7 ม.ค. เวลา 15:14 • สุขภาพ

ใช้หูฟังมากไป เสี่ยงโครงสร้างหูพัง เกิดเสียงในหู

อันนี้ผมเห็นก็ตกใจอยู่พอสมควร เพราะส่วนตัวยัดหูฟังใส่หูตลอดเวลา ไม่ว่าจะเปิดอะไรหรือไม่ก็ตาม รู้สึกไม่ค่อยอยากเอามือถือขึ้นมาแนบหูแล้ว เพราะเป็นแบบนี้ก็เลยเสียนิสัย ทำงานอะไรที่ไม่ต้องเพ่งมากก็จะเปิดโน่นนี่ฟัง ยิ่งเสียงรอบข้างดัง ยิ่งเพิ่มเสียง
ซึ่งเป็นอะไรที่เสียนิสัยอย่างมาก เพราะการรับเสียงดังๆเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะจากหูฟัง in-ears ทำให้ Hair cell ในชั้น Cochlear ของหูทำงานอยู่ตลอดเวลา เกิดการสั่นและเสียดสีอยู่ตลอด ทำให้เกิดความเสียหาย จนโครงสร้างการรับเสียงผิดปกติ เกิดเป็นเสียงวี้ๆ ในหูหรือที่เรียกว่า Chronic subjective tinnitus
ก่อนอื่นต้องเข้าใจโครงสร้างของหูชั้นในแบบคร่าวๆ หูชั้นในมีโครงสร้างหลักที่ทำหน้าที่แปลผลเสียงที่ได้รับเข้าสู่ระบบประสาทคือ โครงสร้างรูปก้นหอยที่เรียกว่า Cochlear ภายใน Cochlear ประกอบด้วยเซลล์ขน(Hair cell)ที่ทำหน้าที่รับคลื่นจากเสียงภายนอก แล้วสั่นตามจังหวะนั้นเพื่อแปลงคลื่นให้กลายเป็นกระแสประสาทส่งไปยังสมอง
เซลล์ขนมี 2 ชั้น คือชั้นใน(Inner hair cell) และชั้นนอก(Outer hair cell) เซลล์ขนชั้นในทำหน้าที่สะท้อนคลื่นเสียงเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งให้สมอง ส่วนชั้นนอกทำหน้าที่ช่วยเหลือการทำงานของชั้นใน ทำให้เซลล์ขนชั้นในทำงานได้ดีขึ้น
เมื่อได้รับเสียงดังต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ทำให้โครงสร้างของเซลล์ขนชั้นนอกเสียหาย สื่อสารกับ Spiral ganglion neuron ลดลง ทำให้การส่งสัญญาณเสียงไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งความเสียหายนี้ยังทำให้เซลล์ขนชั้นในกับชั้นนอกสอดประสานกันได้แย่ลงด้วย
เมื่อสมองพบว่าโครงสร้างในหูทำหน้าที่ได้แย่ลง จึงแก้ปัญหาเองโดยการส่งสัญญาณกระตุ้นในจุดต่างๆที่มีผลต่อการรับเสียง(อารมณ์จุดไฟแจ้งเหตุตามกำแพงเมืองสมัยจีนโบราณ) เช่น Dorsal cochlear nuclei,Inferior colliculus,Auditory cortex ทำให้เกิดสัญญาณกำเนิดเสียงขึ้น แม้ไม่มีเสียงเกิดขึ้นจริง เป็นเสียงคล้ายสัญญาณบางอย่างเป็นเสียงวี้ๆ ขึ้นในหู(Phantom sound) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่เงียบ จะได้ยินได้ชัดมากขึ้น
จากการศึกษาของ College of Medicine at the University of Lagos พบว่า 20.6% ของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ earphones เป็นประจำในระดับเสียงเฉลี่ยในระดับที่ปลอดภัย(ต่ำกว่า 85 dB) รายงานว่ามีอาการที่คล้ายกับเสียงวิ้งในหู นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า การใช้ earphones เป็นเวลานานยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้ามากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช่มากถึง 1.27 เท่า
จึงค่อนข้างชัดเจนว่า เสียงที่ดังและการฟังที่นานด้วย earphones เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเสียงในหูอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง ไม่เกิดเสียงดังจนอันตราย และไม่ใช้จนบ่อยเกินไป ถอดหูฟัง และเปิดรับเสียงแห่งความงามของธรรมชาติรอบตัว ไม่แน่บางที คุณอาจทำอะไรได้มากกว่า เมื่อไม่ต้องฟังเสียงหลายๆแหล่งพร้อมกัน
อ้างอิง
โฆษณา