9 ม.ค. เวลา 09:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

เศรษฐกิจโลกฉุดรั้ง นักการตลาดไทยชะลอลงทุน ของโฟกัสเทรนด์สุขภาพ-AI

สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จัดงาน “Thailand Marketing Day 2025: THE NEXT MARKETING BATTLE” เพื่อเปิดศึกทัพผ่าสมรภูมิการตลาดยุคใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สมชาย วิศิษฐชัยชาญ อุปนายกฝ่ายองค์กรความรู้ด้านการตลาด กรรมการบริหารและที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศูนย์สาธารณประโยชน์ และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
และ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อุปนายกฝ่ายกิจกรรม การสื่อสารและการตลาดยั่งยืน สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันเผยโฉม “ฟันธงเทรนด์การตลาด 2025 Way Forward MAT x MAT CMO COUNCIL’s Prediction” เพื่อไขปริศนาและวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด
จากการสำรวจผู้บริหารสูงสุดด้านการตลาด 111 คน พบว่ากว่า 55% คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะเติบโตได้ยากกว่าปี 2567 โดยว่า GDP จะเติบโตเพียง 1.65%
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการตลาดไทยมากที่สุด ผู้บริหารส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับปัจจัยภายนอกมากกว่าปัจจัยภายใน โดยให้คะแนนความกังวลต่อ "เศรษฐกิจโลก" สูงสุดถึง 4.09 คะแนน จาก 5 คะแนนเต็ม ตามมาด้วย "เทคโนโลยีดิจิทัล" 4.08 คะแนน และ "พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลง" 4.05 คะแนน ตามลำดับ
ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ผู้บริหารส่วนใหญ่ให้ความกังวลเรื่องพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงมาก แต่ในปี 2568 ปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกและเทคโนโลยีดิจิทัลกลับขึ้นมาเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการตลาดไทยมากที่สุด ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้บริหารตระหนักถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากขึ้น
  • สุขภาพเป็นเทรนด์ที่สำคัญมาก โดยเฉพาะสุขภาพของผู้สูงอายุ
ผศ.ดร.เอกก์ กล่าวว่า ผมรู้สึกประหลาดใจมากที่ผลสำรวจปีนี้ให้ความสำคัญกับคุณภาพเป็นอันดับ 3 ทั้งที่ปกติแล้วทุกคนมักจะให้ความสำคัญกับคุณภาพเป็นอันดับแรก และอีกเรื่องที่น่าสนใจคือเรื่องดิจิทัล ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวันไปแล้ว
เรื่องคุณภาพและดิจิทัลว่าเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการซึ่งเป็นเรื่องจริง แต่ถ้าหากแบรนด์ใดไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เพียงพอ ก็จะอยู่รอดไม่ได้ในตลาดปัจจุบันเรื่องสุขภาพว่าเป็นเทรนด์ที่สำคัญมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของหลายๆ ธุรกิจ
  • ปี 2568 นักการตลาดไทยรัดเข็มขัดแน่น
ปี 2568 นี้ เศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน ส่งผลให้นักการตลาดไทยกว่า 77.6% ตัดสินใจ "ไม่เพิ่ม" งบประมาณด้านการตลาด และอีก 0.41% คาดการณ์ว่าจะ "ลด" งบประมาณลงไปอีก เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีสัดส่วนผู้ที่ไม่เพิ่มงบอยู่ที่ 50% สะท้อนให้เห็นว่าบรรยากาศการทำการตลาดในปีนี้ค่อนข้างตึงตัว และผู้ประกอบการต่างพากันระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
  • ถ้ามีงบเหลือ จะเน้นลงทุนที่ไหน
แม้ว่างบประมาณจะจำกัด แต่หากมีโอกาสได้ใช้จ่าย นักการตลาดส่วนใหญ่กว่า 73% จะเลือก "ลงทุนสร้างสรรค์คอนเทนต์" เพื่อดึงดูดลูกค้า และอีก 63.1% จะเน้นไปที่ "การพัฒนาช่องทางการขาย (คอมเมิร์ซ)" เพื่อเพิ่มยอดขาย ส่วนอีก 29.7% ให้ความสำคัญกับการ "พัฒนาระบบชำระเงิน" เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า และสุดท้าย การกำกับดูแล (Governance)
  • เมื่องบประมาณตึงตัว องค์กรหันมาเน้นกำไรเป็นอันดับหนึ่ง
ในปี 2568 ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนและเงินเฟ้อสูง องค์กรต่างๆ ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการงบประมาณที่จำกัดลง ส่งผลให้การให้ความสำคัญกับปัจจัย 3Ps ได้แก่ People (คน) Planet (โลก) และ Profit (กำไร) เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด
จากเดิมที่องค์กรให้ความสำคัญกับ "คน" เป็นอันดับหนึ่ง โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาพนักงาน สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี และดูแลสังคม ปัจจุบันนี้ องค์กรส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับ "กำไร" มากขึ้น เพื่อความอยู่รอดและเติบโตในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก
  • แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีที่น่าสนใจในปี 2568
ผู้บริโภคมองหาสุขภาพและความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง ผลสำรวจล่าสุดพบว่า ผู้บริโภคในปี 2568 ให้ความสำคัญกับสุขภาพเป็นอันดับหนึ่ง โดยต้องการดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นและพร้อมที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังพบว่า ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของผู้บริโภคลดลง โดยหล่นมาอยู่อันดับที่ 7 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับนักการตลาดและธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน
ในด้านเทคโนโลยี นักการตลาดให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มากที่สุด ตามมาด้วยอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) และเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและการตลาดในอนาคต
อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่น่าจับตา ได้แก่ ธุรกิจสุขภาพ การท่องเที่ยวคุณภาพ และธุรกิจการเกษตรและไบโอเทค ถูกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
  • ผลสำรวจ อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตและความต้องการของผู้บริโภค
จากผลสำรวจความคิดเห็น พบว่าอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตและได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน คือ อุตสาหกรรมสุขภาพและการดูแลตนเอง (Health and Wellness) โดยได้รับคะแนนสูงถึง 88.3% ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มที่คนให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น
อันดับสองคืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ (Quality Tourism) ซึ่งผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อประสบการณ์ที่แตกต่างและมีคุณค่า โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Sustainable Tourism) ที่มุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น สอดคล้องกับเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยว 39.8 ล้านคนในปีนี้ และเน้นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าผู้บริโภคต้องการเห็นธุรกิจนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลเชิงลึกจากลูกค้า (Data-driven) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน
โฆษณา