13 ม.ค. เวลา 09:15 • ธุรกิจ

Ep 17: การวิเคราะห์เส้นทางวิกฤต Critical Path Analysis (CPA)

การวิเคราะห์เส้นทางวิกฤต Critical Path Analysis (CPA) หรือที่บางครั้งเรียกว่า Critical Path Method (CPM) เป็นเทคนิคการวางแผนและการจัดการโครงการที่มีขั้นตอนหลากหลาย และเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภายนอกที่จะต้องส่งงาน หรือข้อมูลเข้ามายังเส้นทางหลัก หากหน่วยงานภายนอกเหล่านั้นไม่ส่งงานหรือข้อมูลเข้ามา งานหลักก็จะดำเนินต่อไปไม่ได้ หรือหากเข้ามาช้าก็จะทำให้งานในเส้นทางหลักเสร็จช้าไม่ทันกำหนดไปด้วย
ในการวางแผนเส้นทางกระบวนการทำงานทั้งหมด หากเส้นทางใดเป็นเส้นทางที่สำคัญไม่สามารถล่าช้าหรือรอคอยได้เพราะจะทำให้กระบวนการทั้งหมดล่าช้า หรือเสร็จไม่ทันกำหนด เราเรียกเส้นทางนั้นว่า เส้นทางวิกฤต หรือ Critical Path หากเราเข้าใจเส้นทางวิกฤตในกระบวนการก็จะสามารถป้องกันการล่าช้า และสามารถทำให้กระบวนการทั้งหมดมีความรวดเร็วขึ้นได้
หลักการพื้นฐานของ CPA
1. ระบุงานทั้งหมด: ขั้นตอนแรกคือการระบุงานหรืองานย่อยทั้งหมดที่จำเป็นต้องทำในโครงการ โดยให้สัญลักษณ์แต่ละงานเอาไว้
2. สร้างลำดับงาน: ระบุตามลำดับว่างานใดต้องเสร็จก่อนและงานใดสามารถเริ่มได้หลังจากงานอื่น แต่ละเส้นทางต้องมีชื่อเรียก
3. กำหนดระยะเวลางาน: ระบุระยะเวลาที่คาดว่าจะใช้สำหรับแต่ละงาน
4. วาดแผนภูมิ: สร้างแผนภูมิที่แสดงลำดับของงานและระยะเวลาที่กำหนด โดยการระบุเส้นทางไป และเส้นทางย้อนกลับ เพื่อจะได้ทราบว่าเส้นทางใดหรือกิจกรรมใดที่ไม่อาจล่าช้าได้
5. ระบุเส้นทางวิกฤติ: หาคำตอบว่ากลุ่มของงานใดมีระยะเวลารวมยาวที่สุด ซึ่งถือเป็นเส้นทางวิกฤติ
นอกจาก CPA แล้ว ยังมีการวิเคราะห์เส้นทางวิกฤตอีกอย่างหนึ่งที่มีวิธีการคล้ายกันที่เรียกว่า PERT (Program Evaluation and Review Technique)
โฆษณา