9 ม.ค. เวลา 12:00 • นิยาย เรื่องสั้น

3 ขั้นตอน เปลี่ยนนักเขียนสมัครเล่นเป็นนักเขียนอาชีพ

ความแตกต่างระหว่างมืออาชีพ กับมือสมัครเล่นในส่วนของการคิดเรื่องก็คือ
มือสมัครเล่น จะคิดจาก 👉 รายละเอียด > โครง > หัวใจ
แต่มืออาชีพ จะคิดจาก 👉 หัวใจ > โครง > รายละเอียด
เชื่อมั้ยครับว่ามันมีแค่นี้จริง ๆ ที่ต่างกันในส่วนของการคิดเรื่อง... แล้วทำไมความต่างแค่นี้ แค่อันแรกกับอันสุดท้ายต่างกัน ทำไมมันถึงทำให้เราสามารถเปลี่ยนจากมือสมัครเล่นไปเป็นมืออาชีพได้เลย ลองมาดูกันครับ
ก่อนอื่นเราขออธิบายสามสิ่งที่เรากล่าวถึงไปด้านบนก่อนครับ นั่นก็คือ หัวใจ โครง และรายละเอียด
  • 1️⃣ตัวแรกสุดก่อน นั่นก็คือ “หัวใจ” ของเรื่องของเรา
ซึ่งหัวใจนี้เราจะแบ่งเป็นสามห้องด้วยกัน นั่นก็คือ Theme Premise และ Genre ซึ่งสามสิ่งนี้จะเป็นตัวกำหนดตัว “หัวใจ” ของเรื่องของเรา ส่วนสามคำล่าสุดนี้ ขออธิบายไปกันเร็ว ๆ สั้น ๆ เลยนะครับ
❤️Theme คือ แก่นสาร หัวใจสำคัญของเรื่อง หรือสิ่งที่เราอยากจะบอกกับผู้คน ถ้าเป็นนิทานก็คือสิ่งที่เราอยากจะสอนคนอื่นจำพวก “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...” นั่นเอง ซึ่งมันจะเป็นส่วนคุณค่าของเรื่องของเราครับ เมื่อคนอ่าน ๆ จนควรจะได้รับสารนี้อย่างชัดเจน และจะดีมากหาก Theme นั้นเป็นทรรศนะของเราที่เราอยากจะบอกคนอื่นจริง ๆ เพราะ Theme แบบนี้จะทำให้เราสามารถสร้างเรื่องที่แข็งแรงได้เพราะว่าเราอินกับมันจริง ๆ
❤️Premise คือ ประโยคหลักสำคัญ หรือประโยคสมมุติ ถ้าส่วน Theme ว่าด้วยเรื่องคุณค่า ส่วนของ Premise จะว่ากันด้วย ความน่าสนุก ความน่าสนใจ เอาจริง ๆ มันก็ว่าด้วยเรื่อง ไอเดียแหละครับ หรือบางทีมันจะไปทางแนวความคิดหรือ Concept ก็ได้นะ มันก็มักจะนำมาด้วยคำว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้า... เป็นประมาณสมมุติฐานที่น่าสนใจ
❤️Genre คือ แนวเรื่อง ส่วนนี้ก็สำคัญ นักเขียนทุกคนมีแนวเรื่องที่อยากเขียน หรือมีแนวที่ไม่ได้อยากเขียนหรอกแต่ดันทำได้ดีจนเป็นจุดขาย และในแต่ละแนว มันก็มีขนบมีท่าบังคับหรือแนวทางที่ควรจะต้องมี แต่ถ้าย้ายฝั่งไปทางคนอ่าน แนวเรื่องของเราก็คือรสนิยมของคนอ่าน เรื่องบางแนวเราชอบแต่กลุ่มคนอ่านน้อยก็เป็นไปได้ สำหรับเรามันเลยเป็นหนึ่งในหัวใจที่เราต้องเห็นและชัดเจนก่อนที่เราจะลงมือเขียน เพราะถ้าเราสื่อสารแนวไปผิด คนอ่านอาจจะต่อต้านเรื่องของเราเพราะมันอาจจะไม่ตรงกับแนวที่เขาคิดก็ได้
พอเห็นลักษณะของหัวใจทั้งสามห้องแล้ว ทุกห้องมีความสำคัญหมด หัวใจชัดเดี๋ยวส่วนอื่นจะชัดตามไปด้วยครับ
  • 2️⃣ ต่อมาคือ “โครง”
“โครง” คือส่วนที่กำหนดรูปร่างของเรื่องของเรา ให้เราพอมองเห็นคร่าว ๆ ก่อนว่าเรื่องของเราจะเป็นยังไง มันเป็นเหมือนโครงกระดูกของคน ๆ หนึ่ง โครงกระดูกเนี่ยจะทำให้เราเห็นว่าภายนอกเขาจะเป็นคนตัวเล็ก ตัวใหญ่ สูง เตี้ย อย่างไร และทำให้เราเห็นความสมดุลของรูปร่างของเรื่องของเราทั้งหมด สิ่งสำคัญที่มืออาชีพจะคำนึงถึงคือ การทำโครงให้สอดคล้องกับหัวใจ เพราะหัวใจที่ชัดเจนจะกำหนดรูปร่างให้กับโครงครับ
คำสำคัญในส่วนของการทำโครงเรื่อง เราให้ไว้ 3 คำครับ นั่นคือ Character , Lock Story Line , Plot
เหมือนเดิมครับมาทำความรู้จักกับทั้งสามคำนี้กันไว้ก่อน
📌Character คือ ตัวละคร ไม่ว่าเรื่องของเราจะมีไอเดียที่สดใหม่ขนาดไหน มีแก่นที่มีคุณค่าขนาดไหน มีแนวที่เป็นที่นิยมขนาดไหนก็ตาม แต่เอาจริง ๆ แล้วเมื่อเรื่องเริ่มต้นคนอ่านจะติดตามการเดินทางของตัวละคร เขาจะสุข เศร้า เหงา ลุ้น ระทึก ไปตามตัวละคร เราจึงต้องมีตัวละครที่ตอบโจทย์หัวใจของเรื่อง ตัวละครที่น่าสนใจ ตัวละครที่น่าเอาใจช่วย ตัวละครที่น่าติดตาม ดังนั้นเราเลยให้ราคากับตัวละครเป็นเหมือน “กระดูกสันหลัง” ของเรื่องของเราเลยครับ
📌Lock Story Line คือองค์ประกอบหลักของเรื่อง เป็นส่วนหลักเหมือนกับกระดูกชิ้นหลักของร่างกายเรา ซึ่งตัวละครก็รวมอยู่ในนี้อยู่ด้วยครับ เราจะมี 5 องค์ประกอบหลักๆ คือ
โลกของเรื่อง
ตัวละครที่จะดำเนินเรื่อง
เป้าหมายหลักของตัวละคร
อุปสรรคที่มาขัดขวางไม่ให้ตัวละครของเราบรรลุเป้าหมาย และเกิดความผลิกผัน
บทสรุปของเรื่องราวของเรา
และเขาได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้น
แน่นอนครับว่ามันต้องสอดคล้องกับหัวใจของเรื่องด้วย เหมาะสมกับแก่น และแนวของเรามั้ย และมันยังอยู่ในประโยคสมมุติของเราหรือเปล่า
📌Plot คือ โครงเรื่อง เป็นการประกอบร่างกระดูกของเราให้สมบูรณ์ครับ ในรูปแบบของ Story BOWL เองกำหนดให้โครงเรื่องมีส่วนประกอบเป็น 3 องก์ 9 ส่วน 27 ซีเควนซ์ ซึ่งในส่วนของโครงสร้างนี่เอาจริง ๆ ก็มีหลายหลักสูตร หลายตำรามากเลยครับ ใครชอบโครงสร้างตำราไหนก็ใช้แบบนั้นก็ได้ครับ แต่ขอให้ได้มีโครงก่อนที่ไปลงรายละเอียดนะ
ทั้งหมดด้านบนคือส่วนของโครงนะครับ ยังไม่หมด เรายังเหลือส่วนสุดท้ายอีกหนึ่งส่วนนะ
  • 3️⃣ ส่วนสุดท้ายคือ “รายละเอียด” นั่นเอง
ส่วนนี้ก็เป็นส่วนที่สำคัญมาก ๆ ถึงสำคัญที่สุด (เอาจริง ๆ ที่ว่ามาทั้งหมดก็สำคัญทั้งหมดเลย) เพราะ มันคือการออกแบบรายละเอียดต่าง ๆ ในเรื่องของเรา ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเหตุการณ์ สถานการณ์ การลำดับเรื่อง การบรรยาย การออกแบบบทสนทนา
ดังนั้นในขึ้นตอนสุดท้ายเราจะขอแบ่งออกเป็นสองขั้นตอนนะครับ คือ ขั้นตอน Treatment กับขั้นตอนการเขียนนิยาย ซึ่งเป็นขั้นตอนรองสุดท้าย เดี๋ยวเราลองมาดูทั้งสองขั้นตอนกัน
🖊️Treatment เราเรียกว่าเป็นขั้นตอนทำ “โครงเรื่องขยาย” คือเราจะทำการขยาย Plot ของเราให้มีรายละเอียด เหตุการณ์ สถานการณ์ การลำดับเรื่อง เขียนเล่าออกมาในรูปแบบเรื่องเล่าก่อนครับ ช่วงนี้จะเป็นช่วงของการดีไซน์ การออกแบบเลย หากเราทำสองขั้นตอนแรกมาดี เราจะมีไม้บรรทัดที่ชัดเจนในการออกแบบรายละเอียดของเรื่องราว
🖊️สุดท้ายคือการเขียนนิยาย เราจะเน้นไปที่การบรรยายซึ่งมันจะเป็นสิ่งที่คนอ่านจะได้อ่านจริง ๆ (ขั้นตอนก่อนหน้าไม่มีส่วนไหนที่คนอ่านจะได้เห็นเลยครับ มันคืองานหลังบ้าน) เป็นงานหน้าบ้าน เราจะต้องบรรยายให้คนอ่านเห็นภาพ ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึก นี่คือส่วนที่เน้นเรื่องรายละเอียดอย่างจริงจังเลย
หากเป็นคนจากหัวใจ มาสู่โครง ตอนนี้เราจะเห็นรูปร่างหน้าตา รายละเอียดต่าง ๆ ที่เราตั้งใจใส่ลงไปให้คนอ่านได้เห็น
รู้จักทั้งสามคำหลักนี้ไปแล้ว น่าจะพอเห็นคร่าว ๆ ของสิ่งที่เราได้เกริ่นนำกันไปที่ตอนต้นกันไปแล้วนะครับ ที่เราได้บอกว่ามืออาชีพมักจะเรียงการทำงานแบบนี้
✅ หัวใจ > โครง > รายละเอียด
แต่ถ้าหากเป็นมือสมัครเล่นหรือนักเขียนมือใหม่ มักจะเป็น
❎รายละเอียด > โครง > หัวใจ หรืออาจจะเป็น
❎รายละเอียด > โครง > หัวใจไม่ครบห้อง หรืออาจจะเป็น
❎หัวใจห้องแนวเรื่อง > รายละเอียด > โครง
เกิดขึ้นได้หลายแบบเลยครับซึ่งจะบอกว่ามันไม่ได้ผิดแบบคอขาดบาดตายขนาดนั้นนะครับ บางทีแค่เรายังไม่รู้ขั้นตอนเพราะว่าเราคิดแบบการอ่าน เวลาเราอ่านมันจะเป็น
รายละเอียด > โครง > หัวใจ
คือเราจะตามจากรายละเอียด ตามไปเรื่อย ๆ เราถึงเห็นโครงสร้าง(ซึ่งแน่นอนเราไม่สนใจมัน มันทำให้เรารู้สึก แต่บางทีเราก็ไม่รู้ว่ามันมีอยู่) สุดท้ายหัวใจเราจะได้รับรู้ในตอนจบของเรื่องเมื่อประมวลผลทั้งหมดได้แล้ว
ดังนั้นเวลาเราเขียนแบบไม่เคยเขียนมาก่อน เราจะเขียนจากความคุ้นชินที่เราอ่าน หรือบางทีนักเขียนมืออาชีพเก่ง ๆ เราก็ไม่เห็นขั้นตอนของเขาแต่เชื่อเถอะครับ ว่าเค้ามีขั้นตอนเหล่านี้อย่างแน่นอน แต่จะเขียนสั้นหรือเขียนยาวก็แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน บางคนอาจจะมีไอเดียนิยายจาก Character เขาก็จะเอา Character มาคิดส่วนหัวใจก่อน แล้วก็ยังต้องตามหาแก่นและแนวเรื่องให้ครบก่อนจะทำโครงอยู่ดีครับ
💌หากใครเป็นนักเขียนมือใหม่ก็อยากให้ลองเรียงลำดับขั้นตอนตามแบบเหล่ามืออาชีพก่อนครับ มันอาจจะไม่ถนัดสำหรับหลายๆคน แต่ถ้าทำจนชินแล้ว ผลที่ได้คือ
เรื่องของเราจะสมดุล
เรื่องของเราไม่ออกทะเล
และเราจะเขียนในส่วนรายละเอียดได้เร็วมากกว่าการเขียนไปคิดไป
และสุดท้าย การเข้าใจโครงสร้าง จะทำให้เราสามารถเล่นกับองค์ประกอบหลักเพื่อสร้างสรรค์เรื่องราวที่แปลกใหม่ได้อีกมากมายมหาศาล
ยังไงก็ลองดูนะครับ
มันก็ประมาณนี้ล่ะครับ
โฆษณา