตรการที่อาจถูกนำมาใช้ ได้แก่ เงินอุดหนุนและคูปองสำหรับผู้บริโภค สวัสดิการการว่างงาน รวมถึง ความช่วยเหลือสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของจีนอาจช่วยให้มีเงินไหลเข้าไปยังตลาดเกิดใหม่ในเอเชียได้
2) ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
  • ความไม่แน่นอนในนโยบายการค้าของทรัมป์เป็นหนึ่งในภัยคุกคามสำคัญต่อตลาดหุ้นเอเชีย แผนเรียกเก็บภาษีนำเข้ามีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก กลุ่มอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน รวมถึงผู้ผลิตชิปในเอเชียและ Supplier
ขณะที่การเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจีน ซึ่งปกติถูกเก็บภาษี 100% อยู่แล้วภายใต้รัฐบาลของไบเดน อาจส่งผลกระทบในวงจำกัด เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ส่งออกไปยังเม็กซิโกและแคนาดาอาจได้รับผลกระทบ หากทรัมป์ตัดสินใจเก็บภาษีเพิ่มเติมกับทั้งสองประเทศ
  • ในทางกลับกัน อินเดียและบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจได้รับประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากบริษัทต่างๆ จะกระจายฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
3) เส้นทางดอกเบี้ยของ Fed
  • Fed แสดงท่าทีระมัดระวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม ซึ่งเปิดโอกาสให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นต่อไปอย่างน้อยในช่วงต้นปี และกดดันสกุลเงินและตลาดหุ้นในเอเชีย
  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและนโยบายของทรัมป์มีแนวโน้มที่จะผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชีย
  • ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าเงินดอลลาร์จะแตะจุดสูงสุดในช่วงปลายปีนี้ ท่ามกลางการลดลงของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของสหรัฐฯ และความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้มีกระแสเงินไหลเข้าเอเชียในช่วงครึ่งหลังของปี
4) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
  • นักวิเคราะห์คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งถัดไปของ BOJ อาจเลื่อนออกไปจากเดือนมกราคมเป็นเดือนมีนาคม จากคำกล่าวของผู้ว่าการคาซูโอะ อุเอะดะ ที่ส่งสัญญาณในเชิงผ่อนคลายเมื่อเดือนธันวาคม เทรดเดอร์ได้ลดการคาดการณ์ว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นอีก ในปี 2024 เงินเยนอ่อนค่า 10% ส่งผลดีต่อผู้ส่งออกอย่างผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีและรถยนต์
  • ขณะที่ความล่าช้าในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ BOJ อาจจะชะลอการลงทุนแบบ Carry Trade ออกไป ทั้งนี้การดำเนินการใดๆ ของ BOJ ในอนาคตไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่นเอง แต่จะส่งผลกระทบไปยังเอเชียและทั่วโลก เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นผู้ซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศรายใหญ่ และเงินเยนเป็นสกุลเงินทุนที่สำคัญระดับโลก
5) วิกฤตการณ์ในเกาหลีใต้
  • เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ในเอเชียอย่างเกาหลีใต้ยังคงมีความไม่แน่นอนจากทั้งประเด็นทางการเมืองและเศรษฐกิจ เกาหลีใต้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตปี 2025 ลงเหลือ 1.8% จาก 2.1% ในปีก่อนหน้า ค่าเงินวอนยังคงเคลื่อนไหวอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 15 ปี วิกฤตครั้งนี้ยังจะเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการแก้ปัญหา Korea Discount ที่มีมานาน นอกจากนี้นักลงทุนก็รอติดตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถอดถอนประธานาธิบดียุน ซึ่งอาจนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ใน 60 วัน
ที่มา: Bloomberg ณ 6 ม.ค. 2568
อ่าน ธีมการลงทุนเด่นปี 2568 และกองทุนกรุงศรีแนะนำต่อ https://www.krungsriasset.com/TH/Plan-your-investment/Learn-about-Investment/Investment-themes-2025.aspx
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
สอบถามข้อมูลกองทุน หรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ บลจ.กรุงศรี โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา หรือ ตัวแทนสนับสนุนการขาย/ เจ้าหน้าที่ขายหน่วยลงทุน
ติดตามกองทุนกรุงศรี อัปเดตข่าวสาร และกิจกรรมต่างๆ ได้ที่
#กองทุนกรุงศรี #NewsUpdate
โฆษณา