13 ม.ค. เวลา 08:49 • กีฬา

อับดูโกดีร์ คูซานอฟ : แข้งอุซเบฯที่ "แข็งเหมือนรถถัง เร็วเหมือนนักวิ่งโอลิมปิก" | Main Stand

อุซเบกิสถาน ไม่ใช่ชาติที่มีนักเตะแถวหน้าของโลก หรือการมีนักเตะค่าตัวแพงที่ทีมใหญ่ต้องคว้าตัวเลยในอดีต จนกระทั่งทุกอย่างถูกนับหนึ่งที่ตลาดซื้อขายเดือนมกราคม 2025 โดยกองหลังวัย 20 ปีอย่าง อับดูโกดีร์ คูซานอฟ
นักเตะคนนี้ถูก แมนฯ ซิตี้ คว้าตัวมาร่วมทีมด้วยราคา 33.5 ล้านยูโร เพื่อเข้ามาเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาแนวรับ
คำถามคือ แมนฯ ซิตี้ ที่ส่วนใหญ่มักจะเล็งแต่ตัวท็อป ทำไมหนนี้พวกเขาจึงไปคว้านักเตะชาวอุซเบกิสถานรายนี้ ? ติดตามเรื่องราวของเขาที่นี่กับ Main Stand
อุซเบ 100%
แม้ อุซเบกิสถาน จะเป็นชาติในทวีปเอเชีย แต่ว่ากันด้วยประวัติศาสตร์ พวกเขาคือหนึ่งในชาติที่เกิดใหม่จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ซึ่งแน่นอนว่าโดยพื้นฐานแล้ว พวกเขามีความเป็นฝรั่งในช่วงแรกเริ่ม
ทว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้ อุซเบฯ นั้นแตกต่างจากชาติที่แตกมาจากโซเวียตก็คือ พวกเขามีความหลากหลายทางเชื้อชาติในประเทศนี้ เพราะมีประชากรหลากหลายเชื้อชาติ แม้จะนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม
ลักษณะของชาวอุซเบก ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอุซเบกิสถานคือ มีผมสีดำ ตาสีดำ รูปร่างสูงใหญ่ ขายาว ซึ่งหากเทียบตามเชื้อชาติแล้ว กลุ่มชนชาตินี้แหละคือต้นกำเนิดของ อับดูโกดีร์ คูซานอฟ นักเตะเอเชียที่ค่าตัวแพงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ รองจาก คิม มิน แจ ที่ย้ายจาก นาโปลี ไปอยู่ บาเยิร์น มิวนิค ด้วยราคา 43 ล้านปอนด์
กลับมาที่เรื่องราวของ อับดูโกดีร์ คูซานอฟ อีกครั้ง ตัวของเขาเกิดและโตที่อุซเบกิสถาน ไม่มีเชื้อชาติใดผสม เป็นนักเตะอุซเบฯ แท้แบบ 100% ซึ่งมันน่าสนใจตรงที่ว่าเขาพัฒนาตัวเองเร็วขนาดนี้ได้อย่างไร เพราะปกติแล้วนักเตะเอเชีย จะย้ายทีมแบบค่าตัวแพงก็ต่อเมื่อพวกเขาพัฒนาไปถึงจุดพีกแล้วเท่านั้น ไม่ใช่นักเตะที่เพิ่งอายุ 20 หมาด ๆ แบบที่ คูซานอฟ เป็นในเวลานี้
คูซานอฟ ถือเป็นเด็กเก่งตั้งแต่อายุไม่ถึง 10 ขวบ และมีสายเลือดนักเตะอยู่ในตัว พ่อของเขา ฮิคมัต ฮาชิมอฟ เป็นนักเตะระดับทีมชาติอุซเบกิสถาน และเคยเล่นให้กับ บุนยอดกอร์ ในช่วงปลายอาชีพ ทำให้ คูซานอฟ ถูกดึงเข้าทีมอคาเดมี่ของ บุนยอดกอร์ สโมสรอันดับ 1 ของประเทศอุซเบกิสถาน
อย่างไรก็ตาม ฝันที่จะทำให้ได้เหมือนพ่อนั้นไม่ง่าย เพราะเมื่อตอนอายุ 18 ปี คูซานอฟ ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ถูกตัดสินว่าตัวเล็กและผอมเกินไปสำหรับตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ็ก เขาถูกประเมินว่าศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวของเขาอาจจะไม่ดีพอสำหรับการเป็นนักเตะชุดใหญ่ของ บุนยอดกอร์ ได้ ดังนั้นเขาจึงถูกปล่อยตัวแบบฟรี ๆ และเป็นทีมจากประเทศเบลารุสอย่าง เอเนอร์เจติก-บีจียู ที่เซ็นสัญญาเขาไปเพื่อทดสอบดูว่า ด้วยจุดเด่นที่ความเร็วมากขนาดนี้ คูซานอฟ จะสามารถเอาไปต่อยอดได้มากขนาดไหน ?
ตัวท็อปลีกเอิง
ตอนที่เขาย้ายไปเบลารุส ฝีเท้าของเขาดูเหมือนจะใหญ่เกินที่นั้นแล้ว เพราะวิธีการเล่นของเขาทำให้สื่อเบลารุสถึงกับงงเป็นไก่ตาแตก ไม่เข้าใจว่าทำไมนักเตะในวัย 18 ปี จึงมีร่างกายที่แข็งแรง และความเร็ว ได้มากขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่ควรจะเป็นช่วงของการพัฒนากล้ามเนื้อสำหรับดาวรุ่งมากกว่า
การไปที่นั่นทำให้ คูซานอฟ ถูกเรียกว่า "รถถัง" เขาทำให้ บุนยอดกอร์ ต้องเสียดายที่ปล่อยเขาไปฟรี ๆ เพราะหลังจากนั้นไม่กี่เดือน คูซานอฟ ก็ถูกเรียกติดทีมชาติ อุซเบกิสถาน ชุดยู 20 และหลังจากนั้นเขาก็พาทีมคว้าแชมป์เอเชียมาครองได้สำเร็จ ซึ่งในทัวร์นาเมนต์นั้นเขาติดทีมยอดเยี่ยมในตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ็ก พร้อมได้รับการยกย่องจากสื่อสายเก็บสถิติและวิเคราะห์ตัวเลขอย่าง CIES Football Observatory ประเมินว่าเป็นหนึ่งในนักเตะที่จะมีราคาเพิ่มขึ้นมหาศาลในอนาคต
ต่อเนื่องอีกไม่กี่เดือน คูซานอฟ ก็พาทีมเข้าไปแข่งฟุตบอล ยู 20 ชิงแชมป์โลก ที่ประเทศอาร์เจนตินา และจบด้วยการแพ้ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายต่อ อิสราเอล แบบโดนยิงช่วงทดเจ็บ 2-1 ... หลังจากจบทัวร์นาเมนต์ก็เป็น ล็องส์ ทีมจากลีกเอิง ที่ตาดีกว่าเพื่อน คว้าตัวเขาไปร่วมทีมด้วยราคาแค่ 1 แสนยูโร หรือตีเป็นเงินไทยก็จะอยู่ที่ราว ๆ 3.5 ล้านบาทเท่านั้น
ตอนย้ายมาอยู่กับ ล็องส์ คูซานอฟ อายุ 19 ปี และส่วนสูงของเขาเพิ่มถึง 7 เซนติเมตร จาก 179 เซนติเมตร กลายเป็น 186 เซนเติเมตร ซึ่งก็ถือว่าไม่เลวนักสำหรับตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ็ก
เริ่มแรกเขาเล่นให้กับทีมสำรองก่อน แต่ก็ใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น ฝีเท้าของเขาไปเข้าตา วิล สตีล กุนซือของ ล็องส์ ที่ให้โอกาสเขาขึ้นมาเล่นทีมชุดใหญ่ และออกสตาร์ทเป็นตัวจริงในเกมลีกเอิง 9 เกมในซีซั่นแรก และในฤดูกาล 2024-25 เขากลายเป็น 11 ตัวจริง เป็นตัวหลักของทีมตั้งแต่เกมแรกของซีซั่น
เหตุผลที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า เขาได้รับคำชมมากมายจากนักเตะชุดใหญ่ของ ล็องส์ ที่ก็ทึ่งกับความเร็ว ความห้าว และความมุ่งมั่นของดาวรุ่งจากอุซเบกิสถานรายนี้
โจนาธาน กราดิธ เซ็นเตอร์แบ็กวัย 32 ปี ของล็องส์ ที่เป็นพี่ใหญ่ในแนวรับบอกว่า "ถ้าจะให้พูดเรื่องของ คูซานอฟ ก็ต้องบอกว่า นี่เป็นเด็กที่ใช้ความพยายามอย่างมาก เพราะนอกจากเขาจะคอยพัฒนาตัวเอง ฟังที่โค้ชและทีมงานหรือรุ่นพี่สอนแล้ว หมอนี่ยังใช้เวลาเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นตั้งแต่ย้ายมา และแสดงให้เห็นพัฒนาการขึ้นทุก ๆ วัน"
"ช่วงแรกเขาอาจจะเด่นที่ความเร็วและการสกัดบอล แต่ตอนนี้ผมมองว่าเขาโดดเด่นขึ้นเวลาที่มีบอลอยู่กับเท้า เป็นกองหลังที่มีความมั่นใจ และเป็นคนที่ไม่กลัวเวลาโดนกองหน้าคู่แข่งท้าทายด้วยการดวลแบบ 1-1 ... ต้องดูเขาไว้ให้ดี เด็กคนนี้มีสมาธิดีมากตอนที่ได้ลงสนาม แม้กระทั่งตอนนั่งสำรอง เขาก็ส่องคนที่ได้ลงเล่นอย่างละเอียด เพื่อดูว่าเขาพอจะทำอะไรที่แตกต่างจากตรงนั้นได้บ้าง"
การเป็นตัวหลักของ ล็องส์ ด้วยวัยแค่ 20 ปี แถมยังไม่ใช่นักเตะท้องถิ่นหรือมาจากชาติมหาอำนาจฟุตบอลใหญ่ ๆ ก็พอบอกได้ว่า คูซานอฟ มีคุณภาพระดับหนึ่ง แต่เพื่อให้เห็นภาพชัด ๆ เราจะเจาะไปให้ลึกขึ้นเพื่อมองว่า ไอ้ที่คนอื่นบอกว่าเก่งนักเก่งหนา เขาเก่งขนาดที่จะเล่นให้กับทีมรวมดาราอย่าง แมนฯ ซิตี้ ได้หรือไม่ ?
รถถังและนักวิ่ง
ถ้าจะถามว่า คูซานอฟ เป็นนักเตะสไตล์ไหน ก็ต้องบอกว่าเขาเป็นกองหลังในแบบที่แตกต่างกับกองหลังที่ แมนฯ ซิตี้ มีทุกคน กล่าวคือในขณะที่กองหลังของ แมนฯ ซิตี้ คนอื่น ๆ มีทักษะการครองบอลและเล่นบอลกับพื้นได้ดี ตัวของ คูซานอฟ นั้นไม่ใช่ตัวเชิง แต่เป็นตัวชนแบบเต็มรูปแบบ
เรื่องดังกล่าวฟ้องจากสถิติการสัมผัสบอล และการจ่ายบอลที่น้อยที่สุดในบรรดาของหลังของ ล็องส์ ทุกคน (ระบบ 3 เซ็นเตอร์แบ็ก) แต่ถ้าคุณจะวัดเรื่องการเข้าปะทะ การแย่งบอล และการเล่นลูกกลางอากาศ คูซานอฟ ถือเป็นนักเตะที่ทำได้ดีที่สุดในทีมของ ล็องส์ และมีหลายสถิติที่เขาขึ้นมายึดลำดับต้น ๆ ของลีก
โดยเฉพาะสถิติเชิงเกมรับ ที่เขาเป็นนักเตะที่เล่นเกมรับมากที่สุดในลีกเอิง โดยสถิติอยู่ที่ 94% และวิธีการเข้าบอลของเขาคือการวิ่งเข้าใส่คู่ต่อสู้ตั้งแต่จังหวะแรก ชิงเล่นก่อน และคอยตามล่ากองหน้าที่เขารับหน้าที่ประกบแบบประชิดตัวตลอดเวลา
คูซานอฟผสมผสานความแข็งแกร่งของร่างกาย เข้ากับความอึด และความเร็ว โดยมีการบันทึกสถิติการวิ่งเขาไว้ที่ 37 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ยูเซน โบลท์ นักวิ่งระยะสั้นอันดับ 1 ของโลกทำสถติไว้ 37.58 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ทำให้สไตล์ของเขาจะออกไปทาง "ตัวชนธรรมชาติ" โดยมีการเปรียบเทียบกับ เนมานย่า วิดิช ที่เร็ว แรง และเข้าบอลหนักมาก แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เขาไม่มีสถิติการเล่นนอกเกมเลย
วิล สตีล กุนซือของล็องส์บอกว่า น่าจะเป็นเรื่องของความนิ่งและสมาธิที่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ คูซานอฟ เป็นที่ต้องการของทีมใหญ่ เพราะก่อนหน้าที่ แมนฯ ซิตี้ จะเข้าวิน ก็มีทีมอย่าง สเปอร์ส, เลสเตอร์, เปแอสเช และทีมอื่น ๆ ได้ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับ คูซานอฟ ผ่านล็องส์มาก่อนแล้ว
"เด็กคนนี้คือรถถัง และถ้าคุณอยากจะได้กองหลังสักคนที่มีสมาธิ มีหัวจิตหัวใจที่กล้าหาญ และร่างกายที่แข็งแกร่ง เขาคือคำตอบนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย" วิล สตีล กล่าว
จากสถิติและวิธีการเล่นที่กล่าวมา แน่นอนว่า แมนฯ ซิตี้ และ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า อาจจะต้องการไดนามิกใหม่ ๆ มาสู่แนวรับของทีมในเวลานี้ เพราะนักเตะกองหลังของเขาหลายคนเป็นสายเชิงมากกว่าสายชน และหลายคนก็อายุมากขึ้น ความเร็ว ความแข็งแรงรวมถึงความแม่นยำก็หดหายไปตามวัย ซึ่ง คูซานอฟ ในวัย 20 ปี จะเข้ามาเติมจุดนี้ให้กับทีมแน่นอน
และจากฮีตแมพของเขาในซีซั่น 2024-25 แสดงออกว่า เขาเป็นกองหลังฝั่งซ้ายเสียส่วนใหญ่ ยิ่งดูเหมาะสมที่เขาจะได้ยืนคู่กับ รูเบน ดิอาส ที่เป็นกองหลังถนัดขวาและเป็นกองหลังสายเชิงด้วย ซึ่งความแตกต่างกันนี้ อาจจะทำความสมดุลกลับมาสู่เกมรับของเรือใบสีฟ้าที่ปีนี้เสียประตูง่ายและขาดความดุดันไปไม่น้อย
บรีซ แซมบ้า อดีตประตูของ ล็องส์ ให้สัมภาษณ์ถึง คูซานอฟ เมื่อไม่นานมานี้ว่า เป็นกองหลังที่เมื่อลงสนาม คนเป็นผู้รักษาประตูจะทำงานน้อยลง และกองหลังที่ยืนคู่จะโฟกัสกับการอ่านเกมได้อย่างเต็มที่ เพราะ คูซานอฟ จะไล่ล่าจนกว่าเขาจะสกัดบอลทิ้งพ้นเขตอันตรายได้ โดยสิ่งที่ แซมบ้า เปรียบกับ คูซานอฟ คือ "รถถัง และ สัตว์ประหลาด" สำหรับฝั่งตรงข้าม เรียกได้ว่าถ้าจะผ่านเขาสักครั้ง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แน่นอน
อย่างไรก็ตาม ในวัย 20 ปี คูซานอฟ ยังมีอีกหลายสิ่งให้พัฒนา ดังที่กล่าวไปข้างต้น เรื่องของการออกบอล การครอบครองบอล และสำคัญที่สุดคือเรื่องการสื่อสารสั่งการ เพราะ คูซานอฟ เป็นเซ็นเตอร์แบ็กที่ไม่ค่อยส่งเสียงมากนัก เรื่องนี้เขาอาจจะต้องให้ รูเบน ดิอาส จัดการไปก่อน ส่วนตัวของเขาต้องคอยโฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองถนัดที่สุด นั่นคือการจัดการกับเกมรุกฝั่งตรงข้าม และเอาบอลมาให้ทีมได้ครอบครองให้มากที่สุด
นี่คือเรื่องราวของดาวเตะจากอุซเบกิสถาน ที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วภายในเวลาแค่ 3 ปีเท่านั้น ... ที่เหลือเราก็ต้องมาดูกันว่าเมื่อเขาต้องเจอของจริง คูซานอฟ จะผ่านบททดสอบระดับพรีเมียร์ลีกได้หรือไม่
บทความโดย : ชยันธร ใจมูล
โฆษณา