เมื่อวาน เวลา 12:11 • การเมือง

นายก อบจ. มีไว้ทำไม ในเมื่อมีผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่แล้ว

เมื่อคืน ผมนั่งดูคลิปรายการของมติชนที่คุณเอ๊กซ์ คุณอ๊อกซ์ สัมภาษณ์อาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ซึ่งคุยกันเรื่องเลือกตั้ง อบจ. ที่กำลังจะมาถึง พอถึงช่วงกลางรายการ คุณอ๊อกซ์ ก็บอกกับอาจารย์พิชญ์ว่า มีผู้ชมรายการถามกันมาหลายคนว่าเมื่อมีผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว ทำไมต้องมีเลือกนายก อบจ. ด้วย และคุณอ๊อกซ์ก็ยอมรับออกมาตรงๆ ว่า แกก็ตอบไม่ได้ชัดเหมือนกันว่าทั้งสองตำแหน่งนี้ทำงานต่างกันยังไงบ้าง
พอได้ฟังถึงตรงนี้ ทำเอาผมสะดุดแรงๆ เพราะเมื่อ 4 ปีก่อน ผมก็ทดสอบคำถามนี้กับหลายคน ปรากฎว่าไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้เลย ไม่ว่าจะจบการศึกษาสูงแค่ไหน และที่ว่าต้องสะดุดเพราะด้วยคำถามนี้ ทำให้ผมรู้สึกว่า ไม่ว่าผ่านไปนานแค่ไหน ประเทศไทยก็เหมือนเดิม ผมจึงตั้งใจฟังอาจารย์พิชญ์ตอบอย่างตั้งใจ แต่ก็ผิดหวังครับ เพราะสิ่งที่อาจารย์พิชญ์ตอบ สำหรับผม น่าจะเป็นความคาดหวังของแกมากกว่าว่า นายก อบจ. ควรต้องทำอะไร ไม่ใช้หน้าที่ในปัจจุบันต้องทำอะไร คำตอบของแกจึงถูกบ้าง ผิดบ้าง
เช่น แกตอบว่า นายก อบจ. มีหน้าที่ต้องวางแผนยุทธศาสตร์ให้จังหวัด เพราะผู้ว่าฯ มาจากการแต่งตั้ง มาอยู่ไม่นานก็ไป แต่นายกเป็นคนพื้นที่อยู่นาน ซึ่งคำตอบนี้ ผิดครับ เพราะในความเป็นจริง คนที่ทำแผนยุทธศาสตร์ให้กับจังหวัดคือผู้ว่าฯ ส่วนนายก อบจ. ถ้าจะมีก็เป็นแผนย่อย ๆ และยังไม่เคยเห็นจังหวัดไหนที่นายก อบจ. ทำแผนยุทธศาสตร์จังหวัดเป็นเรื่องเป็นราว ในขณะที่ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเป็นเรื่องเป็นราว เพราะต้องทำส่งเพื่อของบจังหวัดตามกฎหมาย
คำตอบถัดมาของอาจารย์พิชญ์คือ มีหน้าที่ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ในระดับเทศบาลและ อบต. ซึ่งคำตอบนี้ถูกครับ แต่ที่ไม่ค่อยถูกคือ อาจารย์พิชญ์คิดว่า น่าจะเป็นผู้ประสานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดได้อย่างราบรื่น เพราะในความเป็นจริง หลายแห่ง นายก อบจ. กับนายกเทศบาล ขัดแย้งกัน นายก อบจ. กับ ผู้ว่าฯ ขัดแย้งกัน การขับเคลื่อนทำได้ยากมากครับ
1
ในคำตอบเดียวกันนี้ อาจารย์พิชญ์ยังมองว่า อบจ. มีงบมาก ทำอะไรได้เยอะ ซึ่งอันนี้ก็มีทั้งถูกและผิด ที่ถูกคือ อบจ.ของจังหวัดใหญ่เท่านั้นที่มีงบมาก อบจ.ของจังหวัดเล็ก งบไม่มาก และงบที่มีอยู่นั้น สัดส่วนจำนวนมากเป็นงบประจำ ในขณะที่งบลงทุนจำนวนหนึ่งก็ถูกกำหนดไว้แล้วว่าต้องนำไปทำอะไรบ้าง จะเหลืองบที่นำไปพัฒนาตามใจชอบจริงๆ ไม่มาก
ที่ผมเศร้าใจมากคือ ไม่ว่าผ่านไปกี่ปี กี่ปี ประชาชนจำนวนมาก สื่อมวลชนชั้นนำ หรือแม้แต่นักวิชาการจำนวนมาก ก็ยังไม่เคลียร์ในบทบาทหน้าที่ของ อบจ. และท้องถิ่น ทำให้ทุกวันนี้ ประชาชนเกือบทั้งหมดไปเลือก นายก อบจ. โดยไม่รู้ว่า นายก อบจ. ต่างจากผู้ว่าฯ ยังไง น่าเศร้าสำหรับประเทศไทย
เมื่อ 4 ปีก่อน หลังจากที่ผมทดสอบสอบถามคนรู้จักแล้ว ผมจึงเขียนบทความเพื่ออธิบายความแตกต่างระหว่างท้องถิ่นกับจังหวัดไว้ แต่ไม่เคยคิดว่าบทความนั้นจะยังใช้ได้เหมือนเดิมเมื่อเวลาผ่านไปในอีก 4 ปีต่อมา ผมอยากให้บทความนี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไป แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่ใช่คนมีชื่อเสียง ก็ได้แต่หวังว่าบทความนี้จะกระเด็นไปถึงผู้มีชื่อเสียงและจะมีคนที่มีชื่อเสียงหยิบเอาไปใช้ในการให้ความรู้กับประชาชน
อย่างไรก็ตาม บทความที่ผมเคยเขียนไว้นี้ ยังขาดข้อเสนอที่สำคัญในหลายเรื่อง เพราะถ้าจะให้เป็นอย่างที่อาจารย์พิชญ์อยากเห็น สิ่งแรกที่ต้องแก้ก่อนเลยคือการกระจายอำนาจ ที่ต้องให้ อบจ. มีอำนาจเหมือนกับ นายกฯ ท้องถิ่นของประเทศที่พัฒนาแล้ว
และอำนาจต้องมากพอที่จะกำหนดการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ ไม่ใช่ถูกทุบอำนาจให้กลายเป็นเล็กๆ น้อยๆ กระจายเป็น อบต. และเทศบาล ที่ต่างคนต่างมีอำนาจของตนเอง แต่เป็นอำนาจเล็กๆ และงบประมาณเฉพาะของตนที่ไม่สามารถพัฒนาจังหวัดและแก้ปัญหาของจังหวัดได้อย่างจริงจังอย่างที่เป็นอยู่ ยังต้องมีข้อเสนออีกมากครับในเรื่องนี้ แต่ขอเอาบทความเก่ามาให้อ่านเล่นๆ ก่อนครับ
โฆษณา