Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เศรษฐศาสตร์และการพัฒนาประเทศ
•
ติดตาม
เมื่อวาน เวลา 07:53 • ปรัชญา
จิ๊กซอว์ของธรรมมะ
ครบรอบสองปีของการไปฝึกปฏิบัติธรรมครั้งแรก และเป็นครั้งที่ทำให้ได้เห็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นภาพรวม ไม่เป็นจิ๊กซอว์ที่ต่างคนต่างอยู่ ต่อกันไม่ติด เหมือนกับที่ผ่านมากว่า 50 ปี ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกหรือผิด แต่อย่างน้อยก็ดีกว่ารู้แบบต่อกันไม่ติดเหมือนเมื่อก่อน แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จในการนำมาใช้ แต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว
สมุทัย หรือ เหตุแห่งทุกข์ ตั้งอยู่บนขันธ์ 5 โดยมีผัสสะทั้ง 6 เป็นต้นทางของการเกิดสังขารทั้งมวล
เมื่อ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งปรากฏอยู่เป็นรูปขันธ์ รับเอาข้อมูลจากภายนอกในรูปของภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส เข้ามา ข้อมูลจะถูกรับรู้โดยวิญญาณ (เปรียบเสมือน sensor) และส่งข้อมูลนี้ไปให้กับสัญญาทำหน้าที่ประมวลผลและตีความ (CPU) ผลจากการตีความจะถูกนำไปแสดงในรูปของเวทนาหรือความรู้สึกของร่างกาย (sensation) เช่น ร้อน เย็น เจ็บ ปวด สบาย ฯลฯ
ซึ่งความรู้สึกนี้จะถูกส่งต่อไปให้กับสังขารซึ่งจะทำหน้าที่ปรุงแต่งว่าชอบ หรือไม่ชอบสิ่งนั้น และส่งต่อให้จิตใต้สำนึกมีปฏิกิริยาโดยอัตโนมัติในการต่อต้านสิ่งที่ไม่ชอบ (โทสะกิเลส) เกิดเป็นความทุกข์ และเกิดความอยากในสิ่งที่ชอบ (โลภะกิเลส) เกิดเป็นความสุข แต่เนื่องจากความสุขเกิดขึ้นแล้วดับไป (เป็นอนิจจัง) ในที่สุดเมื่อสุขหาย ก็กลายเป็นความทุกข์เพราะอยากได้สุขกลับคืนมา
แม้เราจะปิดการรับรู้จากโลกภายนอกโดยไม่รับภาพ (ปิดตา) อุดหู (ปิดหู) อยู่ในที่ที่อากาศสะอาด ไม่มีกลิ่นใดๆ (ปิดจมูก) ไม่ลิ้มรสชาดใดๆ (ปิดลิ้น) และนั่งนิ่งๆ ในที่ที่ไม่มีอะไรมาสัมผัส (ปิดกาย) เช่น นั่งในห้องปฏิบัติธรรมที่ถูกควบคุมสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดีแล้ว ก็ยังพบว่าความคิดจะฟุ้งซ่านอยู่ตลอด จิตไม่สงบ เหตุเพราะจิตจะไปดึงเอาสังขารเก่ามาใช้ (ร่างกายต้องการอาหารวันละ 3 มื้อ และเก็บส่วนที่ไม่ได้ใช้ไว้เป็นไขมัน
แต่ถ้าไม่มีอาหารใหม่ใส่เข้าไป ร่างกายก็จะดึงเอาไขมันมาใช้ และอยู่ต่อไปได้อีกหลายวันแม้จะไม่มีอาหารใหม่เข้ามาเลยก็ตาม ส่วนจิต ต้องการอาหารทุกขณะจิต เมื่อไม่มีอาหารใหม่เข้ามาผ่านรูปขันธ์ ก็จะไปดึงเอาสังขารเก่าที่เปรียบเสมือนไขมันของจิตมาป้อนให้กับวิญญาณและเกิดเป็นวัฏจักรแห่งความฟุ้งซ่าน และเกิดเป็นความทุกข์เพิ่มพูนมากขึ้น ๆ
เราสามารถดับความฟุ้งซ่านที่นำไปสู่ความทุกข์นี้ได้สองทาง
1. ทำอานาปานสติ จิตเป็นสมาธิอยู่กับลมหายใจ ทำให้จิตไม่ไปดึงเอาสังขารเก่ามาเป็นอาหารของวิญญาณ ก็จะไม่เป็นทุกข์ แต่วิธีนี้ไม่ทำให้สังขารเก่าหายไป ความทุกข์จึงยังมีอยู่เพียงแต่ถูกกดไว้ไม่ให้ปรากฏออกมา
2. ทำวิปัสสนากรรมฐาน โดยใช้เวทนาเป็นเครื่องมือในการฝึกให้จิตเป็นอุเบกขา (equanimity) เพราะเมื่อจิตเป็นอุเบกขา จิตจะไม่ปรุงแต่งต่อเวทนา หรือจิตตัดการส่งต่อจากเวทนาไปยังสังขาร จึงไม่เกิดทั้งความชอบ และความไม่ชอบ เมื่อนั้น สังขารใหม่จะไม่เกิด และจบลงที่เวทนา ส่งผลให้ความรู้สึกที่ร่างกายเกิดขึ้นแล้วดับไป (เป็นอนิจจัง) แล้วก็เกิดขึ้นใหม่เนื่องจากสังขารเก่าก้อนใหม่ถูกจิตดึงมาป้อนให้วิญญาณใหม่ตลอดเวลา
แต่การที่จิตเป็นอุเบกขาจะทำให้ไม่มีสังขารใหม่เติมเข้าไป เมื่อสังขารเก่ามีแต่ถูกดึงออกโดยไม่มีสังขารใหม่เติมเข้าไป จิตก็สะอาดมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น และเมื่อปฏิบัติไปจนกระทั่งจิตสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีสังขารเก่าเหลืออยู่เลย ร่ายกายก็จะไม่มีเวทนา และไม่เกิดความรู้สึกใดๆ ที่ร่างกาย ซึ่งเป็นสภาวะกายและจิตของพระอรหันต์
อย่างไรก็ตาม การทำวิปัสสนา มีศัตรูที่สำคัญคือนิวรณ์ 5 เพื่อเอาชนะนิวรณ์ 5 จะต้องใช้ผู้สนับสนุนคือ พละ 5 หรือ อินทรีย์ 5 ซึ่งมี สมาธิ ปัญญา (เป็นองค์ประกอบของมรรค) โดยต้องใช้ศรัทธาอันแรงกล้าว่าอุเบกขาสามารถตัดเส้นทางส่งต่อจากเวทนาไปสังขารได้ ซึ่งจะเกื้อหนุนให้เกิดวิริยะ หรือ ความเพียร และมีสติเป็นตัวควบคุม
ด้วยเหตุนี้ มรรค (มีองค์ 8) จึงเป็นทางดับทุกข์ เพราะ สมาธิ ปัญญา คือเครื่องมือสำคัญในการสร้างอุเบกขา แต่สมาธิจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีศีล
การทำวิปัสสนา คือการใช้เวทนาเป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวทนาหยาบซึ่งเป็นผลมาจากสังขารที่เป็นโทสะกิเลส จะสร้างความเจ็บปวดในขณะทำวิปัสสนาอย่างมาก หากสามารถทำให้จิตเป็นอุเบกขาในขณะที่กายเกิดความเจ็บปวดอย่างสูงมากได้ จิตก็จะสามารถวางอุเบกขาให้กับความทุกข์และความสุขในรูปแบบอื่นๆ ได้อย่างไม่ยากนัก
แต่คำอธิบายเหล่านี้ก็เป็นเพียงแค่ปัญญาในระดับจินตามยปัญญาเท่านั้น หากไม่ปฏิบัติก็จะไม่เห็นด้วยตัวเองและเมื่อไม่เห็นด้วยตนเอง ก็จะไม่มีทางไปถึงปัญญาระดับสูงสุดคือภาวนามยปัญญา และไม่มีทางพ้นทุกข์ได้ เปรียบเหมือนการเรียนทฤษฎีว่ายน้ำและเข้าใจเป็นอย่างดีด้วยหลักเหตุผลว่าการว่ายน้ำจะทำให้ให้ตัวลอยได้อย่างไร และว่ายให้แข็งแรงได้อย่างไร แต่หากไม่ลงมือปฏิบัติและว่ายให้ได้จริงๆ ก็จะเป็นเพียงปัญญาระดับสอง ไม่สามารถว่ายได้จริงๆ ได้ นักวิทยาศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน
ตอนนี้ เกิดปัญญาในระดับสองแล้ว เหลือเพียงการปฏิบัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติ เพื่อให้ได้ปัญญาระดับสาม โดยวัดความสำเร็จ (KPI) คือ จิตเป็นอุเบกขา ได้อย่างแท้จริง
หมายเหตุ
ปัญญา 3 ระดับ
1. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากการฟังหรืออ่าน
2. จินตามยปัญญา คือ ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากการคิดวิเคราะห์ พิจารณาตามเหตุและผล
3. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากฝึกฝน หรือ ลงมือปฏิบัติ
สุขภาพ
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย