Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วรภพ วิริยะโรจน์
•
ติดตาม
12 ม.ค. เวลา 16:18 • การเมือง
[ จี้ กลต. เร่งอุดช่องว่างกฎหมาย กรณีดีลพิสดาร CPAXT...
[ จี้ กลต. เร่งอุดช่องว่างกฎหมาย กรณีดีลพิสดาร CPAXT และ ขอให้รมว.คลัง คุ้มครองนักลงทุนรายย่อย ให้คุ้มค่าภาษี ]
จากดีลพิสดาร CPAXT ในโครงการ The Happitat กมธ.การเงินการคลัง เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา จึงได้เชิญ กลต. และ ตลท. มาหารือ ซึ่งน่าผิดหวังที่ กลต. ยืนยันในการประชุมนั้น ดีลพิสดารนี้ ไม่นับว่าเป็น “รายการที่เกี่ยวโยงกัน” (RPT) แต่จะรับไปปรับปรุงอุดช่องว่างทางกฎหมายนี้ในอนาคต
ถ้าสรุปสั้นๆ ว่าดีลพิสดารนี้คือ เมื่อเดือน ธ.ค. 67 CPAXT (บริษัท MARKO เดิม) ประกาศตั้งบริษัทย่อยใหม่ชื่อ AGP ร่วมกับ MQDC ซึ่งผู้บริหารนามสกุล “เจียรวนนท์” เหมือนกับ CPAXT เพียงแต่ว่าดีลนี้ CPAXT จ่ายค่าหุ้นเป็นเงินสด แต่ MQDC จ่ายค่าหุ้นเป็นหุ้นโครงการ The Happitat
ซึ่งผลลัพธ์ทำให้ CPAXT กลายเป็นผู้ถือหุ้นโครงการ The Happitat ไปแล้วโดยปริยาย จึงเป็นที่มา ของดีลพิสดาร ซึ่งทำให้นักลงทุนเกิดความไม่เชื่อมั่น และส่งผลให้ราคาหุ้น CPAXT ลดลงไป 19% หรือ มูลค่าหุ้นลดลงไป 67,775 ล้านบาท ภายใน 1 วัน!
กลต. ชี้แจงในที่ประชุม ชัดเจนว่า เนื่องจากการเป็น ธุรกรรมร่วมกันตั้งบริษัทย่อย (ไม่ใช่ไปซื้อหุ้น หรือลงทุนในหุ้นตรงๆ) จึงไม่เข้าข่ายว่าเป็น “รายการที่เกี่ยวโยงกัน” (RPT) ตามหลักเกณฑ์กฎหมายปัจจุบัน แต่ถ้ามีธุรกรรมอื่นๆ ในอนาคต กลต. จะต้องพิจารณาอีกที
ซึ่งถ้าเป็น RPT แล้ว มีมูลค่าเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด CPAXT จะต้องนำไปขอมติประชุมผู้ถือหุ้น โดยที่ผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวโยงกันหรือ เครือ CP จะไม่มีสิทธิลงมติด้วย เพราะเจตนาของหลักเกณฑ์นี้คือเพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อย ไม่ให้ถูกเอาเปรียบโดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่จะนำเงินบริษัทมหาชนไปทำธุรกรรมอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ เช่น ซื้อหุ้นบริษัทครอบครัวอะไรแบบนี้ได้ง่ายๆ ดังนั้นที่นักลงทุนตั้งคำถามกับดีลนี้มากคือ ทำไมดีลพิสดารอันนี้ ถึงสามารถตีความว่าไม่ใช่เป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันได้
แต่ก็ยังดี ที่ กลต. ยืนยันว่า จะรับไปปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่ ทาง กมธ.การเงินการคลัง ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า นี่เป็นช่องว่างทางกฎหมายที่ชัดเจน ที่ถ้าปล่อยไป ก็จะเหมือนกับเป็นการประกาศให้ บริษัทมหาชนอื่นๆ ใช้ช่องว่างทางกฎหมายนี้แทน และทำลายหลักการคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อยของตลาดหุ้นไทยไปเลย
และ กมธ. การเงินการคลัง จะขอติดตามการตรวจสอบ กรณีผู้บริหาร CPAXT ขายหุ้น ก่อนประกาศดีลนี้ 10 วัน ทำให้เหมือนบังเอิญโชคดีขายหุ้นก่อนประกาศดีลที่ทำให้ราคาหุ้นลดลงไป 19% ได้ ว่า กลต.จะพิจารณาว่า กรณีนี้เป็น การใช้ข้อมูลภายในมาใช้หาประโยชน์ในการซื้อขาย (Insider Trading) หรือไม่
แต่ที่น่าผิดหวังที่สุดสำหรับผม ก็คือคำตอบจาก ตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ที่ไม่มีคำตอบว่า จะทบทวน ESG Rating ของ CPAXT หรือไม่ เพราะ ESG Rating (ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social และ Governance เพื่อวัดคะแนนการบริหารที่ดีและยั่งยืน) ที่ทาง ตลท. ประเมินนั้น วัตถุประสงค์ของมันคืออยากเห็น บริษัทมหาชน มีการบริหารที่มีธรรมภิบาลที่ดี ซึ่งหมายถึงการบริหารที่ดีต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย และ มากกว่าที่กฎหมายกำหนด ตลท. จึงได้ประเมิน ESG Rating ให้
และ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดย รมว.คลัง ซึ่งอดีตเป็นถึง ประธาน ตลท. มีนโยบาย จูงใจให้กองทุน ลงทุนใน บริษัท ที่มี ESG Rating ที่ดี สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมาได้ แต่กลับกลายเป็นว่าถ้า ตลท. ไม่มีการทบทวน ESG Rating ของ CPAXT ก็เท่ากับว่า นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะเห็นบริษัทมหาชนมีธรรมาภิบาลที่ดีนั้นไร้ความหมายในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ถือการเป็นล้มเหลวที่รัฐจะลดหย่อนภาษีให้
เพราะ ครม. และ รัฐบาล เป็นคนแต่งตั้งกรรมการและกำกับ กลต. และ คณะกรรมการ กลต. ก็เป็นคนแต่งตั้ง กรรมการ ตลท. และ กำกับการทำงานของ ตลท. ดังนั้น รัฐบาล และ รมว.คลัง จึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการกำกับดูแลตลาดทุนไปได้
สุดท้าย ผมยังอยากเห็น ตลาดหุ้นไทย ยังคงเป็นความหวังในการอนาคตให้กับ นักลงทุนไทย ได้อยู่บ้าง ในยามที่ เศรษฐกิจไทยเอง ดูไม่ค่อยมีอนาคตซักเท่าไหร่ จึงต้องขอให้ประชาชนและนักลงทุนรายย่อยช่วยกันผลักดันให้ รัฐบาลและรมว.คลัง กำกับ และเข้มงวด กับการคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยให้มากขึ้น อย่างน้อยก็ขอให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เคยประกาศไว้ด้วย
#CPAXT #พรรคประชาชน #สสเติ้ล
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย