9 ม.ค. เวลา 05:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ส่อง 10 เทรนด์ HealthTech ปี 68 ปลดล็อกดูแลสุขภาพ-วงการแพทย์

การเกิดขึ้นของ Digital Healthcare หรือการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัล ในปัจจุบันได้กลายเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการแพทย์ทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความสำคัญมากขึ้นต่อเนื่องหลังจากเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 รวมถึงการที่ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ใช้งานง่ายขึ้น ทำงานได้รวดเร็ว แม่นยำ ราคาถูกลง เหล่านี้เป็นสาเหตุเทคโนโลยีด้านการดูแลสุขภาพ หรือ HealthTech เป็นหนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงในปี 2568
“ฐานเศรษฐกิจ” จีงได้รวบรวม 10 เทรนด์เทคโนโลยีสุขภาพ (HealthTech)ที่คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญและสร้างการเปลี่ยนแปลงการให้วงการแพทย์ บริการสาธารณสุข และการดูแลสุขภาพในปี 2568
  • Generative AI : ผู้ช่วยเสมือนที่ช่วยลดภาระงาน
Generative AI ได้กลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการจัดการงานเอกสารและงานที่ซ้ำซ้อน เทคโนโลยีนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเขียนบันทึกทางการแพทย์ สรุปข้อมูลผู้ป่วย และสื่อสารระหว่างทีมแพทย์ ยิ่งไปกว่านั้น AI ยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วยในโรคที่ซับซ้อน เช่น มะเร็ง เพื่อให้ทีมแพทย์สามารถตัดสินใจได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น
  • AI ช่วยในการวินิจฉัยที่ซับซ้อน
AI ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ลดงานเอกสาร แต่ยังช่วยในการวินิจฉัยโรคที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น โรคหัวใจหรือมะเร็ง โดยเทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์ภาพการแพทย์ เช่น CT Scan และอัลตราซาวด์ ช่วยให้แพทย์และเจ้าหน้าที่ใหม่สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น
  • ศัลยกรรมแบบแผลเล็ก : การปฏิวัติที่เงียบสงบ
เทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery) ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น แต่ยังลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน การรวมข้อมูลจากเครื่องมือหลากหลาย เช่น X-ray แบบ 2 มิติ และ Ultrasound แบบ 3 มิติ ช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถควบคุมขั้นตอนการผ่าตัดได้ดีขึ้น
  • การดูแลในภาวะวิกฤตด้วยข้อมูลครบวงจร
ในสถานการณ์วิกฤต การมีข้อมูลผู้ป่วยที่ครบถ้วนเป็นสิ่งสำคัญ ระบบที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ ได้ช่วยให้ทีมแพทย์วินิจฉัยและตอบสนองต่อสถานการณ์ได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ การใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยยังช่วยแจ้งเตือนเหตุการณ์ฉุกเฉินล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • บ้าน : ห้องพักฟื้นแห่งอนาคต
การดูแลสุขภาพที่บ้านได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยี Remote Patient Monitoring ช่วยให้แพทย์สามารถติดตามสถานะสุขภาพของผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์ ลดความจำเป็นในการนอนโรงพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย
  • Telehealth : การรักษาไร้พรมแดน
การแพทย์ทางไกล (Telehealth) ช่วยให้ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการรักษาได้โดยไม่ต้องเดินทาง เทคโนโลยีนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและความแออัดในโรงพยาบาล ตัวอย่างเช่น แพทย์สามารถให้คำปรึกษาผ่านวิดีโอคอลหรือช่วยวิเคราะห์ผลอัลตราซาวด์จากระยะไกล
  • เทคโนโลยีเพื่อการเลี้ยงลูกยุคใหม่
การผสานเทคโนโลยีเข้ากับชีวิตประจำวันช่วยให้ผู้ปกครองสามารถติดตามสุขภาพของลูกหลานได้อย่างใกล้ชิด อุปกรณ์อัจฉริยะ เช่น เครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพและอุปกรณ์สวมใส่ สามารถให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับอัตราการเต้นของหัวใจและรูปแบบการนอนของเด็ก
  • AI เพื่อความยั่งยืนในระบบสุขภาพ
ด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมสุขภาพที่สูงกว่าอุตสาหกรรมการบิน AI จึงถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการเพื่อลดการใช้พลังงานและวัตถุดิบ การปรับเปลี่ยนโรงพยาบาลให้ใช้พลังงานสะอาดจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอนาคต
  • ลดการปล่อยคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน
โรงพยาบาลเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการเลือกซัพพลายเออร์ที่มีเป้าหมายด้านความยั่งยืน และใช้วัสดุที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้
  • การเตรียมระบบสุขภาพให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก ระบบสุขภาพจึงต้องพัฒนาความพร้อมในการจัดการปัญหา เช่น โรคที่เกิดจากคลื่นความร้อน น้ำท่วม และไฟป่า รวมถึงการส่งเสริมพลังงานสะอาดในโรงพยาบาลและเพิ่มการฝึกอบรมบุคลากร
โฆษณา