12 ม.ค. เวลา 11:00 • การศึกษา

## Episode 100: Neurodynamics ##

Neurodynamics: The Importance of Nerve Function in Movement
.
ใน 99 บทความที่ผ่านมา ผมได้พูดถึงกลไกการทำงานของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อกันมาอย่างละเอียด แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเคลื่อนไหวของร่างกายเรานั้นไม่ได้เกิดจากการทำงานของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อเพียงอย่างเดียว ระบบประสาทเองก็จะต้องมีการเคลื่อนไหวเช่นกัน ในบทความนี้ผมจะพาทุกคนมารู้จักกับแนวคิดเรื่อง "neurodynamics" กันครับ
Neurodynamics คือการศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและการทำงานเชิงกลของระบบประสาท รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบบประสาทกับโครงสร้างอื่นๆ ในร่างกาย แนวคิดนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าเส้นประสาทไม่ใช่แค่สายไฟที่อยู่นิ่งๆ แต่มันสามารถเคลื่อนไหวได้เช่นเดียวกับเนื้อเยื่อชนิดอื่นๆ โดยเส้นประสาทมีคุณสมบัติที่น่าสนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการยืดตัว (elongation) การเลื่อนไถล (sliding) การเปลี่ยนแปลงหน้าตัด (cross-sectional change) และการบิดตัว (twist)
ในการเคลื่อนไหวปกติของร่างกาย เส้นประสาทจะต้องสามารถปรับตัวตามการเคลื่อนไหวของข้อต่อและกล้ามเนื้อได้ เช่น ในท่า Straight Leg Raise (SLR) ที่ 60 องศา sciatic nerve จะถูกยืดออกประมาณ 2-3 เซนติเมตร หรือในการยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ median nerve อาจถูกยืดออกถึง 5-7 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าเป็นระยะที่มากทีเดียวเมื่อเทียบกับความยาวทั้งหมดของเส้นประสาท
ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อเส้นประสาทไม่สามารถปรับตัวได้ตามการเคลื่อนไหว อาจจะมาจากมีพังผืดมายึดติด หรือมีการกดทับ แม้ในกรณีที่ไม่มีอาการชาหรือปวดร้าวอย่างชัดเจน ความตึงตัวของเส้นประสาทก็สามารถส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ ร่างกายมักจะพยายามชดเชยด้วยการจำกัดการเคลื่อนไหวในบางทิศทางโดยอัตโนมัติ ทำให้เกิดรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติไป การสังเกตและเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างความตึงตัวของเส้นประสาทกับการเคลื่อนไหวนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องดูนอกเหนือจากปัญหาของกระดูกกล้ามเนื้อ
การตรวจประเมินทาง neurodynamics จึงมีความสำคัญมาก เพราะช่วยให้เราแยกแยะได้ว่าอาการของคนไข้เกิดจากปัญหาที่กล้ามเนื้อ ข้อต่อ หรือระบบประสาท วิธีการตรวจที่นิยมใช้มีหลายวิธี เช่น การทำ nerve tension tests อย่าง Straight Leg Raise (SLR) สำหรับ sciatic nerve หรือ Upper Limb Tension Test (ULTT) สำหรับเส้นประสาทที่แขน
โดยจะทำการยืดเส้นประสาทอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสังเกตอาการของคนไข้ นอกจากนี้ยังมีการคลำตามแนวเส้นประสาทเพื่อหาจุดที่มีความไวต่อการกด และการตรวจประเมินทางระบบประสาทอื่นๆ เช่น การตรวจ sensation, muscle strength เป็นต้น
การรักษาทาง neurodynamics มีหลากหลายวิธี โดยมีเป้าหมายหลักคือการเพิ่มความยืดหยุ่นและการเคลื่อนไหวของเส้นประสาท วิธีที่นิยมใช้ได้แก่ การทำ neural mobilization ซึ่งเป็นเทคนิคการเคลื่อนไหวเส้นประสาทแบบเบาๆ การให้คนไข้ทำ nerve gliding exercises เช่น การทำ nerve flossing สำหรับผู้ป่วย carpal tunnel syndrome นอกจากนี้ยังมีการใช้ manual therapy ในตำแหน่งที่เป็น pathway ของเส้นประสาท การปรับท่าทางเพื่อลดแรงกดทับ และการให้ความรู้แก่คนไข้เกี่ยวกับการดูแลตนเองและท่าทางที่ควรหลีกเลี่ยง
ถ้าปัญหาอยู่ที่ neurodynamic การรักษาควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และปรับตามอาการของคนไข้ เพราะการกระตุ้นเส้นประสาทมากเกินไปอาจทำให้อาการแย่ลงได้ ดังนั้น ในการดูแลรักษาคนไข้ที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว เราจึงไม่ควรมองแค่ปัญหาที่กระดูกและกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่ควรพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะมีปัญหาทางระบบประสาทร่วมด้วยเสมอ
การผสมผสานความรู้ทั้งในด้าน biomechanics และ neurodynamics จะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์และรักษาปัญหาการเคลื่อนไหวได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ใครที่มีเคสที่แก้ที่กระดูกกล้ามเนื้อแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ก็ลองเช็คเรื่อง neurodynamics ดูกันนะครับ
ถ้าชอบเนื้อหาแบบนี้ผมฝากกด like กดแชร์ กดติดตามเพจphysioupskillด้วยนะครับ ส่วนถ้าใครมีข้อสงสัยอะไรก็commentไว้ด้านล่างได้เลยครับ
_PhysioUpskill_
#Physioupskill
#Neurodynamics
#kinesiology
⭐สำหรับใครที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติม สามารถอ่านบทความอื่นๆได้ที่ https://physioupskill.com/บทความ/
หรือดูรายละเอียดคอร์สเรียนของเพจได้ที่ https://physioupskill.com/คอร์สเรียน/
ได้เลยครับ
Ref.
Butler, D. S. (2000). The Sensitive Nervous System. Noigroup publications.
Shacklock, M. (2005). Clinical Neurodynamics: A New System of Neuromusculoskeletal Treatment. Elsevier Health Sciences.
Coppieters, M. W., & Butler, D. S. (2008). Do 'sliders' slide and 'tensioners' tension? An analysis of neurodynamic techniques and considerations regarding their application. Manual therapy, 13(3), 213-221.
Nee, R. J., & Butler, D. (2006). Management of peripheral neuropathic pain: Integrating neurobiology, neurodynamics, and clinical evidence. Physical Therapy in Sport, 7(1), 36-49.
Ellis, R. F., & Hing, W. A. (2008). Neural mobilization: a systematic review of randomized controlled trials with an analysis of therapeutic efficacy. Journal of manual & manipulative therapy, 16(1), 8-22.
โฆษณา