เมื่อวาน เวลา 09:31 • ธุรกิจ

EP13: LEAN Management

ในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในปัจจุบันดูเหมือนว่า คำว่า LEAN จะเป็นคำที่ติดปาก โดยความหมายแล้ว LEAN คือความที่เรามีรูปร่างได้สัดส่วน อกเป็นอก เอวเป็นเอว มัดกล้ามเป็นมัดกล้าม แถมด้วยซิกแพ็กซ์ที่หน้าท้องบ้าง ๆ หรือพูดอีกอย่างคือมีไขมันน้อยมาก ส่วนในการบริหารงาน LEAN ก็จะหมายถึงองค์รที่มีความกระชับฉับไวในการทำงาน ไม่อุ้ยอ้ายเต็มไปด้วยไขมันหรือกระบวนการที่ทำให้องค์กรเดินไปได้ช้าปรับตัวได้ช้า
LEAN Management ได้รับพัฒนามาจาก LEAN Manufacturing Concept ที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นโดย John Krafcik ผู้มีประสบการณ์ในการทำงานกับบริษัทร่วมทุนของ GM และ Toyota รวมทั้งกับ Hyundai และ Ford จากประสบการณ์ในการศึกษาบริษัทรถยนต์มากกว่า 90 บริษัททั่วโลก
ในปี ค.ศ. 1988 หลังจากที่ได้อ่านหนังสือของ James Womack ชื่อ “The Machine That Change The World” และในปี ค.ศ. 1996 James Womack and Daniel Jones ก็ได้ร่วมกันเขียนหนังสือชื่อ “Lean Thinking” ขึ้น โดยใช้วิธีการพัฒนาแนวคิดจาก TPS และได้กลายเป็นการจุดชนวน Lean Manufacturing ให้กลายเป็นระบบการผลิตที่นิยมไปทั่วโลก
ดังนั้นต้นกำเนิดแท้จริงของ LEAN คงต้องย้อนกลับไปถึง TPS หรือ Toyota Production System ซึ่งก็คือกรอบความคิด และวิธีการที่ใช้ปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันขององค์กร TPS ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1947 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จากคำพูดของ มร.ไทอิชิ โอโน่ ที่พูดว่า “การรอคอยเป็นความสูญเปล่า” ที่โรงงานผลิตเครื่องยนต์ของบริษัทโตโยต้า และได้กลายมาเป็น TPS ในที่สุด
TPS คือระบบการผลิตที่คิดค้นโดย บริษัทโตโยต้าคอร์เปอเรชั่น เพื่อการผลิตที่มีคุณภาพดีที่สุด ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด และด้วยระยะเวลาที่สั้นที่สุด
แม้ว่าคำว่า LEAN Management จะเดินทางมาไกลมาก แต่หลักการยังคงเหมือนเดิม นั่นคือการลดความสูญเปล่าทั้งหลายในกระบวนการ หรือที่เรียกว่า Sanmu (อ่านรายละเอียดได้ใน EP 10: สามสิ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ให้ประสิทธิผล) โดยมีตัวหลักใหญ่นั่นคือ Muda ที่มีอยู่ 7 อย่างใน TPS แต่ LEAN ได้เพิ่มเรื่องการใช้คนที่ไม่ตรงกับศักยภาพมาเป็นอันดับที่ 8
การจะทำให้องค์กร หรือกระบวนการทำงานเป็น LEAN ได้นั้น นอกจากความมุ่งมั่นที่จะกำจัด Sanmu แล้ว เรายังต้องมีทักษะในการศึกษากระบวนการทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำที่ทำให้เกิดมูลค่าของสินค้าหรือบริการ จนถึงปลายน้ำที่เป็นผลลัพธ์ที่เราต้องการ เราเรียกวิธีการนี้ว่า Value Stream Mapping (VSM) หรือ “การไหลของสายธารการเพิ่มมูลค่า” เราวิเคราะห์ VSM ก็เพื่อหาจุดอ่อนในกระบวนการ จุดที่เราลงทุนลงแรงไปกับมันแต่ไม่ได้เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ และไม่ได้ทำให้ลูกค้าพึงพอใจหรือยินดีจ่ายเงินให้กับสิ่งเหล่านั้น
โฆษณา