12 ม.ค. เวลา 01:41 • ท่องเที่ยว
ชิบุยะ

มาโตเกียวทำอะไร? มาช้อปปิ้ง ❌ มาดูห้องน้ำ ✅

หลายคนอ่านข้อความด้านบนแล้วงงว่าจะสื่อถึงอะไร หรือจะทำมีมอะไรหรือเปล่า แท้จริงแล้วมันเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุประสงค์ในการไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งล่าสุดของผม ด้วยเพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับห้องน้ำสาธารณะมาก
ทั้งเรื่องความสะอาด ความสะดวกสบาย และดีไซน์การออกแบบ ทำให้ห้องน้ำสาธารณะที่ญี่ปุ่นได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมการต้อนรับที่มีชื่อเสียงในระดับโลก
และเมื่อครั้งปี 2020 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิก ทาง Nippon Foundation มูลนิธิที่สนับสนุนการพัฒนาด้านสาธารณสุข สวัสดิการทางสังคม และการพัฒนาทางทะเล ร่วมมือกับสำนักงานเขตชิบูย่า และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวชิบูย่า ได้จัดทำโครงการ The Tokyo Toilet ที่เกี่ยวกับห้องน้ำสาธารณะขึ้น เพื่อเป็นการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะหลั่งไหลเข้ามา โดยได้เชิญนักคิดนักออกแบบชื่อดังระดับโลก 16 คน มาออกแบบห้องน้ำสาธารณะใหม่ใน 17 แห่ง ทั่วเขตชิบูย่าของกรุงโตเกียว
ประกอบกับกระแสจากหนัง Perfect Days ตัวแทนจากหนังญี่ปุ่นที่เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาหนังนานาชาติเมื่อปี 2024 ที่ผ่านมา ที่เล่าเรื่องราวปรัชญาธรรมชาติของชีวิตผ่านชายสูงวัยที่ทำอาชีพทำความสะอาดห้องน้ำของ Tokyo Toilet ทำให้เกิดกระแสตามรอยห้องน้ำทั้ง 17 แห่งนี้ขึ้นมา ซึ่งผมเองก็คือหนึ่งในนั้น
แต่ด้วยห้องน้ำทั้ง 17 แห่งต่างอยู่กันกระจัดกระจายคนละทิศคนละทาง ผมเลยเลือกไปดูที่ผมสนใจจริงๆ ซึ่งมีอยู่ 4 จุด
Yoyogi Fukamachi Mini Park เป็นสวนสาธารณะเล็กๆ ที่อยู่ข้างสวน Yoyogi ห้องน้ำที่สวนสาธารณะนี้ออกแบบโดย Shigeru Ban สถาปนิกชื่อดังระดับโลกชาวญี่ปุ่น เขาออกแบบห้องน้ำโดยคำนึงถึงพฤติกรรมของเราเวลาจะใช้ห้องน้ำสาธารณะ คนส่วนใหญ่จะคำนึงถึงเรื่องความสะอาด และมีคนเข้าใช้งานอยู่หรือไม่
ด้วยเหตุนี้เขาจึงนำเทคโนโลยีมาใช้กับผนังห้องน้ำที่ปกติจะโปร่งแสงแต่จะเปลี่ยนเป็นผนังทึบทันทีเมื่อมีใครมาล็อกประตู สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบความสะอาดและดูว่ามีคนใช้งานห้องน้ำอยู่หรือไม่จากภายนอก อีกทั้งในตอนกลางคืนตัวผนังจะส่องสว่างเหมือนโคมไฟที่งดงามในสวนได้ด้วย
ซึ่งคิดว่าใครหลายคนคงได้เห็นคลิปไวรัลที่มีคนถ่ายห้องน้ำสาธารณะแห่งนี้ที่มีสีสันโปร่งแสงสามารถมองเห็นบรรยากาศภายในห้องได้จากข้างนอก แต่พอมีคนเดินเข้าห้องน้ำแล้วเลื่อนตัวล็อกประตู ผนังห้องน้ำที่โปร่งแสงจะกลายเป็นทึบทันที เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก ผมเองก็อยากมาชมห้องน้ำที่จุดนี้มากที่สุด เพราะอยากเห็นกับตาและอยากรู้กลไกลวิธีการทำงานของมัน
แต่เมื่อผมไปถึงมันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ผนังห้องน้ำมันทึบทั้งๆ ที่ห้องว่างอยู่ ผมลองเปิดประตูห้องน้ำแล้วล็อกประตูดูผนังก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ผมเดินเข้าเดินออกอยู่หลายรอบผลก็เหมือนเดิม ซึ่งมันก็ไม่ใช่แค่ผมที่ทำแบบนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตามรอยมาห้องน้ำที่นี่ก็ลองทำแต่ผนังห้องก็ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร
จนผมเห็นป้ายที่อยู่ข้างๆ ห้องน้ำจึงเดินไปอ่าน เนื้อความบอกว่าเนื่องจากตอนนี้อากาศหนาวเย็นทำให้กลไกลการทำงานจากผนังโปร่งแสงเปลี่ยนให้เป็นผนังทึบเวลามีคนใช้ห้องน้ำแล้วล็อกประตูนั้นมันจะช้านานกว่าปกติมาก ทำให้หากมีคนเข้ามาใช้งานห้องน้ำจริงๆ ผนังจะทึบไม่ทันการ ทางเจ้าหน้าที่จึงตั้งระบบให้ผนังมันทึบตลอดเวลาในช่วงหน้าหนาวนี้เพื่อแก้ปัญหา
อ่านจบผมก็แอบผิดหวังที่ตั้งใจมาดูดันอดเห็น แต่ก็เข้าใจว่าทางเจ้าหน้าที่ทำไปเพื่อไม่ให้มันเกิดปัญหากับคนที่ใช้งานจริง หากใครอยากมาดูการทำงานของมันเป็นยังไงอาจต้องมาในช่วงหน้าร้อน
Haru-no-Ogawa Community Park เป็นสวนสาธารณะเล็กๆ ที่อยู่ติดกับส่วน Yoyogi Fukamachi Mini Park ห้องน้ำที่สวนนี้ออกแบบโดย Shigeru Ban เป็นคนเดียวกับที่ดีไซน์ห้องน้ำที่สวฤAน Yoyogi Fukamachi Mini ไอเดียที่ใช้จึงเหมือนกัน คือ เล่นเรื่องผนังโปร่งแสงพอมีคนเข้าใช้ล็อกประตูผนังจะเปลี่ยนเป็นทึบ
จะต่างกันแค่สีของผนัง ห้องน้ำที่ Yoyogi Fukamachi Mini จะใช้สีโทนร้อน สีส้ม สีแดง สีม่วง ส่วนห้องน้ำที่ Haru-no-Ogawa Community จะใช้สีโทนเย็น คือ สีฟ้า สีเขียว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ตั้งให้ผนังมันทึบตลอดเวลาด้วยเหตุผลเดียวกันดังที่กล่าวไป ผมจึงอดเห็นผนังห้องน้ำโปร่งแสงเปลี่ยนเป็นทึบไปตามระเบียบ
Nabeshima Shoto Park เป็นสวนสาธารณะที่ในย่านอันเงียบสงบ มีโรงเรียน มีบ้านเรือน ตั้งอยู่บนเนินเขา ทำให้ตอนผมไปเดินเหนื่อยเอาเรื่องอยู่ ห้องน้ำที่สวนนี้มีชื่อว่า A Walk in the Woods ออกแบบโดย Kengo Kuma สถาปนิกชื่อดังระดับโลกชาวญี่ปุ่น เขาออกแบบเป็น “หมู่บ้านห้องน้ำ” ที่ตั้งอยู่กลางพื้นที่เขียวชอุ่มของสวนโชโตะ
โดยแบ่งเป็นกระท่อมห้าหลังที่ปกคลุมด้วยไม้ซีดาร์ที่จัดวางเรียงเป็นระแนงปกคลุมรอบห้องน้ำ โดยจะเปิดโล่งให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก และง่ายต่อการเดินผ่าน ตัวห้องน้ำทั้ง 5 หลัง จะวางตำแหน่งตามเส้นทางที่มีไม้ซีดาร์ตกแต่งไว้ เป็นเหมือนเส้นทางการเดินเข้าป่าที่หายลับไปกับต้นไม้
ห้องน้ำแต่ละหลังในหมู่บ้านห้องน้ำนี้จะถูกออกแบบด้วยเลย์เอาท์และการตกแต่งภายในที่แตกต่างกัน เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย เช่น สำหรับครอบครัว สำหรับผู้ชาย สำหรับผู้หญิง สำหรับการใช้รถเข็น สำหรับเด็ก หรือเพศทางเลือก เป็นการออกแบบที่ตอบโจทย์ยุคแห่งความหลากหลายและเท่าเทียมกันที่ผสานเข้ากับการใช้ชีวิตสู่ธรรมชาติในป่าได้อย่างดี
Jingu-Dori Park เป็นสวนสาธารณะที่อยู่ใกล้กับย่านช้อปปิ้ง ห้องน้ำที่สวนนี้ออกแบบโดย Tadao Ando สถาปนิกขวัญใจของผมเอง ห้องน้ำนี้มีชื่อว่า “AMAYADORI” โดยอันโดะมีแนวคิดออกแบบห้องน้ำให้เป็นงานสถาปัตยกรรมขนาดเล็กที่ก้าวข้ามขอบเขตของห้องน้ำสาธารณะทั่วไป เพื่อกลายเป็นสถานที่ที่น่าใช้ น่าภูมิใจในใจกลางเมืองโตเกียว
เขาดีไซน์แบบแปลนห้องน้ำเป็นวงกลม ตั้งโดดเด่นอยู่ภายในสวน โดยงานชิ้นนี้เขาไม่ได้ใช้คอนกรีตเปลือยที่เป็นวัสดุซิกเนเจอร์งานออกแบบเขา แต่เลือกใช้อลูมิเนียมแทน ซึ่งเขาดีไซน์ระแนงอลูมิเนียมโดยรอบทำให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนตัว แต่ก็ยังสามารถมองเห็นพื้นที่ระหว่างภายในและภายนอกได้ อีกทั้งยังสามารถนำแสงจากธรรมชาติเข้ามาและช่วยในเรื่องการระบายอากาศได้อีกด้วย
อันโดะ ออกแบบโดยให้ห้องน้ำแห่งความเท่าเทียมสำหรับคนทุกกลุ่มอยู่ตรงกลางทางเข้าเป็นตัวแบ่ง ห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิง ที่อยู่ด้านข้างซ้าย-ขวา รวมทั้งยังไม่ลืมที่จะมีไฟสัญญาณอยู่ตรงหน้าประตูเพื่อบอกเหตุฉุกเฉินให้คนด้านนอกได้เห็น และมีทางเดินที่สามารถเดินได้โดยรอบพร้อมติดไฟยาวภายใต้หลังคาทรงกลม ให้ความรู้สึกเหมือนระเบียงทางเดินภายนอกบ้านสไตล์ญี่ปุ่นที่ดูเป็นส่วนตัว แต่ก็สามารถมองเห็นสวน Jingu-Dori Park ภายนอกได้
นับเป็นงานออกแบบห้องน้ำสาธารณะที่ไม่ได้นึกถึงแค่เรื่องความสะอาดสุขอนามัยเท่านั้น แต่ยังได้สอดใส่ความเป็นญี่ปุ่นที่สามารถเชื่อมโยงธรรมชาติภายนอกได้อย่างดี
ห้องน้ำสาธารณะทั้ง 4 แห่งที่ผมได้ไปดูมานี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งจาก 17 แห่งของโครงการ Tokyo Toilet มันทำให้เราเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นเขาให้ความสำคัญและคำนึงถึงสุขลักษณะขั้นพื้นฐานของมนุษย์ คำนึงถึงความหลากหลายของผู้คน คำนึงถึงผู้ที่มีปัญหาในการใช้ห้องน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ผู้สูงวัย ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่มีประจำเดือน คนพิการ เด็กเล็ก รวมถึงผู้ที่มีความจำเป็นในการใช้ห้องน้ำอย่างเร่งด่วน สิ่งนี้มันช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศให้เกิดขึ้นในเวทีโลก
ใครจะไปคิดว่าห้องน้ำสาธารณะที่ดี สะอาด ปลอดภัย สะดวกสบาย ดีไซน์สวยงาม จะสามารถช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ นับเป็นอีกหนึ่งแนวคิดตัวอย่างดีๆ ที่ทางประเทศไทยเราน่าเอาไปปรับใช้กันนะครับ
โฆษณา