14 ม.ค. เวลา 00:30 • ข่าวรอบโลก

“ว้า” รุกเงียบภายใต้เงารัฐบาลจีน กินรวบผลประโยชน์บนความขัดแย้งในแผ่นดินพม่า

ประวัติศาสตร์ชนชาติว้ามีมาอย่างยาวนาน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ 1 ใน 135 กลุ่มของเมียนมาร์ และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักกลุ่มหนึ่งในรัฐฉาน
.
“ชาวว้า” ปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์หลายแห่ง บางแหล่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับ “ลัว” หรือ “ละว้า” ซึ่งเป็นที่รู้จักในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย
.
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ผู้เขียนงานศึกษาชาติพันธุ์ เล่าผ่านงานเขียน “ชาวเขาในไทย” ไว้ว่า ชาวละว้าในอดีตคือผู้ครอบครองดินแดนสุวรรณภูมิ
ภาพวาดบนหน้าผาชางหยวน ในมณฑลยูนาน ซึ่งกล่าวกันว่าสร้างขึ้นโดยบรรพบุรุษของชาวว้า
พบบันทึกประวัติศาสตร์จีนจาก 109 ปีก่อนคริสตกาลกล่าวถึงชนเผ่าที่เชื่อกันว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวว้า และตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา อาณาจักรว้าก็ถูกปกครองโดยอาณาจักรน่านเจ้า อาณาจักรต้าหลี่ และราชวงศ์หยวน หมิง และชิงของจีนตามลำดับ
.
หน้าประวัติศาสตร์เริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อชาวว้ากลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของเมียนมาร์ และตามแนวชายแดนจีน-เมียนมาร์ รวมถึงในมณฑลยูนนานของจีน การกำหนดเขตแดนระหว่างเทือกเขาว้าและจีนเป็นไปตามข้อตกลงของอังกฤษและจีนในปี 2484 ซึ่งเทือกเขาว้าในรัฐฉานทางตะวันออกเฉียงเหนือไม่เคยถูกปกครองโดยรัฐบาลกลางของเมียนมาร์
.
เมื่อเมียนมาร์ได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐบาลกลางไม่ได้ให้ความสำคัญต่อชนกลุ่มน้อย “ว้า” รวมทั้งไม่ได้ให้การสนับสนุนด้านสาธารณูปโภค และสาธารณสุข
.
วันที่ 1 ตุลาคม 2492 ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ถูกจารึกขึ้น เหมา เจ๋อตุง ประกาศการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน กองกำลังก๊กมินตั๋ง ซึ่งพ่ายแพ้ต่อคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตุงในสงครามกลางเมืองจีน ต้องถอยร่นนำทัพข้ามพรมแดนเข้าไปในเมียนมาร์ แล้วเข้ายึดครองจัดตั้งฐานทัพขึ้นในพื้นที่บริเวณเขาว้าและบนภูเขาทางเหนือ-ใต้ของเชียงตุง เพื่อเป็นฐานปฏิบัติการเข้าโจมตี “จีนแดง” แผ่นดินใหญ่
แต่ความพยายามในการรุกรานยูนนานไม่ประสบความสำเร็จ และการที่พรรคก๊กมินตั๋งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมาร์ กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้จีนตัดสินใจสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) ในช่วงปี 2503
.
เมื่อเริ่มแรก พรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) สมาชิกเป็นคอมมิวนิสต์พม่า แต่ทหารราบส่วนใหญ่เป็น "อาสาสมัคร" จากจีน หลังจาก CPB ยึดเทือกเขาว้าได้ในต้นปี 2513 สถานการณ์ในพม่าได้เริ่มก่อเกิด “กองทัพประชาชน” เป็นผลให้ต่อมากองกำลังรบส่วนใหญ่ของ CPB กลายเป็นชาวว้า แต่จีนยังคงส่งอาวุธและอุปกรณ์อื่นๆ ไปให้กองกำลัง CPB
.
ชาวว้าเป็นนักรบที่ดุร้าย สร้างความหวาดกลัวแก่ผู้ล่าอาณานิคมของอังกฤษ ชาวฉาน ชาวจีน กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในเมียนมาร์ เจ้าพ่อค้ายา และแม้แต่กองทัพของเมียนมาร์ ชาวว้าได้รับการว่าจ้างให้เป็นทหารรับจ้างโดย “ก๊กมินตั๋ง” ในช่วงต้นปี 2493 และต่อมาก็ถูกจ้างโดยพรรคคอมมิวนิสต์พม่าที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน
.
ในช่วงปี 2503 ถึงปี 2523 ชาวเผ่าว้าทำหน้าที่เป็นกองกำลังหลักของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) ในการก่อกบฏที่โจมตีรัฐบาลกลางพม่า หลังเหตุการณ์ 8-8-88 (8 สิงหาคม 1988) นำมาสู่การล่มสลายของรัฐบาลนายพลเนวินใน พ.ศ. 2531
ในเดือนเมษายน 2532 นักรบว้าบุกโจมตีสำนักงานใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าในปางซาง พร้อมทั้งทำลายวรรณกรรมคอมมิวนิสต์และรูปปั้นคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์นี้มีจีนอยู่เบื้องหลังในการแปรพักตร์ ซึ่งนำมาสู่การก่อตั้งกองทัพผสมแห่งรัฐว้า (United Wa State Army : UWSA) โดยพรรคผสมรัฐว้า (United Wa State Party : UWSP) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532
.
หลังจาก UWSA ถือกำเนิดขึ้น ได้มีการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลเมียนมาร์ ส่งผลให้เกิดการก่อตั้งดินแดนของ UWSA ในปัจจุบัน เริ่มแรกรัฐว้าเป็นรัฐปกครองตนเองในเมียนมาร์โดยพฤตินัย เป็นอิสระจากส่วนอื่น ๆ ของประเทศและมีระบบการเมือง หน่วยบริหาร และกองทัพเป็นของตนเอง
.
ต่อมารัฐธรรมนูญของเมียนมาร์ พ.ศ. 2551 ได้รับรองพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐว้าอย่างเป็นทางการว่าเป็นเขตปกครองตนเองของรัฐฉาน (เขตปกครองพิเศษ 2) ในฐานะรัฐสังคมนิยมพรรคเดียวที่ปกครองโดยพรรคผสมรัฐว้า (UWSP) ซึ่งแยกตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) ในปีพ.ศ. 2532
.
รัฐว้าแบ่งออกเป็น 3 มณฑล 2 เขตพิเศษ และเขตพัฒนาเศรษฐกิจ 1 เขต เมืองหลวงของการบริหารคือเมืองปางคาม อดีตเมืองหลวงของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ซึ่งเดิมเรียกว่าปางซาง ขณะเดียวกัน รัฐว้าทางตอนใต้ที่ติดกับชายแดนไทย ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการว่าเป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองตนเองของ UWSP
.
ปัจจุบันฝ่ายบริหารของรัฐว้า มีหน้าที่จัดเก็บรายได้ผ่านภาษีศุลกากร และมีอำนาจในการบริหารจัดการรายได้ของตนเอง ประชาชนใช้เงินหยวนของจีนเป็นสกุลเงินหลัก และใช้ภาษาจีนเป็นภาษาราชการ สินค้าอุปโภคบริโภคนำเข้าจากจีน และมีชาวจีนว้าจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ ในขณะเดียวกัน ชาวว้าจำนวนหนึ่งก็อาศัยอยู่ในจีน
.
นอกจากนี้ รัฐว้ายังมีการสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น WeChat และสำนักข่าว Wa ซึ่งอาศัยระบบโทรคมนาคมสมัยใหม่ของจีน รวมทั้งในการสร้างบุคลากร UWSP ก็ยังคงพึ่งพาการสนับสนุนจากจีน ด้วยการส่งสมาชิกพรรคไปฝึกอบรมที่จีน เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในยุคพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) และด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองนี้ UWSA และ UWSP จึงถูกเรียกขานว่า "ว้าแดง"
จรวดถูกยิงท่ามกลางการสู้รบอย่างหนักในรัฐฉานเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2566
กองกำลังติดอาวุธของว้าแทรกซึมอยู่ในกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในเมียนมาร์ และเพื่อความแข็งแกร่งขององค์กร UWSA จึงแต่งตั้งบุคคลจากประเทศอื่น โดยเฉพาะชาวจีนและชาวไทยให้ดำรงตำแหน่งสำคัญพร้อมติดยศทหารในกองกำลังติดอาวุธของว้า
ในทางกลับกัน พรรคผสมรัฐว้า (UWSP) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองของ UWSA ได้ออกมาแถลงการณ์ว่าจะยึดมั่นในนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พร้อมเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจัดการเจรจาหยุดยิงโดยเร็วที่สุด ซึ่งนักวิเคราะห์สถานการณ์เชื่อว่า การค้าอาวุธทำให้ UWSA มีสายสัมพันธ์กับหลายฝ่ายในความขัดเเย้ง และช่วยทำให้ว้า ไม่จำเป็นต้องลงมือสู้เอง กลุ่มว้าน่าจะเป็นผู้ชนะรายใหญ่ที่สุด ที่ยังไม่เสียอะไรเลยในเวลานี้
UWSA ปกครองพื้นที่แยกกันสองแห่ง พื้นที่หนึ่งติดกับประเทศไทยในรัฐฉานทางใต้ และอีกพื้นที่ติดกับจีนในรัฐฉานทางตะวันออกเฉียงเหนือ
.
ในความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของ UWSA กับปักกิ่งและมณฑลยูนนานนั้น สำหรับจีน UWSA เป็นเครื่องต่อรองที่มีประโยชน์เมื่อปักกิ่งต้องการกดดันรัฐบาลเมียนมาร์ไม่ให้เข้าใกล้ตะวันตกมากเกินไป และเพื่อปกป้องการลงทุนของจีนในเมียนมาร์
.
เมียนมาร์เป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพสำหรับจีน ช่วยให้จีนลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากตะวันออกกลาง ด้วยเมียนมาร์มีแหล่งพลังงานที่หลากหลายที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรวมกันถึง 104 แห่ง
และรัฐฉานเองก็มีความสำคัญต่อแผนยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจผ่านระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมาร์ (The China-Myanmar Economic Corridor : CMEC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)
.
เนื่องจากรัฐฉานตั้งอยู่ตามแนวชายแดนด้านตะวันออกของเมียนมาร์ติดกับจีน จึงมีบทบาทสำคัญในการค้าข้ามพรมแดน และโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น ถนน ทางรถไฟ ที่มุ่งหวังจะเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างมณฑลยูนนานของจีนและเมียนมาร์ผ่านรัฐฉาน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ นอกจากนี้ รัฐฉานยังอุดมไปด้วยทรัพยากร เช่น แร่ธาตุหายาก ทองคำ ยูเรเนียมดิบ ศักยภาพพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำ และอัญมณีล้ำค่า ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนต้องการ
หมืองแร่ดีบุกในเขตเมืองมายมอ แขวงโหปั่น รัฐฉานตอนเหนือ เขตปกครองตนเองว้า
ในขณะที่อำนาจของกองทัพพม่าอ่อนแอลง กองทัพว้าซึ่งมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและใกล้ชิดกับจีน กลับแข็งแกร่งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม จีนเองก็ต้องรักษาความสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมาร์ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง เช่น ท่อส่งน้ำมันและก๊าซจีน-เมียนมาร์ นอกจากนี้ ความไม่สงบในภูมิภาคนี้จะส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ของจีน ได้แก่ การค้าชายแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษจ็อกพยู (Kyaukphyu) และท่าเรือน้ำลึกในรัฐยะไข่ รวมทั้งทางรถไฟที่เชื่อม จ็อกพยู กับเมืองชายแดนรุ่ยลี่ของจีน
ท่าเรือเมืองจ็อกพยูที่สร้างโดยจีน
ท่อส่งก๊าซธรรมชาติเมียนมาร์-จีนเริ่มต้นจากเกาะรามรีในรัฐยะไข่ และผ่านรัฐยะไข่ เขตมาเกว เขตมัณฑะเลย์ และรัฐฉาน ก่อนจะเข้าสู่จีนใกล้เมืองรุ่ยลี่และดำเนินต่อไปจากที่นั่นจนถึงคุนหมิง ตามรายงานของรัฐบาลทหารเมียนมาร์ระบุว่า ขณะนี้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติเมียนมาร์-จีน ที่เมืองคุนหมิง ในมณฑลยูนนานของจีน พร้อมแล้วสำหรับการก่อสร้างสถานีขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในเมียนมาร์ และปรับปรุงท่อส่งเพื่อให้สามารถส่งก๊าซต่อไปยังเมืองฉงชิ่งได้ ซึ่งโครงการทั้งหมดนี้ต้องการความมั่นคงของเมียนมาร์
1
ท่อส่งก๊าซธรรมชาติเมียนมาร์-จีนที่เชื่อมระหว่าง เมือง คุนหมิงกับเมืองจ็อกพยูในรัฐยะไข่ จะถูกขยายไปจนถึง เมืองฉงชิ่ง ตามรายงานข่าวของคณะรัฐประหารเมียนมาร์
UWSA กำลังขยายกำลังและเพิ่มกำลังขึ้นโดยไม่สู้รบ เป้าหมายที่สำคัญคือ การเชื่อมโยงพื้นที่ตอนใต้และตอนเหนือของรัฐว้า UWSA รักษาความสัมพันธ์กับคณะทหารและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งโดยตรง แนวทางเชิงกลยุทธ์ของ UWSA คือพยายามรักษาสถานะระหว่างรัฐบาลกลาง กลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organization - EAO) ที่เป็นคู่แข่ง และจีน
.
ท่าทีเชิงยุทธศาสตร์นี้เห็นได้ชัดในการตอบสนองต่อการรัฐประหารและปฏิบัติการ 1027 แม้ว่าจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ UWSA ก็สนับสนุน MNDAA โดยอ้อม ด้วยการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับสภาบริหารแห่งรัฐพม่า (SAC) ของรัฐบาลทหาร และรักษาระยะห่างจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง
ผู้นำกองทัพผสมรัฐว้า เป่าโหยวเซียง (ซ้าย) และซุน กัวเซียง ผู้แทนพิเศษด้านกิจการเอเชียของกระทรวงต่างประเทศจีน ชมขบวนพาเหรดทางทหารเพื่อรำลึกถึงการหยุดยิงที่ลงนามกับกองทัพเมียนมาร์ ครบรอบ 30 ปี (เอเอฟพี)
นอกจากนี้ เป่า โหยวเซียง ประธาน UWSP และผู้บัญชาการสูงสุดของ UWSA รวมทั้งสมาชิกของพรรค ยังเป็นผู้ร่วมทุนกับจีนในการทำเหมืองแร่ดีบุกในเขตปกครองตนเองว้า และมีการจัดตั้งบริษัทหรือการร่วมลงทุนในการทำธุรกิจเกษตร การทำหยก อัญมณีมีค่าและทองคำ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การก่อสร้าง สายการบิน ธุรกิจพลังงาน และการค้าอาวุธ อำนาจของว้าไม่ได้ขึ้นอยู่กับกำลังทหารและความมั่งคั่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอำนาจทางเศรษฐกิจที่ขยายไปยังรัฐต่างๆ และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และอาจไปไกลเกินกว่าเมียนมาร์ด้วย
.
ผู้นำว้าหลายคนส่งลูกหลานไปเรียนต่อต่างประเทศ หลายคนมีสัญชาติไทย จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไทย และศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ในฐานะพลเมืองไทยหรือพม่า พวกเขาไม่ต้องการแสดงตนว่าเป็นว้า หรือเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว UWSP ที่ชื่อถูกขึ้นบัญชีดำโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในฐานะค้ายาเสพติด
.
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2546 สำนักงานปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐอเมริกาได้ระบุว่า UWSA เป็นองค์กรค้ายาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาในปี 2548 UWSP ได้ออกกฎห้ามการปลูกฝิ่น ซึ่งส่งผลให้การปลูกฝิ่นในภูมิภาคนี้ลดน้อยลง แต่กลับมีการผลิตแอมเฟตามีนที่เรียกว่า “ยาบ้า” ขึ้นมาแทน
.
การแก้ไขปัญหาการผลิตฝิ่นและเฮโรอีนภายในสามเหลี่ยมทองคำ กองทัพผสมรัฐว้าไม่เพียงแต่มีบทบาทสำคัญในการปราบปรามเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการขยายเศรษฐกิจไร่นาของรัฐว้าด้วยวิธีของ “ว้าแดง”
พื้นที่ปลูกข้าวโพดขนาดใหญ่ในหมู่บ้านตองนี เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวโพดใหญ่ที่สุดในรัฐฉาน
โดยผู้บัญชาการกองทัพผสมรัฐว้าทำงานร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่น ใช้กำลังทางทหารบังคับให้ชาวบ้านยกที่ดินไร่นาให้ทำการเกษตรพืชเชิงเดี่ยวเพื่อเพิ่มผลผลิต ซึ่งเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น แล้วจ้างแรงงานชาวบ้าน และอาศัยเครื่องจักร เทคโนโลยี รวมทั้งระบบขนส่งเชิงพาณิชย์ของจีน สร้างเศรษฐกิจการเกษตรขึ้นทดแทนการปลูกฝิ่น แต่อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนของจีนทำให้ปัจจุบันรัฐว้ามีโรงเรียน 409 แห่ง โรงพยาบาล 26 แห่ง และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจบริเวณชายแดนอีกด้วย
.
ผลประโชน์ทับซ้อนบนความขัดแย้งในเมียนมาร์นี้ จีนพยายามทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยการเจรจาระหว่างกองทัพเมียนมาร์และหน่วยงานกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ (EAO) ตามแนวชายแดนทั้งสามแห่งหลายครั้ง รวมทั้งขู่ว่าจะปิดจุดผ่านแดนและตัดการส่งอาหาร ยา เชื้อเพลิง และสินค้าอุปโภคบริโภค
ผู้แทนพิเศษจีน เติ้ง ซีจุน พบกับ EAO ทางตอนเหนือของเมียนมาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2023
มีรายงานจากสำนักข่าวอิสระ Myanmar Now เปิดเผยการประชุมลับที่จัดขึ้น ณ มณฑลยูนนาน ประเทศจีน เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ระหว่างเติ้ง ซีจุน ทูตพิเศษของจีนด้านกิจการเอเชีย กับบรรดาผู้นำพรรคผสมรัฐว้า (UWSP) เกี่ยวกับการควบคุมกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมาร์ (MNDAA)
.
บันทึกการประชุมที่รั่วไหลออกมาระบุว่า จีนไม่ยอมรับการยึดครองเมืองล่าเสี้ยวของ MNDAA ซึ่งร่วมมือกับกลุ่มที่ต่อต้านกองทัพเมียนมาร์ เช่น รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและมหาอำนาจตะวันตก หากกลุ่มว้ายังคงสนับสนุน MNDAA รัฐบาลจีนจะระงับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพทั้งหมดแก่ภูมิภาคว้า หยุดการค้าทั้งหมดกับว้า และหยุดความร่วมมือในโครงการขุดเหมือง พัฒนาอุตสาหกรรม และไฟฟ้าพลังน้ำ
.
ต่อมาในวันที่ 2 กันยายน คณะกรรมการกลางต่อต้านการก่อการร้ายของ SAC ได้ประกาศให้ MNDAA, AA และ TNLA เป็นกลุ่มก่อการร้าย ภายหลังการประกาศนี้ เมื่อวันที่ 18 กันยายน คณะกรรมการทหารของ MNDAA ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าจะไม่ร่วมมือทางทหารหรือการเมืองกับ NUG ขยายปฏิบัติการสนามรบ หรือโจมตีเมืองมัณฑะเลย์และตองยี
มิน ออง หล่าย ผู้นำรัฐบาล (ขวา) กับ อู เลา ยากู รองประธานพรรคผสมรัฐว้า (UWSP) ในกรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565
เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ารัฐบาลทหารของเมียนมาร์กำลังยอมจำนนต่อจีน เมื่อมีกระแสข่าวในเดือนตุลาคม 2567 ว่าคณะรัฐประหารเริ่มร่างบันทึกข้อตกลง (MoU) เพื่อจัดตั้งบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชนร่วมกับจีน
เป้าหมายเพื่อปกป้องโครงการและบุคลากรของจีนในเมียนมาร์ และหลังจาก มิน ออง หล่าย ได้ไปเยือนจีนในฐานะหัวหน้าคณะทหาร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 มีรายงานข่าวระบุว่า จำนวนบริษัทรักษาความปลอดภัยทั้งของเอกชนและทหาร เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจเป็นการแผ่อิทธิพลและอำนาจของจีนอย่างแยบยลกว่าการส่งกองกำลังทหารแบบดั้งเดิม
กล่าวได้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน (CPC) ให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) และผลักดันให้ชาวว้าก้าวขึ้นสู่อำนาจในภูมิภาค ปัจจุบัน “ว้า” ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยดังภาพจำที่เราเคยเห็นอีกต่อไป อย่างไรก็ตามความกังวลที่แท้จริงของไทยเรื่องปัญหาความมั่นคงบริเวณชายแดน ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาผิวเผินอย่างที่คิดเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญที่สุดในปัญหาชายแดนไทย-พม่า-กัมพูชา ก็คืออิทธิพลของจีนนั่นเอง.
#ว้าแดง
#รัฐฉาน
#ชายแดนไทย
ภาพต้นเรื่อง : https://transbordernews.in.th/home/?p=40737
โฆษณา