8 ม.ค. เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

อินวิเดีย เปิดตัว ‘Cosmos’ แพลตฟอร์มจำลองโลกเสมือนจริง ใช้พัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะ

จาก Agentic AI สู่ Physical AI อินวิเดีย เปิดตัว ‘Cosmos’ ในงาน CES 2025 แพลตฟอร์มจำลองโลกเสมือนจริง ใช้พัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะ ปฏิวัติการทำงานในโรงงานและคลังสินค้า
ขณะที่ประเทศไทยกำลังตื่นเต้นกับการมาถึงของ Agentic AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถคิดและตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เจนเซน หวง ซีอีโอของอินวิเดีย (NVIDIA) ได้ประกาศทิศทางใหม่ของเทคโนโลยีในงาน CES 2025 ว่า ก้าวต่อไปของเอไอคือ “Physical AI” และได้เปิดตัว “Cosmos” ซึ่งเป็นโมเดลจำลองโลกเสมือน (World Foundation Model) ที่จะมาปฏิวัติการทำงานในโรงงานและคลังสินค้า
หากย้อนกลับไปมองพัฒนาการของเอไอในช่วงที่ผ่านมา เราเริ่มจาก Generative AI ที่สร้างเนื้อหา ข้อความ และรูปภาพ อย่าง ChatGPT และ Midjourney ต่อมาพัฒนาเป็น Agentic AI ที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจ อย่างเช่น GPTAuto หรือ Operator จนมาถึง Physical AI ที่นำปัญญาประดิษฐ์มาผสานกับอุปกรณ์และเครื่องจักรในโลกกายภาพ
อินวิเดียแบ่งหุ่นยนต์เป็นสามประเภท ได้แก่ 1. หุ่นยนต์ความรู้ (Agentic AI) 2. หุ่นยนต์ทั่วไป-หุ่นยนต์มนุษย์ และ 3. หุ่นยนต์ขนส่ง (ยานยนต์ไร้คนขับ) โดยสองประเภทหลังต้องเข้าใจและโต้ตอบกับโลกจริงได้
เรฟ เลบาเรเดียน รองประธานฝ่าย Omniverse และเทคโนโลยีการจำลองของอินวิเดีย เชื่อว่า Physical AI จะปฏิวัติตลาดอุตสาหกรรมโลก โดยนำเอไอเข้าสู่โรงงาน 10 ล้านแห่ง และคลังสินค้า 200,000 แห่ง
📍Physical AI คืออะไร ?
Physical AI คือ แนวคิดที่ผสมผสานการใช้การจำลองสถานการณ์เข้ากับการพัฒนาหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยหัวใจสำคัญของแนวคิดนี้อยู่ที่การสร้างโลกจำลอง (Simulator) ที่เลียนแบบโลกจริงอย่างละเอียด ทั้งในแง่ของกฎฟิสิกส์ แรงโน้มถ่วง การชน และปฏิสัมพันธ์ต่างๆ
ในโลกจำลองสามารถทดลองและฝึกฝนเอไอให้เรียนรู้การทำงานต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว การจับวัตถุ หรืองานที่ซับซ้อนอื่นๆ การทดลองในสภาพแวดล้อมเสมือนนี้สามารถทำซ้ำได้ไม่จำกัด โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ทำให้สามารถเก็บข้อมูลและพัฒนาการทำงานจนได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
เมื่อเอไอได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะต่างๆ จนเป็นที่น่าพอใจในโลกจำลองแล้ว จึงค่อยถ่ายโอนความรู้และความสามารถเหล่านั้นไปสู่หุ่นยนต์ในโลกจริง ทำให้หุ่นยนต์สามารถปรับตัวและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีการนี้ช่วยลดความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายในการพัฒนา เพราะข้อผิดพลาดต่างๆ สามารถค้นพบและแก้ไขได้ในโลกเสมือนก่อนที่จะนำไปใช้งานจริง นับเป็นแนวทางที่ช่วยให้การพัฒนาเอไอและหุ่นยนต์มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
1
โฆษณา