Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
CREATIVE TALK
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
9 ม.ค. เวลา 01:05 • ธุรกิจ
การเล่าเรื่องเหมือนการจีบสาว ไม่มีอะไรการันตีว่าจะสำเร็จ
ทักษะ Humanize เทรนด์การเล่าเรื่องที่สำคัญในปี 2025 คาดการณ์เทรนด์โดยคุณพิริยะ กุลกาญจนาชีวิน
🌊 คำว่า ‘Content’ ทุกวันนี้ก็ไม่ต่างจากคลื่นในมหาสมุทร มันมีคลื่นมากมายทั้งลูกเล็ก และลูกใหญ่ ไม่ว่าใครในโลกใบนี้ก็ต่างทำคอนเทนต์ได้อย่างอิสระ
ดังนั้นคนที่จะจับกระแสของคลื่นเหล่านั้น จึงถูกนิยามว่า “นักเล่าเรื่อง (Storyteller)” หรือกลุ่มคนที่เข้ามาจับคลื่นระหว่างกลาง ทั้งความรู้สึก, พฤติกรรมเชิงลึกของลูกค้า หรือเทรนด์ เพื่อสร้างคลื่น หรือการเล่าเรื่องในแบบของตัวเอง เพื่อตอบโจทย์ในงานที่เราสื่อสาร
🌊 ดังนั้นคลื่นครั้งใหม่ในปี 2025 นี้ จะมีเรื่องไหนที่ชาว Creator, เจ้าของธุรกิจ, คนทำงาน และผู้ที่อยู่เบื้องหลังงาน Creative จำเป็นต้องรู้! วันนี้เรามาคุยกับคุณพิ - พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน Co-founder Glow Story อีกหนึ่งนักเล่าเรื่องผู้อยู่เบื้องหลัง TEDxBangkok ได้มาบอกเล่าถึงเทรนด์ที่สำคัญในปี 2025 เทรนด์นั้นก็คือ“Humanize”
‘ความเป็นคน’ นั้นมีค่ามหาศาล! เทรนด์ Humanize จึงเกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การเล่าเรื่อง (Storytelling) อยู่กับมนุษย์มานานมาก สิ่งที่เซเปียนส์แตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ คือการสื่อสารด้วยเรื่องเล่า หรืออย่างยุคสมัยนี้การเล่าเรื่อง (Storytelling) ก็กลายเป็นหนึ่งจุดขาย แบรนด์ไหนสื่อสารได้โดนใจผู้บริโภคก็มีโอกาสที่จะชิงความได้เปรียบในตลาด ซึ่งเรื่องเล่าก็มักจะเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม
อย่างบริบทสังคมในปัจจุบันนี้ เราจะเริ่มเห็นผู้คนเป็นทุกข์กันมากขึ้น ซึ่งผลพวงนั้นมาจาก
👉 เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การทำงานเราต้องเร็วขึ้นตามไปด้วย
👉 คนทำธุรกิจเครียดเรื่องทุนจีน สินค้าจีนเข้ามา เกิดความกังวล
👉 การทำธุรกิจ ยอดขายน้อยลง สเกลธุรกิจยากขึ้น
👉 เหนื่อยทั้งใจ เหนื่อยทั้งกาย หมดไฟไปกับการทำงาน
สิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้คือการมาของ Dehumanization หรือหนึ่งในกระบวนการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ลง เสมือนเราเป็นเครื่องจักรมากกว่าเป็นมนุษย์ กลายเป็นมนุษย์ฟันเฟืองเร่งทำงานอย่างไม่หยุดยั้ง โดยไม่ได้กลับมามองถึงคุณค่าทางจิตใจ หรือดูแลตัวเองมากพอ
การกลับมาเห็นภาวะทางสังคมและการมาของเทคโนโลยี โดยมองภาพรวมธุรกิจ และยึดคำว่า “Humanize” มันช่วยได้
โดย Humanize คือการที่เรามองคนเป็นคน มองความเป็นมนุษย์ ด้วยมนุษย์ ถ้าสิ่งนี้คือการขายของ เราก็ต้องขายของอย่างเป็นมนุษย์ ไม่ใช่หุ่นยนต์ หรือถ้าสิ่งนี้คือการสร้างแบรนด์ เราจะทำอย่างไรให้แบรนด์ของเรามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะพูดคุย สื่อสารกับลูกค้าได้จริงใจมากพอ
นี่จึงเป็นที่มาของคำตอบที่ว่า ทำไมเทรนด์ Humanize ถึงมีความสำคัญ แล้วมีเรื่องไหนบ้างที่เราควรให้ความสำคัญในการทำการตลาด และการทำธุรกิจในปีนี้!
