11 ม.ค. เวลา 05:09 • การเมือง

เป็นไปได้? ทรัมป์ส่งทหารบุก “กรีนแลนด์” ยึดมาจาก “เดนมาร์ก”

เป็นแค่ “วาทกรรม” หรือ “หลักนโยบายต่างประเทศ” ที่อยู่เบื้องหลัง
“โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่าเขาวางแผนที่จะผนวกแคนาดาเป็นรัฐที่ 51 ซื้อกรีนแลนด์ และยึดคืนคลองปานามา ในตอนแรกหลายคนมองว่าคำพูดของเขาเป็นแค่เรื่องตลกบ้าพลังของเขา เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นในสไตล์ของเขาเท่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปดูเหมือนว่าเขาจะจริงจัง กลับมาย้ำเรื่องเดิมซ้ำอีก ไม่ปล่อยผ่านไปเหมือนเป็นการสร้างกระแส หรือว่าคำพูดของเขายังมีเหตุผลบางอย่างหรือมีหลักนโยบายต่างประเทศอเมริกาแอบแฝงอีกด้วย มันคืออะไร?
1
เครดิตภาพ: Carlos Barria / Reuters
ข้อเท็จจริงตอนนี้คือ ทรัมป์ยังไม่ได้กล่าวแถลงแผนงานอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้ (พูดบนโซเชียลบ้าง) เขาไม่ได้ประกาศเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐแต่อย่างใด อันที่จริงแล้วเรื่องอื้อฉาวทางการทูตสามเรื่องเกิดขึ้นจากคำกล่าวสามคำของเขา คือ “แคนาดา” “กรีนแลนด์” และ “ปานามา” เมื่อเวลาผ่านไปทำให้เรารับรู้ว่าทั้งสามคำที่เขาพูด มันรวมกันเป็นเรื่องเดียวที่ทรัมป์กำลังส่งสัญญาณบางอย่าง
บทความนี้ขอพูดเน้นไปเฉพาะเรื่องของ “กรีนแลนด์” เป็นหลัก เรื่องนี้ทรัมป์เริ่มเปิดประเด็นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2024 โดยเขาประกาศว่าเมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาจะแต่งตั้ง เคน โฮวารี เป็นทูตสหรัฐฯ ประจำเดนมาร์ก และด้วยเหตุผลบางประการ เขากล่าวเสริมว่า “สหรัฐฯ เชื่อว่าการเป็นเจ้าของและควบคุมกรีนแลนด์มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของชาติและเสรีภาพทั่วโลก” ตามรูปด้านล่างที่ทรัมป์โพสต์บนโซเชียลบัญชีส่วนตัวของเขา [1]
เครดิตภาพ: Truth Social @realDonaldTrump
การใช้คำในประโยคของเขาทำให้เกิดช่องว่างสำหรับการตีความที่แตกต่างกัน “การเป็นเจ้าของและการควบคุม” หมายถึงใคร? ทรัมป์ต้องการเน้นย้ำว่าเดนมาร์กเป็นพันธมิตรที่สำคัญเนื่องจาก “เป็นเจ้าของ” และ “ควบคุม” กรีนแลนด์อยู่ หรือไม่ก็ใบ้เป็นนัยว่าสหรัฐฯ เองก็ต้องการ “เป็นเจ้าของและควบคุม” แต่ด้วยบริบทต่างๆ ไม่ว่าการจะแต่งตั้งทูตประจำเดนมาร์ก ทำให้เชื่อว่ามีแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า (ฮุบซะเอง)
สหรัฐฯ มีประวัติศาสตร์อันยาวนานของผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ในกรีนแลนด์ แนวคิดในการซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์กเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และในช่วงวาระแรกของทรัมป์ในตำแหน่งประธานาธิบดี
ย้อนกลับไปในปี 2022 นักข่าวอเมริกันได้ระบุชื่อผู้เขียนแนวคิดนี้ที่สอดคล้องกับการซื้อกรีนแลนด์ของทรัมป์ในตอนนี้ “โรนัลด์ ลอเดอร์” เพื่อนเก่าแก่ของทรัมป์ ทายาทบริษัทเครื่องสำอาง Estée Lauder ประธานของ World Jewish Congress อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำออสเตรีย และอดีตเจ้าหน้าที่เพนตากอนที่รับผิดชอบนโยบายยุโรปและความสัมพันธ์กับ “นาโต” ลอเดอร์พร้อมที่จะสร้าง “ช่องทางลับสำหรับการเจรจากับเดนมาร์กในการซื้อกรีนแลนด์” [2]
2
โรนัลด์ ลอเดอร์ (ขวา) เครดิตภาพ: World Jewish Congress
ทั้งทางการเดนมาร์กและส่วนปกครองกรีนแลนด์ต่างคัดค้านอย่างเด็ดขาดหากเกาะแห่งนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา โดยเราจะสังเกตได้ว่าทรัมป์พูดถึงแคนาดาว่าเขาตั้งใจจะดำเนินการโดยใช้วิธีการกดดันทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ส่วนสำหรับ “กรีนแลนด์” (รวมถึงคลองปานามา) นั้น เขาไม่ปฏิเสธที่อาจใช้กำลังทหารถ้าทางการเดนมาร์กไม่ยอม [3]
1
แลดู “ทรัมป์” ได้ประกาศอย่างเปิดเผยถึงความทะเยอทะยานในลัทธิจักรวรรดินิยมของเขา ผู้เชี่ยวชาญหลายคนพยายามหาเหตุผลในการเปรียบเทียบเขากับประธานาธิบดี “วิลเลียม แมคคินลีย์” (1897–1901) และ “ธีโอดอร์ รูสเวลต์” (1901–1909) ซึ่งเป็นผู้นำอเมริกันสองคนสุดท้ายที่มีแนวคิดแสดงออกมาในลักษณะนี้ คนแรกยึดฮาวาย กวม และฟิลิปปินส์ในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงเปอร์โตริโกในแคริบเบียน ส่วนคนหลังยึดคิวบาและปานามาได้สำเร็จ
2
ตั้งแต่นั้นมาผู้นำอเมริกันพยายามที่จะทำเรื่องนี้โดยวิธีแนบเนียนมากขึ้น เช่น ดังที่นักประวัติศาสตร์ แดเนียล อิมเมอร์วาร์ กล่าวไว้ การสร้างระบบพันธมิตรที่ซับซ้อน เช่น NATO และ AUKUS เจรจาเกี่ยวกับฐานทัพทหารและสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับความโปรดปรานสูงสุด และผูกมัดประเทศอื่นๆ ด้วยเงินกู้ การลงทุน และเครื่องมือ “ซอฟต์เพาเวอร์” อื่นๆ [4]
นอกจากนี้ความทะเยอทะยานของทรัมป์ยังถูกมองว่าเป็นการกลับไปสู่ “หลักลัทธิมอนโร” ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของอเมริกาที่เก่าแก่ยิ่งกว่า โดยประกาศโดยประธานาธิบดีเจมส์ มอนโรในปี 1823 ในตอนนั้นหลักการนี้มุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ยุโรปเข้ามาล่าอาณานิคมในทวีปอเมริกาอีก [5]
ส่วนในรูปแบบปัจจุบันหลักการนี้สรุปได้เป็นแนวคิดที่ว่า ซีกโลกตะวันตกเป็นเขตอิทธิพลเฉพาะของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าทำไมทรัมป์จึงให้ความสำคัญกับกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นผืนแผ่นดินที่ใหญ่เป็นอันดับสามในซีกโลกตะวันตก (รองจากอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้) ซึ่งปกครองโดยรัฐที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ซีกโลกตะวันออก (เดนมาร์ก)
เครดิตภาพ: SBS News
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าคำพูดที่ดูรุนแรงของทรัมป์เกี่ยวกับ แคนาดา กรีนแลนด์ และปานามา เป็นเพียงกลวิธีทางวาทศิลป์ของเขาเท่านั้น ก่อนเข้ารับตำแหน่ง เขาจะใช้จุดยืนที่รุนแรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อปลุกปั่นทุกคนให้ตื่นตัว และเมื่อถึงเวลาอันควร เขาจะมีอะไรบางอย่างให้พูดในการเจรจาเรื่องภาษีศุลกากรสินค้ากับแคนาดา ค่าธรรมเนียมในการผ่านคลองปานามา และสถานะของกรีนแลนด์
1
ยังมีการวิเคราะห์หนึ่งที่บอกว่านี่เป็นเพียง “จักรวรรดินิยมเชิงสัญลักษณ์” เท่านั้น ทรัมป์ไม่มีเจตนาจะพิชิตยึดครองดินแดนใดๆ แต่เพียงพยายามเอาใจกลุ่มฐานเสียงเลือกตั้งที่ยึดมั่นในความแข็งกร้าวของเขา ซึ่งประทับใจกับ “การทูตไม้แข็ง” ตามแบบฉบับของ “ธีโอดอร์ รูสเวลต์” มากกว่าความซับซ้อนของการใช้ “ซอฟต์เพาเวอร์” [6]
เครดิตภาพ: Chip Somodevilla / Getty Images
และก็มาถึงบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจอีกอันหนึ่งของกองบรรณาธิการฉบับยุโรปของ Politico โดยขึ้นหัวข้อบทความฉบับนี้ว่า Trump’s invasion of Greenland would be ‘the shortest war in the world’ แปลเป็นไทยก็ “การรุกรานกรีนแลนด์ของทรัมป์จะเป็น สงครามที่สั้นที่สุดในโลก” [7]
ในบทความดังกล่าวเน้นย้ำว่า คำพูดของทรัมป์ที่บอกว่ามีความเป็นไปได้ในการใช้กำลังทหารเพื่อผนวกกรีนแลนด์นั้นไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง ตามรายงานดังกล่าวเป็นการยากที่จะจินตนาการว่ากองทัพสหรัฐฯ จะดำเนินการอย่างไรกับเดนมาร์ก ซึ่งเพิ่งเสริมความมั่นคงของเกาะนี้ด้วยการเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงจากส่วนกลางเดนมาร์ก... สำหรับการลาดตระเวนด้วยสุนัขลากเลื่อนสองชุด
Politico เปรียบเทียบศักยภาพทางการทหารของสหรัฐและเดนมาร์ก “สหรัฐมีงบประมาณด้านการป้องกันประเทศสูงที่สุดในโลก โดยใช้จ่ายเงิน 948 พันล้านดอลลาร์ในปี 2024 จำนวนทหารสหรัฐอยู่ที่ 1.3 ล้านนาย ซึ่งบางส่วนประจำการอยู่ในกรีนแลนด์ ส่วนเดนมาร์กใช้จ่ายเงิน 9.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2024 มีทหารเพียง 17,000 นาย และอาวุธหนักภาคพื้นดินส่วนใหญ่ก็บริจาคให้กับยูเครนไปอีกด้วย”
เครดิตภาพ: Hanne Cokelaere / POLITICO
เรื่องที่ถกเถียงกันคือ เห็นได้ชัดว่า “รัฐประชาธิปไตยหนึ่ง” สามารถยึดครองดินแดนของ “รัฐประชาธิปไตยอีกแห่งหนึ่ง” ได้อย่างไรกันแน่? หรืออย่างที่ อากาธา เดอมารายส์ นักวิจัยอาวุโสด้านนโยบายที่สภายุโรปว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกล่าวว่า “โดยพื้นฐานแล้ว การที่สมาชิก NATO หนึ่งผนวกดินแดนของสมาชิก NATO อีกที่หนึ่ง มันจะเป็นไปได้กับดินแดนที่ยังไม่มีการสำรวจมาก่อน… เมื่อคุณลองคิดดูดีๆ เรื่องนี้มันก็ไม่สมเหตุสมผลเลย”
เห็นได้ชัดว่าทรัมป์มองเห็นประเด็นในเรื่องนี้ ท้ายที่สุดแล้วการเข้าถึงกรีนแลนด์ภายใต้ข้อตกลงกับเดนมาร์กในฐานะประเทศสมาชิกนาโตด้วยกัน และการเป็นเจ้าของกรีนแลนด์เป็นสิ่งที่แตกต่างกันมาก
การควบคุมแนวตั้ง (ยึดเป็นเจ้าของ) จะทำอะไรมันย่อมง่ายกว่า และไม่จำเป็นต้องแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติกับใคร และเป็นไปได้ที่รัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจที่จะพึ่งพาตนเองมากกว่าพันธมิตร และอีกครั้งการปล้นพันธมิตรนั้นเซฟที่สุด การลดการใช้อุตสาหกรรมในยุโรปเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของเรื่องนี้
ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในกรีนแลนด์นั้นไม่จำเป็นเลย หากวิเคราะห์ข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กรีนแลนด์ซึ่งมีเพียง 57,000 คน การลงประชามติเพื่อขอแยกตัวจากเดนมาร์กเพื่อเข้าร่วมสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องไม่ยาก
ข้อมูลและแรงกดดันทางการเมืองและการทูตจากรัฐบาลทรัมป์จะบีบบังคับให้โคเปนเฮเกนไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการนี้ ตามทฤษฎีแล้วรัฐสภาเดนมาร์กยังคงต้องอนุมัติผลการลงประชามติ แต่เป็นเพียงพิธีการเท่านั้น แม้ว่าจะไม่เห็นด้วย แต่การรับรองอย่างเป็นทางการว่ากรีนแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาก็เพียงพอแล้ว [8]
1
เครดิตภาพ: Illustrated by Erin Aulov/POLITICO (source images via Ben Schreckinger/POLITICO, Getty Images)
Jørgen Boassen พลเมืองท้องถิ่นกรีนแลนด์ถ่ายเซลฟี่คู่กับลูกชายทรัมป์ ตอนมาเยือนที่ Nuuk ในกรีนแลนด์ เมื่อ 7 มกราคม 2025 เครดิตภาพ: Emil Stach/Ritzau Scanpix via Getty Images
ในอดีตที่ผ่านมา “จอร์จ ดับเบิลยู บุช” และ “บารัค โอบามา” ต่างก็พยายามปรับทิศทางตัวเองให้หันไปทางซีกโลกตะวันตก แต่สถานการณ์กลับขัดขวางไม่ให้ทำเช่นนั้นได้ เช่น การโจมตีของผู้ก่อการร้าย 9/11 สงครามยืดเยื้อในอัฟกานิสถานและอิรัก การผงาดก้าวขึ้นมาของจีน การบุกยูเครนของรัสเซีย สงครามในตะวันออกกลาง ส่งผลให้หลังบ้านของสหรัฐฯ ไม่มีใครเข้ามากวนวุ่นวายมาก และไม่ใช่ว่าทรัมป์จะไม่มีเรื่องเร่งด่วนอื่นๆ ในส่วนอื่นๆ ของโลกที่ต้องรอสะสางอยู่
เรียบเรียงโดย Right Style
11th Jan 2025
  • เชิงอรรถ:
<ภาพปก: เด็กท้องถิ่นชาวกรีนแลนด์สวมหมวกแดงที่มีสโลแกน MAGA ในเมือง Nuuk ใกล้กับโรงแรมที่ลูกชายทรัมป์มาพักระหว่างการเยือนกรีนแลนด์ของเขา เมื่อ 7 มกราคม 2025 เครดิต: Daniel L. Johnsen / EPA>
โฆษณา