8 ม.ค. เวลา 08:00 • ธุรกิจ

Nvidia iPhone OpenAI 3 ดีลประวัติศาสตร์ 100 ล้านล้าน ที่ Intel พลาดไป

ในอดีต Intel เคยเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมชิป แต่สถานการณ์ตอนนี้ กลับเป็นหนังคนละม้วน
2
เพราะถูกบรรดาคู่แข่งแซงหน้าขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น Nvidia, AMD, Samsung, Qualcomm, Broadcom, ARM, TSMC และรายอื่น ๆ
ส่งผลให้อาการของ Intel นับวันยิ่งแย่ลง โดยไตรมาส 3 ปี 2024 ขาดทุนมโหฬารถึง 5.7 แสนล้านบาท
ส่วนมูลค่าบริษัทก็ลดลงเหลือ 2.9 ล้านล้านบาท หายไปกว่า 70% เทียบกับจุดสูงสุดเมื่อหลายปีก่อน
1
Intel นั้นเดินเกมทำทุกอย่างเอง ทั้งออกแบบและผลิตชิปด้วยตัวเอง จนพัฒนาชิปรุ่นใหม่ได้ช้ากว่าคนอื่น ที่โฟกัสเฉพาะเรื่องการออกแบบหรือผลิต เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ซึ่งความจริงแล้ว Intel มีโอกาสลงทุนเพื่อยึดครองตลาดชิป และ AI มาก่อนคนอื่นเป็นสิบ ๆ ปี
แต่สุดท้ายก็ไม่กล้าเสี่ยงกับของใหม่ ทำให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเช่นทุกวันนี้
1
ที่ผ่านมา Intel พลาดดีลสำคัญอะไรไปบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
พลาดครั้งแรก คือ “Nvidia”
ในช่วงปี 2005 บริษัท Intel มีมูลค่าธุรกิจอยู่ที่ราว 5 ล้านล้านบาท และยึดครองตลาดชิปประมวลผลสำหรับคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า CPU ได้อย่างหมดจด
ส่วน Nvidia กำลังเป็นบริษัทดาวรุ่ง ที่พัฒนาชิปประมวลผลสำหรับภาพเกมและกราฟิก หรือการ์ดจอ GPU โดยขณะนั้นมีมูลค่าธุรกิจอยู่ที่ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท
ซึ่งคุณ Paul Otellini ซีอีโอของ Intel ในเวลานั้น และผู้บริหารกลุ่มหนึ่ง เชื่อว่า GPU ที่มีประสิทธิภาพการประมวลผลที่รวดเร็ว น่าจะมีส่วนสำคัญกับธุรกิจ Data Center ของบริษัทไม่น้อย
จึงได้นำเสนอวาระให้คณะกรรมการบริษัท พิจารณายื่นซื้อกิจการ Nvidia ในราคาประมาณ 6.8 แสนล้านบาท
3
แต่ปรากฏว่า คณะกรรมการบริษัทไม่อนุมัติ
เพราะยังฝังใจกับดีลซื้อกิจการหลายครั้งก่อนหน้านี้ ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ประกอบกับมองว่าราคาประเมินที่สูงกว่ามูลค่าตลาดถึง 3 เท่า นั้นแพงเกินไป
โดย Intel ได้ไปตั้งโครงการวิจัยพัฒนาการ์ดจอ GPU เอง แต่ประสิทธิภาพกลับไม่ค่อยดี และเสียค่าใช้จ่ายไปจำนวนมาก เลยล้มเลิกไป
ซึ่งผ่านมาถึงปัจจุบัน การ์ดจอ GPU กลายเป็นสิ่งที่แทบทุกบริษัทเทคโนโลยีต้องการใช้ โดยมี Nvidia ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด
สมมติว่า Intel เดินหน้าซื้อกิจการ Nvidia และดูแลธุรกิจได้ดี เงินลงทุน 6.8 แสนล้านบาท อาจพุ่งทะยานเป็น 112 ล้านล้านบาท ซึ่งก็คือมูลค่าตลาดของ Nvidia ในวันนี้ ก็เป็นได้..
พลาดครั้งที่สอง คือ “iPhone”
เดิมทีที่ Intel เป็นเจ้าตลาดชิปคอมพิวเตอร์นั้น ยังรวมไปถึงการเป็นพาร์ตเนอร์ผลิตชิปให้กับคอมพิวเตอร์ Mac ของ Apple มาตั้งแต่ปี 2005 ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้น Apple กำลังซุ่มพัฒนานวัตกรรมชิ้นใหม่ นั่นก็คือ สมาร์ตโฟน
จากการที่สมาร์ตโฟนดังกล่าว จะใช้ระบบปฏิบัติการแบบเดียวกับคอมพิวเตอร์ Mac เลยทำให้มีการพูดคุยกันว่าจะให้ Intel พัฒนาและผลิตชิปให้กับสินค้าตัวใหม่นี้ได้หรือไม่
1
แต่ Intel กลับปฏิเสธข้อเสนอ เพราะคิดว่าสมาร์ตโฟนไม่น่าจะเข้ามาแทนที่คอมพิวเตอร์ได้ และยอดขายคงไม่น่าคุ้มกับต้นทุนที่ลงไป จึงขอโฟกัสที่ชิปคอมพิวเตอร์แบบเดิมดีกว่า
3
ทำให้ Apple ตัดสินใจหันไปจ้าง Samsung ผลิตชิปให้แทน และเปิดตัว iPhone รุ่นแรกในปี 2007
นอกจากนั้น ในเวลาต่อมา Apple ยังเปลี่ยนกลยุทธ์หันไปออกแบบชิปร่วมกับบริษัท ARM และจ้างบริษัท TSMC ผลิตชิปให้กับสินค้าต่าง ๆ ของ Apple ซึ่งรวมถึงคอมพิวเตอร์ Mac แทนที่ Intel
เท่ากับว่า Intel สูญเสียโอกาสเติบโตในตลาดสมาร์ตโฟนไปพร้อมกับ iPhone และยังเสียลูกค้าสำคัญในตลาดคอมพิวเตอร์เดิมไปอีก
ถ้าหากว่า Intel จับมือกับ Apple และพัฒนาชิปได้ตามความต้องการ คงคิดเป็นมูลค่าที่มหาศาลไม่น้อย
เพราะลองเปรียบเทียบจากรายได้ของ TSMC ในปี 2023 มีสัดส่วนมาจากคำสั่งซื้อของ Apple มูลค่าถึง 6.0 แสนล้านบาท..
พลาดครั้งที่สาม คือ “OpenAI”
ในปี 2017 ผู้บริหารของ Intel และ OpenAI ได้มีการหารือกันถึงความร่วมมือทางธุรกิจ
โดยเสนอให้ Intel เป็นผู้พัฒนาชิปและโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ขายให้ในราคาทุน แลกกับการได้ซื้อหุ้นของ OpenAI สัดส่วน 15% ในราคา 34,000 ล้านบาท
1
แต่คุณ Bob Swan ซีอีโอของ Intel ในเวลานั้น ปฏิเสธข้อเสนอไป เพราะยังมองไม่เห็นศักยภาพในระยะสั้นของเทคโนโลยี Generative AI
1
ซึ่งหลังจากนั้น ก็เป็น Microsoft เข้ามาลงทุนใน OpenAI แทนในปี 2019 และเพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนมาเรื่อย ๆ รวมทั้งหมด 4.5 แสนล้านบาท จนปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 49%
OpenAI เลยเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ และเปิดตัว ChatGPT ที่เป็นจุดเริ่มต้นของยุค AI ในปี 2022
ความสำเร็จของ ChatGPT ที่มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้จากการระดมทุนรอบล่าสุด OpenAI ถูกประเมินมูลค่าบริษัทไว้อยู่ที่ประมาณ 5.4 ล้านล้านบาท
ถ้า Intel ตกลงซื้อหุ้น OpenAI ในวันนั้น และคงสัดส่วนถือหุ้นที่ 15% ในวันนี้มันจะมีมูลค่า 8.1 แสนล้านบาท..
นี่คือตัวอย่างดีลที่ผ่านเข้ามาในสายตาของ Intel แต่สุดท้ายไม่กล้าเสี่ยงเดิมพันกับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งรวมเป็นค่าเสียโอกาสไม่น้อยกว่า 100 ล้านล้านบาท
และมากกว่านั้น หาก Intel กล้าเสี่ยงเดิมพันดีลในอดีตที่ผ่านเข้ามา วันนี้ก็อาจยังสามารถรักษาสถานะของการเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของวงการเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีได้
เพราะจะเป็นผู้นำตลาดชิป CPU และ GPU, ผูกขาดการขายชิปให้กับสินค้าต่าง ๆ ของ Apple รวมทั้งมีส่วนร่วมกับเทคโนโลยี Generative AI ที่เป็นเมกะเทรนด์
1
ซึ่งบริษัทใหญ่สุดในโลก อาจไม่ใช่ Apple, Nvidia หรือ Microsoft แต่เป็น Intel ก็เป็นได้..
1
แต่เรื่องนี้ก็ไม่เกิดขึ้นจริง และตรงกันข้ามคือ Intel กำลังตกที่นั่งลำบาก ทั้งในแง่ของผลการดำเนินงานและมูลค่าบริษัท จนมีข่าวว่าบริษัท Qualcomm ผู้ออกแบบโปรเซสเซอร์สมาร์ตโฟนรายใหญ่ สนใจขอซื้อกิจการ
ก็ไม่น่าเชื่อเลยว่า Intel ที่มีโอกาสวิ่งเข้าหามากมายในอดีต มาวันนี้ กลับตกเป็นเป้าหมายถูกซื้อกิจการเสียเอง
1
และเรื่องนี้ ก็ทำให้นึกถึงคำพูดของ คุณมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta
“The biggest risk is not taking any risk”
ความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ การไม่กล้าเสี่ยงอะไรเลย..
1
โฆษณา