9 ม.ค. เวลา 10:03 • การตลาด

สรุปฟีเชอร์ใหม่ Messaging Ads ยิงโฆษณาจาก TikTok เข้า FB Messenger ช่วยแบรนด์ปิดการขาย ผ่านแชต

ล่าสุด TikTok ได้ประกาศเปิดให้ใช้บริการฟีเชอร์ Messaging Ads ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว
หลังจากที่ TikTok ประกาศเปิดตัวฟีเชอร์ Messaging Ads ไปเมื่อปีที่แล้ว และเปิดให้ทดลองใช้ได้ในบางแอ็กเคานต์ และในบางภูมิภาคเท่านั้น
แล้วฟีเชอร์ Messaging Ads บน TikTok คืออะไร ? MarketThink สรุปให้ในโพสต์นี้
- ฟีเชอร์ TikTok Messaging Ads ก็คือ ฟีเชอร์ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าได้ ด้วยการสนทนาผ่าน Direct Message ได้โดยตรง
ซึ่งปกติในวิดีโอ หรือในไลฟ์ จะมีปุ่ม Call to Action ให้แบรนด์เลือกใช้ให้เหมาะสมกับคอนเทนต์ที่โปรโมต เช่น Shop now, View Product, Learn more, Watch now และแถบโลเคชันที่มีปุ่ม Book
แต่ถ้าแบรนด์เลือกโฆษณาด้วยฟีเชอร์ TikTok Messaging Ads จะมีปุ่ม Call to Action ใหม่คือ Send Message บนหน้าวิดีโอ โดยฟีเชอร์นี้จะมีทั้งหมด 2 รูปแบบ คือ
1. Direct Messaging Ads
เป็นการพาผู้ชมไปที่หน้าส่งข้อความของแอป TikTok โดยตรง ซึ่งวิธีการโฆษณาแบบนี้จะทำให้ลูกค้าสามารถเริ่มแชตกับแบรนด์ได้เลยโดยไม่ต้องออกจากแอป
2. Instant Messaging Ads
เป็นการพาผู้ชมไปที่หน้าแพลตฟอร์มส่งข้อความอื่นที่ไม่ใช่ TikTok เช่น Facebook Messenger หรือ WhatsApp ทำให้แบรนด์สามารถสนทนากับลูกค้า ผ่านแอปพลิเคชันอื่นที่ลูกค้าต้องการแทนได้
ซึ่งถ้าถามว่า ทำไม TikTok ถึงต้องมีฟีเชอร์ยิงโฆษณาไปแพลตฟอร์มอื่น ๆ ?
ก็อาจเป็นเพราะว่า ลูกค้าบางคนอาจจะสะดวกหรือคุ้นเคยในการสนทนาผ่านแชตบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ มากกว่า
รวมถึงบางแพลตฟอร์มยังมีฟีเชอร์ที่สะดวกต่อการปิดการขายมากกว่า
เช่น Facebook Messenger ที่มีฟีเชอร์สร้างคำสั่งซื้อผ่านแชต รวมถึงรองรับการส่งรูปภาพ วิดีโอ หรือเอกสาร ซึ่งบางอย่าง TikTok Direct Message ยังไม่รองรับ
แล้ว TikTok ได้อะไรจากฟีเชอร์นี้ ?
หลัก ๆ ก็คือ เป็นฟีเชอร์ที่ช่วยให้ TikTok เป็นช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น และยังเป็นฟีเชอร์ที่ทำให้สามารถเก็บพฤติกรรมลูกค้าได้อย่างละเอียด
นอกจากในฝั่งของ TikTok แล้ว ในฝั่งของแบรนด์ที่โฆษณาผ่านฟีเชอร์ Messaging Ads ก็ยังช่วยลดต้นทุนการโฆษณาลงได้
เพราะใช้ตัวชี้วัดเป็น “Cost per Conversation” แทนการใช้ยอดคลิก (Cost per Click) เป็นตัววัดประสิทธิภาพการโฆษณา
ซึ่งเหมาะมาก ๆ สำหรับธุรกิจที่ต้องการการสื่อสารแบบ 2 ทาง หรือจำเป็นต้องปิดการขายผ่านการสนทนากับลูกค้าโดยตรง
โดยหลังจากลูกค้าเริ่มต้นการสนทนาด้วยตัวเองแล้ว แบรนด์ก็สามารถนำเซลล์มาพูดคุยกับลูกค้า และขอข้อมูลเพิ่มเติมอื่น ๆ จากลูกค้าได้ เพื่อนำมาใช้วางแผนกลยุทธ์การตลาดต่อไป
ตัวอย่างธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากฟีเชอร์นี้เช่น
- ธุรกิจรูปแบบ B2B ที่ต้องการ Lead ที่มีศักยภาพ มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าของแบรนด์สูง
- ธุรกิจที่สินค้ามีมูลค่าสูง ทำให้ลูกค้าต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลและตัดสินใจมากขึ้นอย่าง เช่น ธุรกิจขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, Gadget, รถยนต์, อสังหาริมทรัพย์ และคอร์สเรียนต่าง ๆ
โฆษณา