✅ 1. ธุรกิจเล็ก อย่าฝืนที่จะสู้ด้วย Functional แต่จงสู้อย่างสร้างสรรค์ด้วย Emotional Connection
มันไม่มีประโยชน์เลยที่เราจะทำธุรกิจโดยลงไปแข่งสงครามราคา ยังไงโรงงานจีนเขาจะถูกกว่าเราเสมอ แต่ในทางกลับกันถ้าคุณจะหาจุดต่าง อยากให้ลูกค้าหันมามองเรา อยากให้สินค้าเราสร้างความแตกต่างโดยที่ลูกค้ายังให้ความสนใจกับสินค้าเรา มันต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Emotional Connection’ หรือการสื่อสารที่จริงใจ สื่อสารด้วยความเป็นมนุษย์ เข้าถึง Insight ผู้บริโภคอย่างแท้จริง
Emotional Connection จะช่วยได้ดีในเชิงการสื่อสารระหว่างแบรนด์ กับผู้บริโภค โดยที่ไม่ต้องวิ่งไปแข่งเรื่องราคา แต่ใช้ความจริงใจ ที่สามารถบอกลูกค้าอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า ทำไมของเราถึงราคาสูง หรือทำไมของเราถึงราคาจับต้องได้ เพราะความจริงใจจะเป็นตัวพิสูจน์ให้ลูกค้ารู้สึกถึงความเป็นคนของแบรนด์เรานั่นเอง
ดังนั้นแบรนด์ไหนที่ยังไม่สามารถ Humanize แบรนด์ตัวเองให้ Connect กับ Consumer ได้ ผู้บริโภคหรือลูกค้าคุณก็จะจางหายไปเอง เพราะคุณไม่ได้แตกต่าง และไม่ได้เข้าใจลูกค้ามากพอให้เขาอยากจดจำ
✅ 2. อย่าเป็นแค่ผู้นำที่พูดแต่ตัวเลข แต่ผู้นำที่จะสร้างทีมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ต้องเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ (Humanize Leader)
ผู้นำหลาย ๆ องค์กรยุคนี้เชื่อว่าเจอเคสคล้าย ๆ กันอยู่ นั่นคือ “ปัญหาของการสร้าง Engagement คนในองค์กร” ซึ่งเหตุผลก็อาจจะมาจากยุคนี้เราทำงานออนไลน์กันมากขึ้น หรือผู้นำเองก็บอกให้ทุกคนทำงานมากขึ้น หนักขึ้น เนื่องจากธุรกิจไม่ได้อู้ฟู่แบบเมื่อก่อน กลายเป็นว่าเราทำงานหนักขึ้น แต่ค่าคอมมิชชันลดลง เงินเท่าเดิม
แน่นอนว่าคนเก่ง ๆ ถ้าเกิดรู้สึกอยู่แล้วไม่ปลอดภัย ไม่ได้เฉิดฉาย เขาก็ลาออกไปเป็นปกติ คนที่อยู่ก็คือคนที่ทนได้ ปรับเปลี่ยนทำเท่าที่ได้ไป มันจึงเริ่มเกิด Gap ในองค์กร คำถามคือ “แล้วจะจัดการเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง” ซึ่งโดยส่วนใหญ่องค์กรก็มักจะโฟกัสเรื่องของ Business Strategy หรือกลยุทธ์ที่แตกต่างกันไป
แต่กลับกันแล้วเรื่องของคนทำงานล่ะ! เราจะนำกลยุทธ์เหล่านั้นเทิร์นกลับมาให้กลายเป็น Emotion ได้อย่างไรบ้าง เพราะกลยุทธ์เป็นสิ่งที่ดีในการขับเคลื่อนองค์กร แต่การจะขับเคลื่อนองค์กรได้ ‘คนทำงาน’ คือคำตอบของการขับเคลื่อนนั้น
