Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธเนศเล่าขาน "ทานทางปัญญา"
•
ติดตาม
11 ม.ค. เวลา 04:09 • หุ้น & เศรษฐกิจ
"ตลาดแลกของ" : แนวคิดที่อยากนำเสนอในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา
-----------------
ช่วงนี้ผู้คนบ่นกันจังว่า "ข้าวของก็แพง ค่าแรงก็ลดลงหรือคงที่" บางคนก็ตกงาน ตลาดนัด ร้านค้าดูซบเซา บางร้านก็ปิดกิจการไป เงินทองช่างหายากจัง ชาวบ้านก็อยู่กันอย่างลำบาก อดทนกันไปเพื่อให้มีชีวิตรอดไปวันๆ
พอดีได้อ่านเรื่องราวของชาวเลย์ภูเก็ต ที่ใช้ปลาทะเลแลกข้าวหอมมะลิกับชาวนาที่ยโสธร ที่ไม่ใช้เงินเป็นสื่อกลาง ก็ชื่นชมแนวคิดนี้มาก แม้พื้นที่จะห่างไกลกันก็ตาม
ทำให้คิดต่อไปว่า ถ้าหน่วยงานในท้องถิ่นจะลงมาเป็นเจ้าภาพทำตลาดนัดทำนองนี้กัน ใครมีของอะไรก็นำมาแลกกัน ตามที่ตนต้องการ โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ ก็น่าจะเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระดับรากหญ้าและช่วยสืบสานวัฒนธรรมไทยที่มีใจเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันด้วย
พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวในอดีตตอนผมเป็นเด็ก บ้านผมอยู่ในชนบทของอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ที่มีอาณาเขตติดกับอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่บ้านผมและชาวบ้านแถวนั้น มีอาชีพทำไร่ทำสวน ปลูกพืชผักผลไม้นานาชนิด ผมกับพี่สาวก็จะเอาผลผลิตเหล่านั้นขึ้นรถโดยสารมาแลกของกับชาวบ้านที่ตลาดวังน้อย ซึ่งที่นั่นเขาจะมีผลผลิตพวกกุ้ง หอย ปู ปลา กะปิ ข้าวสาร เอามาแลกกันโดยไม่ต้องใช้เงินเป็นสื่อกลาง
เรื่องนี้ผมเขียนไว้เป็นตอนหนึ่งในหนังสือ "บุญถึง" ชื่อตอนว่า "ตลาดแลกของ" ผมยังจำทุกเหตุการณ์ตอนนั้นได้ดี ก็เลยอยากนำมาแบ่งปันกันอ่าน
... อยากให้อ่านและรื้อฟื้นเรื่องนี้ในตอนนี้กันจริงๆครับ
"ตลาดแลกของ"
-----------------------
วันเสาร์หรือวันอาทิตย์ที่เป็นวันหยุดเรียนสัปดาห์ละวัน พี่บุญนำจะได้รับมอบหมายจากแม่ให้นำของในสวนไปแลกของกินกันที่ตลาดแลกของในอำเภอแห่งหนึ่งของเมืองกรุงเก่าซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับแม่น้ำลำคลอง จึงมีผลผลิตจำพวกกุ้ง หอย ปู ปลา กะปิ และผักน้ำต่างๆที่บ้านเราซึ่งเป็นไร่เป็นสวนไม่มี โดยต่างเอาของมาแลกกัน
ตลาดแลกของที่อำเภอแห่งนี้อยู่ติดกับอำเภอที่ผมอยู่ ซึ่งต้องเดินทางย้อนไปทางใต้ ไกลกว่าตลาดสดในตัวจังหวัดที่ผมไปขายของกับแม่ร่วมยี่สิบกิโล ซึ่งต้องเดินทางขึ้นไปทางด้านเหนือ
พี่บุญนำขอให้ผมไปด้วยทุกครั้ง เพราะเห็นผมเป็นคนคล่องและเอางานเอาการดี ผมเองก็เต็มใจไปกับพี่บุญนำอยู่แล้ว เพราะพี่เขาเป็นคนใจดี คอยดูแลช่วยเหลือผมตลอด อยู่กับพี่บุญนำแล้วอุ่นใจ และผมเองก็อยากเปลี่ยนบรรยากาศจากไปขายของกับแม่ที่ตลาดเทศบาลเมือง จำเจแทบทุกวัน ได้ไปเที่ยวตลาดแห่งใหม่ที่ไกลกว่า และดูทีท่าว่าน่าจะสนุกกว่าตลาดเก่าเยอะเลย
แต่ปัญหาคือต้องตื่นแต่เช้ากว่าไปกับแม่ เพราะตลาดแห่งใหม่อยู่ไกลกว่า และต้องไปให้ถึงก่อนรถโดยสารจะมา เพราะรถโดยสารก็มีอยู่แค่คันเดียว และมีแม่ค้ารอที่จะไปกันหลายคน พี่บุญนำจะเตรียมผักผลไม้ใส่หาบตะกร้าสองหาบไว้ตั้งแต่วันก่อนไป หาบตะกร้าของพี่บุญนำจะใส่ของเยอะกว่าของผม และไม้คานที่หาบตะกร้าก็อันโตและแข็งกว่าของผมด้วย พี่บุญนำเป็นพี่สาวคนโตที่คอยห่วงใยและทำงานหนักกว่าน้องๆทุกคนเสมอ
ของที่เตรียมไปก็เป็นผักผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะม่วง มะนาว สับปะรด กล้วย หัวปลี ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก มะเขือ โหระพา ยี่หร่า ชะอม ยอดมะกอก เป็นต้น พยายามเลือกของที่ลูกไม่โตและหลากหลายประเภทเข้าไว้ เพื่อให้ตรงกับจำนวนความต้องการของคู่แลกของที่แต่ละคนสั่งไว้เมื่อคราวก่อน และตรงกับของที่เราต้องการด้วย
เช่น ถ้าเราอยากได้ปลาย่าง หรือปลาเค็ม กุ้งสด หรือกะปิก็ต้องเอามะม่วง สับปะรดหรือมะนาวไปแลก ถ้าต้องการผักบุ้ง ผักกะเฉดหรือผักน้ำต่างๆ ก็ต้องเตรียมยอดมะกอก ชะอม หัวปลี โหระพาไปแลก ถ้าต้องการปลาสดเอามาทำปลาร้า หรือมาทำปลาตากแห้ง หรืออยากได้หอยขมและปูด้วย ก็ไม่ต้องคำนึงถึงข้าวของที่จะเตรียมมากนักเพราะผู้มาแลกมักมีของพวกนี้มากันเป็นส่วนใหญ่ เรามีของอะไรเขาก็ยินดีเอามาแลกหมด
ที่เราเรียกว่าคู่ค้าไม่เรียกว่าลูกค้า และไม่เรียกพ่อค้าแม่ค้าด้วย เพราะเป็นการแลกของกัน ไม่ได้ขายของโดยใช้เงินเป็นสื่อกลางกัน ผมจำบรรยากาศในตลาดแลกของตอนนั้นได้ดีว่า พี่สาวกับผม และคนอื่นๆซึ่งเป็นฝ่ายมาเยือน จะวางหาบวางของตามแนวถนนทั้งสองฝั่งที่ทางเทศบาลเขาจัดให้ คล้ายแม่ค้าขายของในตลาดสด ส่วนฝ่ายเจ้าถิ่นจะไม่มีที่วางของเป็นสัดเป็นส่วน บางคนก็ไปอยู่ตามซอกตามมุมที่ตนเองถนัด แล้วจัดของที่ตนเองเตรียมมาใส่จานหรือถาดเล็กๆนำมาแลกของ
แน่นอน สินค้าของชาวกรุงเก่าที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำก็คงหนีไม่พ้น ปลา กุ้ง หอย ปู ผักบุ้ง ผักกะเฉด เป็นต้น แต่ละคนต่างถือจานถือถาดใส่ของเที่ยวละสองจาน เดินมาหาแลกของที่ตนต้องการ ต่างต่อรองตกลงกันอย่างมิตรไมตรี ถ้าถูกอัธยาศัยกันก็มีการแจกการแถมกันด้วย หากเราต้องการของนั้นๆมากกว่าที่เขาถือมา เขาก็จะกลับไปเอาของมาแลกเพิ่มอีก
ที่น่ารักมากคือมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนทุกข์สุขกัน บางคนมีการชวนไปเที่ยวบ้านกันก็มี เป็นสังคมแห่งความเป็นมิตร เอื้ออาทรกันอย่างไม่มีชนชั้นหรือฐานะทางเศรษฐกิจมากีดขวาง ซึ่งผมฝันอยากให้เกิด ขึ้นใหม่ในสังคมยุคนี้จัง
มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่พี่บุญนำกำลังง่วนอยู่กับการแลกของกับเจ้าถิ่นอยู่นั้น ก็มีอาแป๊ะคนหนึ่งท่าทางภูมิฐานและใจดี หิ้วของที่ไม่เหมือนกับของคนอื่น แต่เป็นขนมแห้งถุงใหญ่ที่มีหลายชนิดมาขอแลกมะนาวกับพี่บุญนำ โดยขอเพียงไม่กี่ลูก จะให้เพิ่มอีกแกก็ไม่ขอรับ แต่สายตาจ้องมองพี่บุญนำไม่วางตา จนพี่บุญนำเขินอาย ผมเองเริ่มไม่ไว้ใจว่าอาแป๊ะแก่คนนี้คิดอะไรไม่ดีกับพี่บุญนำหรือเปล่า แต่ดูแกพูดจาและมีท่าทีที่สุภาพ ไม่มีลักษณะแบบเฒ่าหัวงู หรือก้อร่อก้อติกแต่อย่างใด พอแกแลกของเสร็จแกก็เดินจากไป
สัปดาห์ต่อมาอาแป๊ะคนเดิมแกก็หิ้วของที่ดูมีราคา มารอแลกของกับพี่บุญนำอีก แต่คราวนี้แกไม่ได้มาคนเดียว มีชายหนุ่มผิวขาว หน้าตาสะอาดแบบลูกคนจีนมาด้วย แกมาแนะนำเองว่า
"ลูกชายอั๊ว อีไปทำงานที่กรุงเทพฯ อั๊วมีร้านขายของอยู้ในตลาดตรงโน้น" แล้วแกก็ชี้มือไปที่ตึกแถวที่อยู่ข้างหน้า ดูพี่บุญนำรู้สึกประหม่า ที่มีชายหนุ่มแปลกหน้ามายิ้มให้
ลูกชายอาแป๊ะดูเป็นคนขี้อาย แต่ลักษณะสายตาที่มองพี่บุญนำ ผมรู้สึกเองว่าเขาต้องใจพี่บุญนำแน่ๆ แต่เขาเอาแต่ยิ้มไม่พูดอะไร อาแป๊ะเลยเป็นคนพูดเองทั้งหมด
"อั๊วมาดูลื้อหลายครั้งแล้ว ชอบ ถูกชะตาที่เห็นลื้อเป็นคนทำมาหากิน และนิสัยดี" แล้วแกก็ถามถึงบ้านช่องที่อยู่ว่าอยู่ที่ไหน จะขอไปเที่ยวบ้านด้วยได้ไหม ไม่มีคำพูดเชิงเกี้ยวพาราสี หรือถามถึงฐานะทางบ้านแต่อย่างใด พี่บุญนำก็บอกไปตามมารยาทว่า
"บ้านอยู่ไกล อยู่บ้านนอกบ้านนา คงเดินทางไปไม่สะดวกหรอก" แต่กลับได้รับคำตอบจากอาแป๊ะแบบตั้งตัวไม่ทันว่า
"ถ้าเสร็จงานแล้ว อั๊วกับลูกชายขอขับรถไปส่งลื้อที่บ้านนะ ลื้อไม่ต้องเกรงใจ และขอให้สบายใจได้ว่าอั๊วไม่มีเจตนาร้ายกับลื้อ แต่อั๊วถูกชะตากับลื้อจริงๆ"
และพี่บุญนำก็ไม่อาจปฏิเสธอาแป๊ะได้ แกกุลีกุจอช่วยเก็บตะกร้า ไม้คาน ส่งให้ลูกชายถือ เดินนำหน้าเราไปที่อาคารพาณิชย์สามชั้น ที่เป็นร้านค้าขายส่งสินค้านานาชนิด มีข้าวของอยู่เต็มร้าน แกบอกว่าแกขายของอยู่กับลูกสาวกันสองคน แล้วสั่งลูกชายให้ไปขับรถมารับพวกเราซึ่งยังยืนงงๆทำอะไรไม่ถูก
พอรถปิ๊กอัพคันใหม่มาจอดเทียบหน้าร้าน แกก็ยกตะกร้าเปล่า และไม้คานทั้งสองหาบขึ้นกระบะท้ายรถ และเปิดประตูด้านหลังคนขับ บอกให้เราขึ้นไปนั่ง ส่วนแกเปิดประตูหน้าขึ้นไปนั่งคู่กับลูกชาย พร้อมสั่งให้ออกรถทันที
พวกเราเพียงแค่นั่งและบอกเส้นทางจนมาถึงวัดบ้านยาง ต้องเอารถจอดไว้ที่นั่น เพราะถนนยังไปไม่ถึงบ้าน พวกเรานำพาเดินไปตามคันนามาจนถึงบ้าน พ่อกับแม่เห็นคนแปลกหน้ามากับลูกก็รู้สึกแปลกใจ แต่ก็ออกมาต้อนรับผู้มาเยือนตามธรรมเนียม และเชิญทั้งสองคนขึ้นไปบนเรือน
ดูอาแป๊ะกับลูกชายไม่ได้แสดงท่าทีรังเกียจบ้านช่องและสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราเลย จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่เขาคุยกัน เด็กอย่างผมก็ต้องเลี่ยงหลบไป ตามที่ผู้ใหญ่เคยอบรมสั่งสอนไว้ว่า "เรื่องของผู้ใหญ่ เด็กๆอย่าเข้ามา
สอด" มุมที่ผมไปหลบตอนนี้ ที่ไหนคงไม่ดีไปกว่าต้นส้มเปลือกบางของผมเช่นเคย
ผมมารู้เรื่องของผู้ใหญ่เอาก็ตอนมีงานแต่งงานของพี่บุญนำเกิดขึ้น และถูกผู้ใหญ่ให้เรียกลูกชายของอาแป๊ะว่า "อานึ๊ง"
ตำนานแห่งการไปแลกของระหว่างผมกับพี่บุญนำก็ถึงกาลอวสาน เพราะพี่บุญนำกลายเป็นลูกสะใภ้อาแป๊ะไปแล้ว และธรรมเนียมคนจีนก็ต้องไปอยู่บ้านฝ่ายชาย พี่บุญนำจึงต้องเปลี่ยนจากคนแลกของ กลายเป็นเฒ่าแก่เนี๊ยะขายของในอาคารพาณิชย์ที่ใหญ่โตแทน
ผมแอบร้องไห้ คิดถึงพี่บุญนำอยู่หลายวัน รู้สึกใจหาย เหมือนถูกใครพรากเอาของรักไปจากอกยังไงยังงั้น
ต่อนี้ไป ผมคงไม่มีพี่บุญนำมาคอยดูแลเอาใจใส่ผมเหมือนก่อนอีกแล้ว
**ธเนศ ขำเกิด**
เศรษฐกิจ
ตลาด
แนวคิด
1 บันทึก
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย