13 ม.ค. เวลา 04:23 • ความคิดเห็น

Zone of genius

เมื่อวันก่อนผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์กระทิง พูนผล เจ้าพ่อ start up ไทยและผู้นำแห่งองค์กรเทคโนโลยีที่ล้ำสุดในไทยอย่าง KBTG ที่ HOW Club กระทิงที่ผมรู้จักมานานแต่ไม่เคยได้มีโอกาสสัมภาษณ์ลึกๆ ซักที รอบนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ได้เจาะลึกจนตอบคำถามข้อสำคัญที่เกี่ยวกับกระทิงได้
กระทิงที่ผมรู้ประวัติเป็นอย่างดีนั้นเคยเล่าว่าโชคดีมีสี่แบบและเขาเองก็เป็นแบบที่สี่ สามแบบแรกก็คือเป็นแนวถูกหวย ได้มรดก อยู่ถูกที่ถูกเวลา แต่โชคดีแบบที่สี่คือโชคดีที่ไม่มีโชค กระทิงไม่มีโชคใดๆมาตั้งแต่เกิด จากเด็กชนบทแถวกำแพงเพชร ต้องอาศัยความมุมานะพยายามอย่างหนักจนไปถึงระดับเรียน Stanford ทำงาน google และมาเป็นกระทิงจนถึงปัจจุบัน
1
ความไม่มีโชคทำให้กระทิงไม่คิดมาก อยากได้อะไรเหมือนคนอื่นก็แค่ต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่นหลายๆ เท่า ก็จะได้มา … เป็นความคิดของกระทิงไม่ว่าทำเรื่องใดก็ตาม
1
กระทิงมีวินัยในระดับเหนือมนุษย์ซึ่งผมคิดว่าเขาไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากลำบากใดๆเพราะฝึกฝนวินัยแบบนั้นมาตั้งแต่เด็ก กระทิงไม่ได้เป็นเด็กฉลาดแต่อาศัยลูกอึด ลูกบ้า อยากชนะคณิตศาสตร์ระดับโอลิมปิคก็ตื่นตีสี่มาทำเลขเป็นชั่วโมงๆ ทำให้ได้ห้าพันข้อก็จะชนะเหรียญทองได้
1
ตอนที่เรียนวิศวะใหม่ๆ ภาษาอังกฤษห่วยแตกมากแต่อยากเข้า Stanford ที่โทเฟลต้องเต็ม GMAT ผิดได้ข้อเดียวเป็นขั้นต่ำ กระทิงก็ใช้ความเป็นนายวินัย นามสกุลใจสู้ ตื่นตีสี่เหมือนเดิม อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษทุกคำในหนึ่งฉบับทุกวัน ฟังเทปสอนภาษา ทำข้อสอบซ้ำๆวันละหลายชั่วโมงอยู่สามปี ในที่สุดก็ได้คะแนนตามที่ต้องการ
1
ลูกอึดของกระทิงที่กลายเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว ขนาดตอนที่มีตำแหน่งสูงแบบนี้ทำงานเสร็จค่ำๆ ตีหนึ่งก็เริ่มเรียน AI online ถึงตีสี่แทบทุกวันจนได้ certificate หลายใบ กระทิงว่างเป็นอ่านหนังสือ อ่านจบแต่ละปีเป็นร้อยๆ เล่ม แต่ละเล่มยากและหนาในระดับที่ผมอ่านได้ซักสองเล่มต่อปีก็หืดจับ จากเรียนรู้อะไรก็ใช้เวลากับมัน ถ้าใช้เวลามากพอก็จะเก่งได้ทุกคน กระทิงเล่าไว้แบบนั้น
1
แต่ที่ผมสงสัยมานานและเพิ่งได้คำตอบก็คือ กระทิงเป็นคนที่ริเริ่มทำงานใหม่ๆได้ตลอดเวลาและทำได้ดีเสียด้วย ความพยายามอย่างหนักอาจจะพามาซึ่งความเก่งเฉพาะทาง แต่ทำไมกระทิงถึงทำอะไรสำเร็จหลายอย่างได้ ทั้งเป็นประธาน KBTG ดูแลคนเป็นพันและมีผลงานเด่นๆออกมามากมาย
ในขณะที่ก็ดูแลกองทุน 500 startup เพิ่งตั้งกองทุนใหม่อีกกอง เสาร์อาทิตย์ก็สอนหลักสูตร CXO มาแล้วหลายรุ่น ไม่รวมถึงค่ำๆวันธรรมดาและวันหยุดก็ทำ HOW Club กับผมได้อีกแถมไฟแรงไม่มีตกอีกด้วย ทำได้ดีมากๆงานหนึ่งก็ไม่ง่ายอยู่แล้ว แต่สร้างสรรค์งานใหม่ๆออกมาได้โดยที่ของเก่าก็ยังดีต่อเนื่องนี่แทบนึกไม่ออกว่าทำได้อย่างไร
จนกระทิงเล่าถึงหลักคิดที่เขานำมาใช้ เป็นหลักคิดของคุณ Naval Ravikant Executive coach ชื่อดังจาก Silicon Valley แหล่งคิดนวัตกรรมใหม่ของโลก คุณนาวาลมีเครื่องมือที่ไว้ประเมินภาวะผู้นำในการทำงานว่าในพื้นที่การงานของเรานั้นจะมีสี่โซน โซนแรกคือ zone of incompetence เป็นงานที่เราทำได้ไม่ดีเลย ทำทีไรก็มักจะมี negative feedback เสมอ และมีคนพร้อมที่จะทำได้ดีกว่าเรา (สำหรับผมก็คืองานละเอียดๆที่ต้องใช้ข้อมูลมากๆ ห่วยมาตั้งแต่เริ่มงาน)
1
โซนที่สองเรียกว่า zone of competence คือลักษณะงานที่เราพอทำได้ ไม่ได้เด่นกว่าคนอื่นแต่ก็ไม่ได้แย่และทำไปก็งั้นๆ ไม่ได้รู้สึกว่าสนุกกับมันเท่าไหร่ โซนที่สามเรียกว่า zone of excellence คือลักษณะงานที่ทำไปก็ได้รับคำชมตลอดเวลาเพราะเราทำได้ดีกว่าคนอื่น ยิ่งทำยิ่งเก่งและโดดเด่นอย่างมาก แต่เราไม่ได้ชอบทำมันเท่าไหร่ กระทิงบอกว่าผู้นำองค์กรส่วนใหญ่จะโตขึ้นมาและติดกับดักนี้เพราะทำได้ดีมาก มีประโยชน์ต่อองค์กร บริษัทเห็นค่ามากๆแต่พลังเรากลับลดลงเรื่อยๆ
7
โซนสุดท้ายเรียกว่า Zone of genius เป็นงานที่เราทำแล้วแทบลืมเวลาและทำแล้วก็ได้ผลงานดีมากเมื่อเทียบกับเวลาที่ใช้ไป เป็นโซนที่ดีทั้งองค์กรและดีทั้งตัวเอง ยิ่งทำยิ่งมีพลังและยิ่งเก่งขึ้นซึ่งผู้นำที่เก่งจะต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในลักษณะงานแบบนี้ให้ได้เป็นส่วนใหญ่ของงานทั้งหมด
โดยที่งานที่แม้ว่าเราจะทำได้ดีแต่ไม่ได้ชอบทำอย่าง zone of excellence เราก็ควรจะต้องพยายามหาคนที่ทำได้มาทำแทนให้มากที่สุด หรือถ้าตัดออกได้ก็ตัด ตัดไม่ได้จริงๆก็พยายามให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และยิ่งถ้าหาคนที่ชอบทำได้ด้วย zone of excellence ของเราก็อาจจะเป็น zone of genius ของเขาก็ได้ซึ่งจะยิ่งทำให้ทั้งเขาและเราได้ประโยชน์ทั้งคู่ในที่สุด
พอฟังกระทิงเรื่อง zone of genius ถึงได้เข้าใจว่า ที่กระทิงมีพลังทำเรื่องใหม่ๆได้หลายอย่างนั้นเพราะนอกจากความมีวินัยขั้นสุดของกระทิงที่โดดเด่นมากๆ นั้น สิ่งที่คนไม่ได้สังเกตเห็นก็คือความสามารถในการหาคนเก่งมาทำงานแทนงานที่ตัวเองทำได้ดีแต่ไม่ได้ชอบทำ เท่าที่ผมพอรู้ ไม่ว่าจะเป็นงานกองทุนที่มีน้องมะเหมี่ยวที่แสนเก่ง หรืองาน system ก็มีพี่ต้อมที่มีฝีมือระดับเทพและชอบงานแบบนี้มาดูแล ไม่พูดถึงคนเก่งๆ ที่รายล้อมกระทิงอีกจำนวนมาก
2
ซึ่งคนเหล่านี้ก็ได้ทำใน zone of genius ของตัวเอง และกระทิงก็ได้ขยับขยายเข้า zone of genius ของตัวเองด้วยเช่นกันซึ่งก็เป็นเรื่อง startup AI และเรื่องสอนคน
1
การประเมินตัวเองไม่ว่าเราจะเป็นผู้นำองค์กรหรือคนทำงานในสี่โซนนี้นั้นน่าจะทำให้เราอาจจะหาคำตอบถึงสภาวะทำงานเท่าไหร่ก็ไม่ก้าวหน้า หรือเจอสภาวะ burnout อยู่ก็อาจเป็นได้ ถ้าเราอยู่ในโซน incompetence หรือ competence นี่ก็ต้องรีบขยับขยายใช้วินัย ใช้การฝึกฝนเพื่อพัฒนาตัวเองให้เข้าโซน excellence ให้ได้ ไม่งั้นนานไปจะลำบาก
1
ถ้าอยู่ในโซน excellence แล้วถ้าอยากก้าวหน้าต่อก็น่าจะต้องหาคนเก่งมารับแทนเพื่อเราจะได้เอาตัวเองเข้าสู่โซน genius เสาะแสวงหาพัฒนาตัวเองให้เก่งด้วยและได้ทำงานที่รักและชอบด้วย อันจะนำมาซึ่งทั้งความสำเร็จในหน้าที่การงานและความสุขในตัวเองเหมือนอย่างกระทิงก็ได้นะครับ
2
โฆษณา