นี่จึงเป็นโจทย์ที่เรียกว่า ‘ท้าทายเบอร์ต้น ๆ’ ของผู้นำองค์กรทุกคน เราไม่สามารถใช้วิธีการเดิม ๆ ในการได้ผลลัพธ์ใหม่ที่ดีได้ ดังนั้นถ้าเราไม่คิดใหม่ ทำใหม่ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ก็จะยากมากในการบิ้วเรื่อง Engagement จุดเริ่มต้นที่ดีคือตัวผู้นำต้องกล้าจะเปิดรับโอกาส หากรอบวิธีคิดใหม่ เพื่อสร้างโอกาสใหม่
🎯 เทคนิคสำคัญคือ: การเชื่อมั่น Trust ในทีม
เราต้องยอมรับว่าต่อให้เราเป็นผู้นำองค์กร เป็นหัวหน้า เราก็ไม่ได้เก่งทุกเรื่อง บางครั้งในห้องประชุม คนในห้องยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหน้าตาของลูกค้าจริง ๆ เป็นอย่างไร ไม่เคยไปยืนดูว่าเขาซื้อโปรดักต์เราอะไรบ้าง หรือไปฟังเสียงเขาจริง ๆ มันจึงเป็นการตัดสินใจจากบนหอคอย ซึ่งทำให้คนทำงานเหนื่อยมาก เสมือนกับการอยากจีบ GenZ แต่พี่ยังส่งสติกเกอร์แบบเดิม ๆ อยู่เลย
ดังนั้นการ Trust ในทีมสำคัญมาก ถ้าเราเป็นผู้นำที่คอยตัดสินใจยังไม่เข้าใจ เปิดใจซะ แล้วเรียนรู้ เชื่อมั่นในสิ่งที่ทีมเขาเห็น เขา Research มาแล้ว เขารู้ดีเพราะเขาอยู่ใกล้กับลูกค้ามากกว่าเรา
คุณจะเป็นผู้นำที่ขึ้นไปพูดกับทีม เพื่อบอกให้ทำงานหนัก เห็นเราเป็นเฟืองคนนึง หรือคุณจะเป็น “ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ (Humanize Leader)” คนที่รับฟังคนทำงานอย่างจริงใจ มีความเห็นอกเห็นใจ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้เฉิดฉาย พัฒนาได้จริง
✅ 3. เลิกเล่าทุกเรื่องได้แล้ว! แต่สิ่งที่นักสร้างสรรค์ต้องมีคือ “Sense ของภาชนะในการเล่าเรื่อง”
นี่คือยุคแห่ง Information Overload สุด ๆ เพราะคอนเทนต์มีท่วม ใครต่างก็ทำคอนเทนต์ได้เอง หรือแม้กระทั่ง Google Search เราก็ไม่ใช่แล้ว หันไปเชื่อ ChatGPT ไปหามาให้หน่อย เมื่อ Information มันเยอะ พนักงานกับผู้บริหารบางครั้งจึงทำงานด้วยกันคนละ Logic ดังนั้นการเลือกที่จะตัดอะไรบางอย่างในการเล่าเรื่อง เพราะ ความสนใจ (Attention) ของคนเองก็ไม่ได้อยากฟังอะไรมากเกินไปในเรื่องเขาไม่อยากรู้
เราไม่มีวันรู้เลยว่าโลกข้างหน้าจะบีบให้เราทำคอนเทนต์สั้น, ยาว หรือเร่งรีบแค่ไหน แต่ท่ามกลางความต้องการเหล่านี้ สิ่งที่ในฐานะคนเล่าเรื่องต้องเข้าใจ คือ “Sense ของภาชนะในการเล่าเรื่อง” เพราะการเล่าเรื่องเปรียบเสมือน ‘น้ำ’ เมื่อน้ำอยู่ในแก้วมันก็จะเป็นแก้ว หรือต่อให้มันอยู่ในรูปแบบของ ‘ขวด’ มันก็จะเป็นขวดในอีกรูปแบบหนึ่ง
