Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
efinanceThai - สำนักข่าวหุ้น และการลงทุน
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
10 ม.ค. เวลา 03:11 • หุ้น & เศรษฐกิจ
efinanceThai
ปี 67 หุ้นกลุ่ม ปตท. ดิ่งยกแผงหลังงบฯทรุด โบรกฯมองผ่านจุดต่ำสุด แต่ยังฟื้นช้า
ปี 67 หุ้นกลุ่ม ปตท. ดิ่งยกแผงเฉลี่ย 29% หลังงบฯส่วนใหญ่อ่อนแอตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ได้ปรับตัวขึ้นเท่าที่ควร ด้านโบรกฯประเมินผลงานผ่านจุดต่ำสุดช่วง Q3/67 ไปแล้ว หลังจากนี้จะเห็นการค่อย ๆ ฟื้นตัวไตรมาสต่อไตรมาส แต่การเติบโตปี 68 ยังต้องลุ้นเหนื่อย !
*** ราคาหุ้นกลุ่ม ปตท. ปี 67 กอดคอทรุดเฉลี่ย 29%
"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจข้อมูลราคาหุ้น กลุ่ม ปตท. ปี 67 พบว่า ปีที่แล้ว 7 บริษัท ในกลุ่ม ปตท. ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ราคาหุ้นปรับตัวลงทั้งหมด 11.19 - 47.44% หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยการปรับตัวลงตลอดระยะเวลา 1 ปี กว่า 29.47% ดังนี้
ราคาหุ้น กลุ่ม ปตท. ปี 67
โดย บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่ราคาหุ้นปี 67 ปรับตัวลงมากที่สุดถึง 47.44% ซึ่งในปี 67 ราคาหุ้นปรับตัวลงต่ำสุดที่ 24.50 บาท/หุ้น ทำระดับราคาหุ้นต่ำสุดใหม่ (นิวโลว์) ในรอบเกือบ 4 ปี รองลงมา คือ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ที่ราคาหุ้นปรับตัวลง 39.11% โดยราคาหุ้นปี 67 ทำระดับต่ำสุดที่ 1.21 บาท/หุ้น ทำนิวโลว์รอบกว่า 23 ปี
นอกจากนี้ ที่เหลืออีก 5 บริษัท ราคาหุ้นในปี 67 ยังปรับตัวลงมากกว่า 10% ทั้งหมด นำโดย บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ที่ราคาหุ้นปรับตัวลง 36.62% โดยราคาหุ้นทำจุดต่ำสุดที่ราคา 22.20 บาท/หุ้น ทำนิวโลว์ในรอบเกือบ 4 ปี, บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ราคาหุ้นปรับตัวลง 30.37% โดยราคาหุ้นทำจุดต่ำสุดที่ 12.90 บาท/หุ้น ปรับตัวลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 64
ด้าน บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ราคาหุ้นปรับตัวลง 21.13% โดยราคาหุ้นปรับตัวลงต่ำสุดที่ 35.75 บาท/หุ้น ทำนิวโลว์ในรอบเกือบ 7 ปี, บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ราคาหุ้นปรับตัวลง 20.40% โดยราคาหุ้นปรับตัวลงต่ำสุดที่ราคา 116 บาท/หุ้น ทำนิวโลว์ในรอบเกือบ 2 ปี และ บมจ.ปตท. (PTT) ราคาหุ้นปรับตัวลง 11.19% โดยราคาหุ้นปรับตัวลงต่ำสุดที่ราคา 30.50 บาท/หุ้น ทำนิวโลว์ในรอบ 1 ปีครึ่ง
ทั้งนี้ หากพิจารณาราคาหุ้นกลุ่ม ปตท. ตลอดทั้งปี 67 จะพบว่า ราคาหุ้นของกลุ่มทั้ง 7 บริษัท ที่ปรับตัวลง ส่วนใหญ่มักจะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค.67 เป็นต้นมา
*** ปตท.ชี้งบฯ Q3/67 ทรุดหนัก จาก 3 ธุรกิจหลัก
สอดคล้องกับ ผลการดำเนินงานปี 67 ของกลุ่ม ปตท. ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปียังสามารถเติบโตจากปีก่อนได้ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นโดดเด่นนัก กระทั่งเมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาส 3/67 ผลการดำเนินงานของกลุ่ม กลับหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากช่วงดังกล่าวที่มีกำไรสุทธิ 16,324 ล้านบาท ลดลง 47.8% จากปีก่อน และลดลง 54% จากไตรมาสก่อน โดยเมื่อรวมกำไรสุทธิงวด 9 เดือน ปี 67 กลุ่ม ปตท. มีกำไรสุทธิ 80,761 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนได้เพียง 1.9% เท่านั้น
โดย ปตท. ชี้แจงว่า ผลการดำเนินงานช่วงไตรมาส 3/67 ที่อ่อนแอนั้น มีสาเหตุมาจาก 3 ธุรกิจหลักได้รับผลกระทบดังนี้
1.ธุรกิจการกลั่น มีผลการดำเนินงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง ปตท.และบริษัทย่อยมีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันในช่วงดังกล่าวประมาณ 20,000 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน มีกำไรจากส่วนดังกล่าวราว 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ กำไรขั้นต้นจากการกลั่นยังลดลงอย่างรุนแรงเหลือเพียง 2.9 เหรียญ/บาร์เรล เทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 11.3 เหรียญ/บาร์เรล เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภันฑ์น้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่กับน้ำมันดิบปรับตัวลง
2.กลุ่มธุรกิจน้ำมัน และการค้าปลีกยังมีผลการดำเนินงานลดลง ตามกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรและปริมาณการขายที่ลดลง
3.กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มีผลการดำเนินงานลดลง จากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯที่มีต้นทุนการขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีการใช้นโยบาย Single Pool ในการคำนวณราคาก๊าซฯในปี 67 อีกทั้งปริมาณการขายยังลดลง แม้ราคาขายโดยเฉลี่ยจะปรับตัวขึ้นก็ตาม ซึ่งไม่สามารถชดเชยส่วนดังกล่าวได้ทั้งหมด
เช่นเดียวกับ "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไอร่า ที่ระบุว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาหุ้นปี 67 ของกลุ่ม ปตท. ปรับตัวลงยกแผงอย่างรุนแรง เป็นเพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปี 67 ไม่ได้ปรับตัวขึ้นจากปี 66 อย่างมีนัยสำคัญ แต่เป็นการเคลื่อนไหวออกด้านข้างเป็นส่วนใหญ่
สะท้อนจากราคาน้ำมันดิบ - ก๊าซฯที่ไม่ได้ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับ Spread ของกลุ่มปิโตรเคมีฯก็อยู่ในกรอบแคบ สอดคล้องกับ Demand ที่ยังคงอ่อนแอในปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่โดนกดดันอย่างหนักตลอดปี จากกระแสข่าวปรับลดค่า Ft เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้ประชาชนในประเทศ
*** โบรกฯมองงบฯ Q4/67 เห็นสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด
"นลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์" นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน บล.เอเซีย พลัส มองว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่ม ปตท. ได้ผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3/67 ไปแล้ว ซึ่งจะเห็นผลการดำเนินงานปกติไตรมาส 4/67 ฟื้นตัวขึ้นได้ หนุนโดยกลุ่มธุรกิจโรงกลั่น ที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นตามฤดูหนาว
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลี่ยมผ่าน PTTEP กำไรปกติมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามแนวทางที่ PTTEP ให้เป้าหมายการขายปิโตรเลียมเพิ่มมาอยู่ที่ราว 5.4 - 5.5 แสนบาร์เรล/วัน ตามการกลับมาผลิตปกติของหลายโครงการในอ่าวไทย ที่มีการ Shut down ในช่วงไตรมาส 3/67 เช่น คอนแทรกซ์ 4 และ อาทิตย์ เป็นต้น รวมทั้งโครงการในแอลจีเรีย และโอมาน กลับมาโหลดน้ำมันเพิ่มขึ้น ประกอบกับ ต้นทุนต่อหน่วยมีแนวโน้มปรับตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 30 - 31 เหรียญ/บาร์เรล
ขณะที่ ธุรกิจปิโตรเคมีภัณฑ์ คาดจะค่อย ๆ ทยอยฟื้นตัว แต่ความโดดเด่นอาจจะยังไม่ชัดมากนัก คงต้องรอกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคหลัก เช่น จีน ขณะที่ Spread โดยรวมของกลุ่มไม่น่าจะต่ำกว่าในช่วงไตรมาส 3/67
อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจที่ยังมีความน่าเป็นกังวลของกลุ่ม ปตท. คือ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ที่คาดปริมาณการขายงวดไตรมาส 4/67 มีแนวโน้มลดลง ตามปัจจัยฤดูกาล ซึ่งกระทบธุรกิจจัดหาและจำหน่ายก๊าซฯ และธุรกิจท่อก๊าซฯ แต่อาจช่วยชดเชยได้จากต้นทุนเนื้อก๊าซฯที่คาดจะลดลง ซึ่งจะเป็นบวกต่อธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ NGV และอุตสาหกรรม
*** แต่ประเมินผลการดำเนินงานปี 68 ยังถูกท้าทายหนัก
บทวิเคราะห์ บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานปี 68 ของกลุ่ม ปตท. ยังมีความท้าทายค่อนข้างมาก แม้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยปี 68 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 5.2% จากปีก่อน เนื่องจากโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และธุรกิจโรงแยกก๊าซ (GSP) ของ PTT น่าจะมีความต้องการก๊าซที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม รายได้ของกลุ่ม ปตท.สำหรับธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซ (S&M) ในปี 68 มีแนวโน้มลดลง และมีการปริมาณนำเข้า LNG ที่ลดลงเนื่องจากส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นของ GULF ซึ่งได้รับใบอนุญาตนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จาก กกพ. ในปี 64 โดยบริษัทมีแผนจะนำเข้า LNG ราว 5 mtpa ในปีนี้ ถึงแม้ว่าค่าไฟฟ้าผันแปร จะลดลงเป็น 4.15 บาท/หน่วย ในช่วงเดือน ม.ค. - เม.ย.68 (เดือน ก.ย.-ธ.ค.67 อยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย)
ทำให้ PTT อาจจำหน่ายก๊าซให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในราคาถูกลงในปี 68 แต่ กฟผ. จะชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปให้กับบริษัทในภายหลัง นอกจากนี้ มองว่าความเสี่ยงทางธุรกิจอาจเพิ่มขึ้นสูงหาก GULF ยื่นขอ กกพ. เพื่อนำเข้า LNG ป้อนโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่ขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ซึ่งอาจทำให้ส่วนแบ่ง LNG ของ PTT หดแคบลงอีก จึงเป็นความเสี่ยงต่อผลการดำเนินงานของกลุ่ม ปตท. ในระยะถัดไป
ด้าน "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" กล่าวปิดท้ายว่า ผลการดำเนินงานปี 68 ของ กลุ่ม ปตท. จะเติบโตขึ้นจากปีก่อนได้หรือไม่ ? ยังเป็นเรื่องที่ตอบค่อนข้างยาก เนื่องด้วยกลุ่ม ปตท. ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการจะประเมินราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งปี เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และมีความแม่นยำที่น้อยมาก เพราะสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ มักมีการปรับเปลี่ยนตามปัจจัย ณ ช่วงเวลานั้น ๆ เป็นหลัก
แต่หากประเมินจาก ณ ต้นปี ถือว่ายังมีความท้าทาย เนื่องด้วย Demand สินค้าโภคภัณฑ์ ณ ขณะนี้ ยังค่อนข้างอั้น เพราะมีความกังวลต่อประเด็นสงครามการค้า 2.0 ที่อาจจะเกิดขึ้น ภายหลัง "โดนัลด์ ทรัมป์" ขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้เข้ามาสอดแทรกอีก เช่น ความรุนแรงในการทำสงครามของรัสเซีย - ยูเครน และ อิสราเอล - อิหร่าน รวมทั้งการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ และจะเป็นระยะเวลานานเท่าใด
ในแง่การลงทุน จึงยังไม่แนะนำให้ลงทุนในกลุ่ม ปตท. เพราะมองว่า หุ้นในกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถลงทุนเพื่อหวังเก็งกำไรได้ในระยะนี้ แต่สามารถลงทุนเก็งกำไรระยะสั้นเป็นรอบ ตามข่าวดีที่เข้ามาหนุนสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเท่านั้น
หุ้น
การลงทุน
เศรษฐกิจ
1 บันทึก
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย