“เก้ง” กับ “เขลง” สัมพันธ์กันอย่างไร…? ไปหาคำตอบกัน

“คาใจ…? ช่วงนี้ พบ เก้ง แวะเวียนมาใกล้ที่ทำการฯ บ่อยๆ ด้วยความสงสัยจึงเข้าไปดูในบริเวณที่เก้งหากินอยู่เป็นประจำ แหงนหน้าขึ้นมองฟ้า อ้อ นางดำนี่เอง ที่ผลกำลังสุกร่วงลงพื้นถนน เป็นพืชที่ให้ผลเป็นอาหารสัตว์ป่าที่เก้งชื่นชอบ”
เรื่องเล่าสั้นๆ ประกอบภาพถ่ายไม่กี่ภาพของพี่ชัยพร ทับทิมทอง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าเขาภูหลวง พูดถึงความสัมพันธ์ของสัตว์ป่าอย่าง “เก้ง” ที่วนเวียนมากินลูก “เขลง” ซึ่งชาวบ้านแถบนี้เรียกอีกชื่อว่า “นางดำ” นั่นเอง แต่จริงๆ แล้วภาพชุดนี้เล่าเรื่องได้ยาวกว่านั้นตรงที่ว่า…
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้กว่า 30 ปีก่อน พื้นที่แห่งนี้เป็นเพียงไร่ร้าง ทุ่งหญ้าคา ที่มีปัญหาไฟป่าเข้าทุกปี แต่เมื่อมีโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ แปลง FPT 49 เข้ามาดำเนินการปลูกต้นไม้และฟื้นคืนผืนป่าบริเวณนี้ขึ้นมา โดยความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนโดยรอบ
จนทำให้ปัจจุบัน ป่าฟื้นคืนกับมาเป็นป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์มากผืนหนึ่งของชาวโคราช ชนิดที่ว่าแทบไม่รู้มาก่อนว่าพื้นที่แห่งนี้เคยไปทุ่งโล่ง หรือดูไม่ออกแม้กระทั่งว่าเคยเป็นแปลงปลูกป่า เพราะต้นไม้ พรรณพืชที่พบในปัจจุบันมีทั้งที่ปลูกตามโครงการในอดีต และตามที่ขยายพันธุ์เข้ามาเองตามธรรมชาติ ทั้งจากการพัดพาเข้ามาตามกระแสลม น้ำ และตามมาพร้อมสัตว์ป่าที่กลับเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่
เขลง เป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้ที่ไม่ได้มีในรายงานการปลูก แต่กลับเป็นชนิดพันธุ์ที่ขยายพันธุ์เข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ได้ดีมากๆ โดยพบว่าเป็นพืชกลุ่มแรกที่มีการกระจายพันธุ์เข้ามาเองตามธรรมชาติ และพบกระจายเกือบทั่วทุกพื้นที่ของป่า พร้อมๆ กับรายการการพบเห็นสัตว์ป่ากลับเข้ามากินและใช้ประโยชน์ในพื้นที่แห่งนี้
ซึ่งภาพชุดนี้ของท่านหัวหน้าเขตฯ น่าจะพออธิบายได้เป็นอย่างดีว่า ธรรมชาติมีกลไกลในการฟื้นตัวเองได้อย่างไร ป่าไม้ ต้นไม้ สัตว์ป่า มีความสัมพันธุ์ในเชิงเกื้อกูลกันได้อย่างไร ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ คุณค่าของทรัพยากรป่าไม้ ก็น่าจะพออธิบายได้ด้วยภาพชุดนี้
บทความ : กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา)
ภาพ : นายชัยพร ทับทิมทอง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าเขาภูหลวง
ป่าอนุรักษ์ : เขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าเขาภูหลวง จังหวัดนครราชสีมา
#เก้ง #เขลง #นางดำ #ปลูกป่า #ฟื้นฟูป่า
#เขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าเขาภูหลวง #นครราชสีมา
#สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่7
#กรมอุทยานแห่งชาติ
โฆษณา