เรื่องเล่าที่ดี กลั่นกรองมาแล้ว ก็เป็นแบบนั้นเช่นกัน มันจะไปอยู่ในภาชนะไหนก็ได้ ที่เหมาะกับบริบทนั้น ๆ มันไม่มีอีกต่อไปแล้วคอนเทนต์หรือเรื่องเล่าที่อยากจะจับทุกอย่างมาไว้ในภาชนะเดียวกันหมด
Storytelling อยู่ในทุกเมื่อเชื่อวันของมนุษย์ อยู่ใน Human Interaction ของเราอยู่แล้ว สิ่งที่มนุษย์ต้องทำที่นอกเหนือจากการเล่าเรื่อง คือการใช้เครื่องมือให้เป็น! เพราะมนุษย์มี Tools ที่ล้ำมาก อย่าง Generative AI ที่วันนี้คลิกเดียวก็สร้างสรรค์คอนเทนต์ และวิดีโอได้ด้วยตัวคนเดียว ดังนั้นหน้าที่สำคัญของนักสร้างสรรค์ทุกคนคือ
🔹 เข้าใจ ‘น้ำ’ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ ว่าตัวตนของเราเป็นคนแบบไหน
การมี Sense ที่เรียกว่า ‘เข้าใจตัวเอง และเข้าใจว่าเรากำลังสื่อสารอะไรสำคัญมาก’ บางครั้งเราก็ต้องมีหมวกหลายใบในการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ สิ่งที่เรียกว่าน้ำมีความยืดหยุ่นสูง เมื่อน้ำไปอยู่ในภาชนะไหน มันจะปรับตัวได้เสมอ คนสร้างสรรค์ก็เช่นกัน ตัวอย่างเช่น
👉 น้ำอัดลมที่ซ่า แซ่บสุด ๆ
👉 น้ำผลไม้ ที่เน้นประโยชน์สูงสุด มีความเป็น Authentic
👉 น้ำเปล่า เน้นความเป็นธรรมชาติ เรียบแต่มีระดับ
เคล็ดลับสำคัญของเรื่องนี้: Relearn คือความท้าทายในการทำสิ่งใหม่ การเรียนรู้สิ่งที่เราเคยรู้แล้วด้วยมุมมองใหม่ และตระหนักถึงคุณค่าของความรู้ที่เราได้รับจากมุมมองนั้น ๆ ไม่ง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักสร้างสรรค์ต้องฝ่าด่านกำแพงนี้ เพราะในยุคนี้เรามีเรื่องใหม่ ๆ ที่บางครั้งต้องยอมทิ้งของเก่าเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ที่ดีขึ้น
🔹 เข้าใจ ‘เครื่องมือใหม่ ๆ’ เพื่อการทำงานที่แม่นยำ รวดเร็วขึ้น
การเข้าใจเครื่องมือ จะทำให้เราได้เปรียบ ตัวอย่างเช่น เราสามารถสร้าง Presentation ใหม่ ๆ เราสามารถสร้างการเล่าเรื่องที่ว้าวมากขึ้น หรือตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น รวมไปถึงยิ่งเราสามารถเข้าใจชาแนลใหม่ ๆ ที่เราอยากจะสื่อสารออกไปได้ ก็จะยิ่งแม่นยำขึ้น เสมือนการยิงปืนนัดเดียว ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพถึง 2 อย่าง คือเก่งเครื่องมือ และเก่งการเข้าใจชาแนลหรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ
✅ 4. เข้าใจแก่นการเล่าเรื่องด้วย “PIRIYA Framework”
เพราะการเล่าเรื่องที่ดีด้วย Humanize ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ลูกค้าเท่านั้น แต่ต้องตอบโจทย์ Business ได้จริง หรือต้องขายของให้ได้!
การเล่าเรื่องก็เหมือนกับการจีบสาว มันการันตีไม่ได้หรอกว่ามันจะสำเร็จ ในยุคนี้การเล่าเรื่องมีต้นทุนที่ต่ำ บางคนมีสมาร์ตโฟนเครื่องเดียวก็สื่อสารเล่าเรื่องในแบบของตัวเองได้แล้ว เมื่อใครต่างก็เล่าได้ เราต้องสร้างการเล่าเรื่องให้แตกต่าง และสื่อสารกับลูกค้าเข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยสูตรการเล่าเรื่อง “PIRIYA Framework”
📘 P - Purpose (วัตถุประสงค์)
การติดกระดุมเม็ดแรกสำคัญมาก หนึ่งในเคสที่ทางคุณพิ ได้เล่าให้เราฟังถึงการสร้างแบรนด์ด้วย Humanize แล้วเกิดเป็นรายได้จริง ๆ คือการเข้าไปร่วมสร้างสรรค์ร่วมกับแบรนด์ที่ชื่อว่า ‘Onetouch’ โดยการตั้งโจทย์เลยว่า เราจะทำอย่างไรให้แบรนด์นี้เป็นคนมากขึ้น! นี่แหละคือ Humanize แล้วไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ต้องเป็นคนมากขึ้น แต่ในเชิงการสื่อสาร หรือ Emotional Connection ก็ต้องสื่อสารอย่างจริงใจ ทำให้ผู้คนอินกับเรื่องเล่าของเรา เข้าถึงโปรดักต์อย่างลึกซึ้ง
ตั้งแต่การออกแคมเปญในการวัดขนาดน้องชาย เพราะการใช้ถุงยางอนามัยที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลเสียได้ในระยะยาว หรืออีกเคสคือการทำงานร่วมกับ Netflix ในการผลิตหนังเรื่อง Doctor Climax ด้วยการสื่อสารแฮชแท็กที่ชัดเจนว่า ‘เพราะ #ONEนี้เรื่องเพศTOUCHได้’ ซึ่งใช้ความ Humanize ในการนำเสนออย่างจริงใจ
การสร้างสรรค์ไอเดียสุดแปลก ไปจนถึงผลลัพธ์ที่ห่วงใยสังคมอย่างแท้จริง ซึ่ง Purpose ของ Onetouch กำลังจะบอกว่านอกจากแบรนด์ได้รายได้แล้ว สังคมต้องได้เช่นกัน วันนี้เรื่องเพศเราคุยกันอย่างเสรี อย่างเหมาะสมได้แล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไรก็ตาม เราไม่สามารถพูดเรื่อยเปื่อยได้ แต่เราต้องคิดถึงผลกระทบต่อสังคมด้วย
📘 I - Insight (พฤติกรรมเชิงลึก)
เมื่อ Purpose เราชัด แบรนด์และนักเล่าเรื่องต้องรู้ Insight ให้ลึกมากพอ เพราะพฤติกรรมของคนแตกต่างกัน รวมถึงแพลตฟอร์มที่เขาไปอยู่ก็มีความลึกที่แตกต่างกันไป บางที่เขาใช้สำเนียงภาษาแบบนี้ บางที่เขาคุยด้วยความทุกข์ประเภทนี้ เขาใช้ Influencer ประเภทนี้ในแต่ละแพลตฟอร์ม ดังนั้นมันมีความละเอียดอ่อนอยู่ หาให้เจอว่า Consumer ของคุณอยู่ที่ไหน แล้วลงไปเข้าใจให้ลึกมากพอจริง ๆ เพื่อเล่าเรื่องให้ถึงมากพอ
📘 R - Relatable (การเชื่อมโยงระหว่าง Storytelling + Insight)
จะทำอย่างไรให้เราสามารถนำเรื่องเล่าระหว่าง Storytelling + Insight มาเชื่อมร่วมกันได้ เพื่อหามุมมองใหม่ ๆ ของการเล่าเรื่อง เราไม่ได้ขายของด้วย Functional เพียงอย่างเดียวนะ แต่เราจะขาย Emotional อย่างไรให้คนจดจำ และกลับมาสู่ยอดขายได้จริง
📘 I - Imagination (จินตนาการ)
ที่ผ่านมาเราจีบเขาอย่างไร เราเล่าเรื่องอย่างไร แล้วในวันนี้มันต้องมีอะไรบางอย่างที่เราทำได้ดีกว่านี้ มันต้องมีอะไรบางอย่างที่เราโฟกัส เราลองจินตนาการมันใหม่อีกครั้ง ว่าในวันนี้เราเป็นคนแบบไหน หนึ่งในตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้คือเคส #ธรรมดาที่ทำมาดี ของแบรนด์ห่านคู่
ที่บอกว่า วันนี้เราขยับมาเป็นคนทั่วไปได้นะ โดยนำเสนอในมุมที่ต่างจากเดิม แล้วเราจะสามารถเล่าเรื่องใหม่ได้โดดเด่นขึ้นได้นั่นเอง นี่คือพลังของจินตนาการ มันเป็นส่วนประกอบสำคัญ โดยเลิกใช้คำว่าที่ผ่านมาเราเคยเป็นแบบนี้ เราเคยทำอะไรมา อย่าพึ่งมีข้อจำกัดว่าทำไม่ได้เด็ดขาด อย่าติดอยู่ในกรอบแบบเดิม มันไม่มีทางอยู่รอดได้เลย ถ้ายังติดอยู่ในแพทเทิลเดิม ๆ
📘 Y - Your Voice and Your Authentic (อะไรที่เป็นของแท้สำหรับคุณเท่านั้น!)
เสียงของเราที่เป็นตัวตนของเราแล้วไม่เขิน แล้วมันใช่! คืออะไร เมื่อไหร่ที่การสื่อสารของเราเป็น ของแท้ที่ใส่ความจริงใจ (Authentic) การเล่าเรื่องมันจะมีเอกลักษณ์ที่ชัด แล้วเรื่องนี้มันจะส่งผลตั้งแต่การสื่อสารภายในองค์กร หรือการไป Collaboration กับแบรนด์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่แบรนด์ก็มักจะเลือกแบรนด์ที่มี ‘Your Authentic’ ชัดเจน รวมไปถึงเรายังสามารถประเมินได้ด้วยว่า เราควรจะเลือกไปทำร่วมกับใคร อะไรที่เหมาะกับแบรนด์เราอย่างแท้จริง
เมื่อไหร่ที่เราไม่รู้จัก Your Voice and Your Authentic ของตัวเอง จะยิ่งทำให้ตัวตนเราชัดน้อยลง รวมไปถึงการตัดสินใจหลาย ๆ ด้านก็จะยากขึ้น
📘 A - Action (การกระทำของเรา)
สุดท้ายแล้วเราต้องไม่ลืมว่าเราจะสื่อสารไปเพื่ออะไร เพื่อขายของ เพื่อหา Engagement และเราต้องกลับมาที่เรื่องของภาชนะ (ในข้อ 3) ว่าในแต่ละวาระการเล่าเรื่องแต่ละครั้งมันจำเป็นต้อง Action กับคนที่ต่างกันอย่างไร นำเสนอ Action ให้ชัดด้วยภาชนะที่เหมาะสม อย่าพยายามจะเอาทุกอย่างได้ทั้งหมด มันยากนะ! เพราะแต่เดิมการเล่าเรื่องมันคือ ความสม่ำเสมอในการทำ (Consistency of action)
เมื่อเราทำซ้ำมากพอ ให้ Action ไปอยู่ในใจผู้บริโภค ทำให้เขาเห็นบ่อย ๆ มันจะเริ่มเกิดผลซึ่งต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ เพื่อให้เขารอดูเนื้อหาต่อ ๆ ไปของเรา ไม่ได้เน้นขายของเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยเรื่องของ Engagement ด้วยเช่นกัน
และทั้งหมดนี้คือ Humanize งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ มันไม่ได้มีองค์ประกอบเพียงแค่ความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ แต่สิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ แบรนด์ไหนที่สามารถ “เข้าใจความเป็นมนุษย์ และสะท้อนตัวตนผ่านความเป็นคนได้ตรงใจผู้บริโภค” จะได้เปรียบกว่าแบรนด์ที่ยังคงสร้างสรรค์ แต่กลับไม่ทำให้ลูกค้าเชื่อได้ เพราะ แบรนด์ไม่ใช่แค่เครื่องมือในการหาเงิน แต่แบรนด์คือ Tools ที่ทำให้มนุษย์ยังเชื่อมโยงกันได้ เป็นส่วนหนึ่ง และส่วนร่วมกันระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค
✍🏻 สัมภาษณ์, เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ
🎨 ภาพประกอบ: ชนสรณ เวชสิทธิ์
3 บันทึก
2
3
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย