Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
10 ม.ค. เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“กับดักหนี้ครัวเรือน” โจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย เผยมูลค่าหนี้ครัวเรือนไทยล่าสุดในไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 16.34 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.0% ของ GDP ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่คาดว่าจะไม่สร้างรายได้ แม้ว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยจะผ่อนคลายลงตั้งแต่ต้นปี 2567 แต่ทำไมยังมีความน่ากังวลและเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายเศรษฐกิจไทย บทความนี้มีคำตอบค่ะ
📍 พัฒนาการหนี้ครัวเรือนไทยกับสถานการณ์ปัจจุบัน เปลี่ยนไปมากแค่ไหน?
เมื่อย้อนดูสถิติ 13 ปีล่าสุด (2555Q3 – 2567Q3) ของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการประเมินสุขภาพทางการเงินของครัวเรือนและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ พบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ทะลุเกิน 80% ตั้งแต่ไตรมาส 4/2556 จากผลกระทบน้ำท่วมใหญ่และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลให้สินเชื่อโตเร็วมากในช่วงเวลาดังกล่าว
ต่อมาเริ่มทรงตัวเหนือระดับ 80% มาต่อเนื่อง กระทั่งเข้าสู่ช่วงโควิด เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างมากทำให้รายได้ประชาชนลดลง จึงมีการกู้ยืมเพื่อพยุงธุรกิจและการบริโภค อีกทั้งมีนโยบายพักหนี้จากภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP พุ่งทะลุเกิน 90% ในที่สุด
ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงเศรษฐกิจทยอยฟื้นฟู สถานการณ์หนี้ครัวเรือนเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ต้นปี 2567 ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 89.8% ปรับลงมาต่ำกว่า 90% เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีครึ่ง ส่วนหนึ่งเกิดจากความสามารถในการก่อหนี้ใหม่ที่ลดลง และจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตามสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย
📍 ครัวเรือนไทย สร้างหนี้ไปทำอะไรบ้าง
สำหรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนไทยจำแนกตามวัตถุประสงค์การใช้ ซึ่งบ่งบอกถึงพฤติกรรมการกู้ยืมและการใช้จ่ายของครัวเรือน พบว่าในช่วง 13 ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากอย่างมีนัยสำคัญ และส่วนใหญ่จัดเป็นหนี้ประเภทไม่ก่อให้เกิดรายได้
สัดส่วนการใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ มากที่สุด 3 อันดับแรกของไตรมาส 3/2567 ได้แก่
1. เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย สัดส่วน 34% มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
2. เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น สัดส่วน 20% มีแนวโน้มทรงตัว
3. เพื่อประกอบธุรกิจ สัดส่วน 18% มีแนวโน้มทรงตัว
ขณะที่การใช้เพื่อการศึกษาและเพื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง
📍 กับดักหนี้ครัวเรือนไทยกับการรับมือ
จากข้อมูลที่ผู้เขียนได้นำเสนอในสองหัวข้อแรก ชี้ให้เห็นได้ว่า “กับดักหนี้ครัวเรือนไทย” เป็นปัญหาที่สะสมและอยู่คู่สังคมไทยมายาวนานแล้ว จากภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจต่าง ๆ และการรับมือแก้ปัญหาหนี้อย่างไม่ถูกจุด รวมทั้งพฤติกรรมการก่อหนี้ของครัวเรือนเองที่ส่วนใหญ่สร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยมีความน่ากังวลใจมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีผลต่อการฉุดรั้งการพัฒนาประเทศในอนาคต
การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ การเพิ่มความรู้ทางการเงิน และการส่งเสริมการออม เพื่อให้ครัวเรือนสามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้และมีความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว
ผู้เขียน: เพ็ญพิชชา สกลวิทยานนท์ Economic Data Analytics
ภาพประกอบ: บริษัทก่อการดี
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
เศรษฐกิจ
การเงิน
ข่าวรอบโลก
4 บันทึก
13
1
4
13
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย