12 ม.ค. เวลา 03:00 • ธุรกิจ

‘YUEDPAO’ มียอดขาย ทะลุ ‘พันล้านบาท’ แล้ว! เปิดมา 6 ปี โต 100% ตลอด

หลังจากปีที่ผ่านมา “YUEDPAO” (ยืดเปล่า) แบรนด์เสื้อยืดแต่ไม่ย้วย ออกเสื้อโปโลคอลเลกชันใหม่ “TAILOR COOL POLO INNOVATION” พร้อมความท้าทายเรื่องขนาดที่มีการออกแบบมากถึง 20 ไซซ์​ ตามส่วนสูงและน้ำหนักตัวของผู้สวมใส่ ในตอนนั้น “ตอน-ทนงค์ศักดิ์ แซ่เอี้ยว” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ยืดเปล่าเคยบอกไว้ว่า บริษัทจะมีรายได้ทะลุ “พันล้านบาท” ได้หรือไม่นั้น มีคอลเลกชันเสื้อโปโลอยู่ในสมการด้วย หากขายได้ “5 แสนตัว” ตามเป้า ก็อาจจะพอมีลุ้น
อย่างไรก็ตาม “กรุงเทพธุรกิจ” มีโอกาสเจอกับ “ทนงค์ศักดิ์” ภายในงาน “Thailand Marketing Day 2025” จึงได้สอบถามเพิ่มเติมถึงการเติบโตในปีที่ผ่าน เจ้าของแบรนด์ยืดเปล่าระบุว่า ภาพรวมปี 2567 เป็นไปในทิศทางบวก พร้อมเปิดเผยว่า รายได้ทะลุ “พันล้านบาท” ไปเรียบร้อยแล้ว นั่นหมายความว่า เรามีแบรนด์พันล้านน้องใหม่ที่ใช้เวลานับแต่วันก่อตั้งเพียง 6 ปีเศษๆ ทั้งยังมีการเติบโต 100% ทุกปีด้วย
ก่อนหน้านี้ “ทนงค์ศักดิ์” เปิดเผยถึง “Key Success” ของยืดเปล่าไว้ว่า ไม่ได้ใช้สูตรลับมากมาย มีเพียง 3 คำสั้นๆ คือ สินค้าดี ตอบโจทย์ผู้บริโภค และราคาที่จับต้องได้ ตั้งแต่ช่วงตั้งไข่ขวบปีแรกยืดเปล่าพูดคุย-สร้างบทสนทนากับลูกค้าด้วยท่าทางสบายๆ อะไรที่ไม่ดีจะเก็บฟีดแบ็กมาพิจารณาและปรับปรุงทันที เขาเล่าว่า มีเคสหนึ่งที่ทำให้โซลูชันเรื่องการจัดส่งสินค้าเปลี่ยนแปลงไป คือปัญหาเรื่องการขนส่งล่าช้าและส่งผิด
1
แม้จะเกิดขึ้นไม่บ่อยแต่วิธีแก้ปัญหาที่ให้ส่งสินค้าตีกลับทำให้ลูกค้าไม่พอใจนัก เพราะไม่ใช่ความผิดของลูกค้า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องผลักไปเป็นธุระของผู้บริโภค “ทนงค์ศักดิ์” เรียกทีมมาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน และได้ข้อสรุปว่า หากมีการส่งสินค้าผิดสี ผิดไซซ์ ไม่ตรงกับความคาดหวัง ลูกค้าไม่ต้องส่งคืน ให้เป็นหน้าที่ของร้านในการส่งสินค้าใหม่ทดแทน
“ทนงค์ศักดิ์” เล่าย้อนเส้นทางของยืดเปล่า เขาเริ่มต้นกรุยทางมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย จับธุรกิจอื่นมาก่อนหน้านี้ อาทิ ขายกางเกงบ็อกเซอร์ เป็นเทรดเดอร์ สร้างแบรนด์มาหลายครั้ง ล้มลุกคลุกคลานจนเจ๊งมาก็มาก ในช่วงแรกเสื้อยืดไม่ใช่ธุรกิจหลัก เริ่มจากขายขนาบไปกับกางเกงบ็อกเซอร์ แต่ผ่านไปสักพักก็เริ่มมองเห็นโอกาส จึงดึง “Knowhow” ที่มีมาปรับใช้ เพื่อสร้างแบรนด์ “ยืดเปล่า” ในเวลาต่อมา
เสื้อผ้าแฟชั่นมีผู้เล่นเดิมอยู่เยอะมาก แต่ระหว่างบรรทัดที่ “ทนงค์ศักดิ์” มองเห็น คือโอกาสและความต้องการที่สูงตามไปด้วย ตนเชื่อว่า โอกาสจะอยู่ในที่ๆ มีการแข่งขันสูง ซึ่งก็พบว่า ยังมีเรื่องที่ตลาดยังไม่ได้พูดถึง อาจมีส่วนที่แบรนด์เราทำได้ดีกว่า ซึ่งก็สามารถดึงมาเป็นจุดเด่นในการแข่งขันได้
ยกตัวอย่าง คอลเลกชัน “โคตรนุ่ม” ถามว่า ณ วันนั้นในตลาดมีเจ้าอื่นๆ ที่โดดเด่นเรื่องเนื้อผ้านุ่มใส่สบายหรือไม่ มีแน่นอน แต่เสื้อที่นุ่มในราคาแบบยืดเปล่ามีแล้วหรือยัง นั่นคือ “Winning Zone” ที่ตนมองหา นำไปจับกับเรื่อง “Price Point” ที่เป็นจุดแข็งของยืดเปล่า จึงทำให้แบรนด์แข็งแรงมากขึ้นนั่นเอง
“ล่าสุดผมทำเสื้อโปโล 20 ไซซ์ เราก็ไปดูว่า ผู้เล่นในตลาดโปโลใหญ่มากทั้งแบรนด์ไทยแบรนด์ญี่ปุ่น เราไปลิสต์ว่า เขาพูดถึงเรื่องอะไร แล้วแบรนด์เรามีจุดแข็งอย่างไร ก็มาดูว่า จะรุกตลาดด้วยวิธีแบบไหน เลยกลายเป็นภาพประมาณนี้”
การวางระบบหลังบ้าน คือชาเลนจ์ของ “ยืดเปล่า” เมื่อบริษัทโตขึ้นจากพนักงาน 100-200 คน เป็น 500 คน ต้องมีการปรับระบบทุกๆ ปี รวมถึงเรื่องโปรดักต์ที่ตนเชื่อว่า ทุกอย่างมี “Product Lifecycle” คนทำแบรนด์ต้องหา “New S-Curve” เรื่อยๆ ทั้งการขยายสาขา ขยายโปรดักต์ไลน์ แม้จะเกิดข้อผิดพลาดในอนาคตบ้างแต่ก็ต้องไปต่อ ลุกขึ้นแล้วปั้นโปรดักต์ใหม่เพื่อไปต่อเรื่อยๆ
เชื่อว่า ทุกธุรกิจมีความเสี่ยงเสมอ ไม่ใช่ว่า โตระดับ “พันล้าน” แล้วจะเจ๊งไม่ได้ ในทางกลับกันมันเจ๊งได้ง่ายมาก อย่าคิดว่า ขายดีแล้วจะไม่ล้ม หากดูธุรกิจระดับตำนานที่โตทะลุแสนล้านก็ยังเจอจุดหักเหได้ เป็นความท้าทายของผู้ประกอบการว่า จะทำอย่างไรให้แบรนด์ไปต่อได้ดี ตอบความต้องการลูกค้า ระบบหลังบ้านดี พัฒนาคนให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นชาเลนจ์ของผู้ประกอบการที่มีมีในทุกๆ วัน
1
โฆษณา