13 ม.ค. เวลา 10:45 • สิ่งแวดล้อม

ทำไมโลกยุคใหม่จึงล้มเหลวในการดับ “ไฟป่า” ?

📌อ่านฉบับเว็บที่: www.thaipbs.or.th/now/content/2157
ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา รัฐแคลิฟอร์เนียต้องประสบกับ “ไฟป่า” เป็นครั้งแรกในปี 2025 แม้จะเกิดขึ้นทุกปี แต่ไฟป่าครั้งนี้กลับรุนแรงมากเสียจนทั้งโลกหันมาสนใจว่า ทำไมไฟป่าจึงกลายเป็นปัญหาที่ยากจะรับมือแม้แต่ในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ
ในไทยเอง ไฟป่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2557-2567) ได้เผาทำลายพื้นที่ป่าไม้ไปกว่า 1,008,946 ไร่ หรือ 1,614 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานครทั้งหมด ล่าสุด หลังจากพ้นเทศกาลปีใหม่ได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุไฟป่าในพื้นที่เขตป่าสงวน จังหวัดนครราชสีมา จนป่าไม้เสียหายกว่า 1,700 ไร่ และเสี่ยงไฟป่าปะทุซ้ำใกล้เขตชุมชน เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าสาเหตุมาจากการเผาหาของป่าและการต้อนสัตว์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดไฟป่าในไทย
จริงอยู่ที่ว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบันน่าจะช่วยแก้ปัญหาไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว แต่อุปสรรคที่แท้จริงในการป้องกันไฟป่าตั้งแต่แรก คือการออกแบบและดำเนินนโยบายเกี่ยวกับป่าของภาครัฐในนานาประเทศ สิ่งนี้จึงพอสะท้อนให้เห็นว่า นับวันโลกจะประสบความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จในการรับมือไฟป่า
เมื่อ “ไฟเลว” มาแทนที่ “ไฟดี” ในพื้นที่ป่า
ที่จริงแล้ว “การเกิดไฟตามธรรมชาติในพื้นที่ป่า” ในช่วงที่อากาศชื้นนั้นช่วยขจัดไม้ยืนต้นตาย พุ่มไม้ ใบไม้แห้ง และพรรณพืชไวไฟอื่น ๆ ที่อาจเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีเมื่อหน้าร้อนและความแห้งแล้งมาเยือน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชนเผ่าพื้นเมืองในอเมริกา จะมีธรรมเนียมจุดไฟป่าขึ้นในพื้นที่ที่ควรเผาและช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ยังควบคุมไม่ให้เพลิงลุกลามไปทั่วพื้นที่ป่าไม้ พวกเขาเรียกไฟแบบนี้ว่า “ไฟดี (good fires)”
อย่างไรก็ตาม นับวันสถานการณ์ไฟป่าทั่วโลกจะทวีความร้ายแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการลักลอบเผาป่าเพื่อการเกษตรที่ควบคุมไม่ได้ อีกทั้งภาวะโลกรวนที่ก่อให้เกิดความแห้งแล้ง อุณหภูมิสูง ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ฟ้าแลบ และลมแรง ปรากฏการณ์ที่ผิดปกติเหล่านี้ทำให้ฤดูไฟป่ายาวนานขึ้น ซ้ำยังจะทำให้ภาวะโลกรวนเลวร้ายลงจนกลายเป็นวิกฤตซ้ำซาก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ประเมินว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2573) ไฟป่ารุนแรงทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 และจะพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 50 เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 21
โลกตะวันตกกับปัญหาไฟป่าที่แก้ไม่ตก
ในสหรัฐอเมริกา แม้ภาครัฐจะทุ่มงบประมาณถึง 4 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.38 แสนล้านบาท) และมีกลุ่มนักผจญเพลิงที่เก่งที่สุดในโลกในการรับมือไฟป่า ส่วนนโยบายส่วนใหญ่ในรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐพื้นที่เสี่ยงไฟป่าอื่น ๆ นั้นเน้นการตั้งรับมากกว่าป้องกัน สิ่งนี้สะท้อนได้จากหลักปฏิบัติการ “ยืมไฟ (fire borrowing)” ที่รัฐกลับดึงงบประมาณป้องกันไฟป่า มาใช้ในการดับไฟและปกป้องชุมชนเมื่อภัยพิบัติมาถึงแทน
ถึงกฎหมายอาคารในสหรัฐฯ จะบังคับให้สิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เสี่ยงต้องใช้อุปกรณ์และวัสดุทนต่อไฟ แต่ทางการท้องถิ่นก็ยังอนุญาตให้สร้างตึกและที่อยู่อาศัยในพื้นที่เหล่านี้อยู่ และจากเหตุไฟป่าครั้งล่าสุดในนครลอสแอนเจลิส ยังเกิดข้อสงสัยถึงการวางแผนอพยพและระบบป้องกันสาธารณภัยอีกด้วย นอกจากนี้ รายงานของ NY Times ยังระบุว่า หลายรัฐในแถบตะวันตกของสหรัฐฯ ไม่สามารถออกข้อบังคับให้สร้าง “พื้นที่ตั้งรับ (defensible space)” ไฟป่ารอบสิ่งปลูกสร้างได้ เนื่องจากเกรงว่าจะสร้างความไม่พอใจต่อฐานเสียงกลุ่มอนุรักษ์นิยม
สถานการณ์ในพื้นที่บางส่วนของแอลเอ หลังจากที่ไฟป่าพาลิเซดส์สงบลง เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 68 (ภายโดย Noah Berger/AP)
ทวีปยุโรปก็เป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่ประสบกับความท้าทายเกี่ยวกับไฟป่า ในปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ปีเดียว โปรตุเกสเผชิญกับไฟป่านับหมื่นครั้งจนเผาทำลายป่าและพื้นที่การเกษตรไปราว 5,000 ตารางกิโลเมตร และมีผู้เสียชีวิตรวม 117 คน หรือเมื่อสองปีก่อน แถบชานกรุงเอเธนส์ของกรีซประสบกับไฟป่าที่ลุกลามพื้นที่ป่าขนาดใหญ่กว่านครนิวยอร์กทั้งเมือง (ราว 810 ตารางกิโลเมตร) และกรีซเองก็มีเหตุไฟป่าใหญ่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
แม้สหภาพยุโรปจะเพิ่มกำลังการตอบสนองต่อเหตุไฟป่าระหว่างประเทศสมาชิกผ่านโครงการกลไกปกป้องพลเมืองสหภาพยุโรป (EU Civil Protection Mechanism) และเรสอียู (RescEU : เล่นกับคำว่า “rescue” ซึ่งแปลว่า ช่วยเหลือ) แต่อดีตสมาชิกรัฐสภายุโรปหลายคนเคยทักท้วงว่า สหภาพยุโรปควรให้ความสำคัญกับการป้องกันภัยมากกว่าการตั้งรับ ทั้งนี้ งบประมาณเกี่ยวกับการจัดการไฟป่ากว่าร้อยละ 90 นั้นใช้ไปกับการดับไฟป่า ขณะที่งบประมาณที่เหลือร้อยละ 10 นั้นเป็นการดำเนินงานด้านการป้องกันไฟป่า
ไฟป่าในหมู่บ้านเปนเดลี (Penteli) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเอเธนส์ เมื่อเดือนต.ค. ปีที่แล้ว (ภาพโดย Angelos Tzortzinis/AFP)
ไฟป่าเพราะ “น้ำมือมนุษย์” ในภูมิภาคอาเซียน
สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น จากบทความวิชาการในวารสาร Contemporary Southeast Asia เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ไฟป่าในภูมิภาคนี้ถูกจัดให้เป็น “ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากมนุษย์” อันเป็นผลพวงจากการสกัดใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มากเกินไป และการแปลงพื้นที่ป่าไม้โดยแสวงหากำไร แม้บ่อยครั้ง การตัดไม้ทำลายป่าจะถูกจัดให้เป็นมรดกจากยุคอาณานิคม ทว่านโยบายรัฐและกลุ่มผู้มีอำนาจท้องถิ่นหลังยุคสงครามโลก ต่างมีส่วนต่อการเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ป่าด้วยเช่นกัน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2566 พื้นที่ป่าไม้ในไทยลดลงจาก 138.5 ล้านไร่ สู่ 102.1 ล้านไร่ เมื่อ 61 ปีก่อน พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เริ่มให้อำนาจรัฐในการมอบสัมปทานป่าเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์จากป่าควบคู่กับดูแลเขตป่าสงวน แต่เมื่อเกิดการทุจริตขึ้น ก็เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนเข้ามาแทนและทำให้มีการใช้พื้นที่สงวนผิดวัตถุประสงค์ กลายเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ป่าเสื่อมโทรมลงจนถึงปัจจุบัน และความแห้งแล้ง – อันเป็นผลพวงอย่างหนึ่งจากความเสื่อมโทรมดังกล่าว – ก็นำพาไฟป่ามาในที่สุด
ตัวอย่างอีกประเทศหนึ่งคืออินโดนีเซีย ซึ่งมีพื้นที่พรุถึง 240,000 ตารางกิโลเมตรหรือ 1 ใน 3 ของพื้นที่พรุเขตร้อน (tropical peatland) ของโลกในปัจจุบัน เขตป่าพรุนั้นสำคัญต่อระบบนิเวศเพราะคอยเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ ขณะเดียวกันก็เปราะบางและอาจแปรสภาพเป็นทุ่งเพลิงได้หากเกิดความผิดปกติ เช่น การวิดน้ำขังออกหรือการแผ้วถางพืช
ย้อนกลับไปช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 รัฐบาลของนายพลซูฮาร์โต (Suharto) มีนโยบายแปลงพื้นที่ป่าพรุ กว่า 10,000 ตารางกิโลเมตรให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวในจังหวัดกาลีมันตันกลางภายใต้โครงการ “เมกาไรซ์ (Mega Rice Project)” เมื่อมีการวิดน้ำออกจากพื้นที่ป่าพรุและสร้างระบบชลประทานขึ้นมาใหม่ ทำให้ดินแปรสภาพฉับพลันและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่อากาศ โครงการดังกล่าวคือสาเหตุของไฟป่าครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1997-1998 (พ.ศ. 2540-2541) กลายเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่สร้างหมอกควันและมลพิษไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หรือ “ไฟป่า” ต้องดับด้วย “ไฟป่า” ?
มาตรการรับมือไฟป่าและเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงยังคงจำเป็นเมื่อฤดูไฟป่ามาถึงในทุกปี ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในพื้นที่ชนบทของไทยโดยเฉพาะในภาคเหนือนั้น การก่อไฟในป่ายังเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวบ้านเพื่อการหาเลี้ยงชีพ ดังนั้น จึงต้องมีกฎเกณฑ์การขออนุญาตจุดไฟในป่าให้ชัดเจน อีกทั้งประชาชนและหน่วยงานในจังหวัดต่าง ๆ ต้องบูรณาการความร่วมมือกันเพื่อลดความทับซ้อนในการจัดการไฟป่า เช่น การกำหนดช่วงห้ามเผาให้ตรงกันในหลายจังหวัด
สถานการณ์ PM 2.5 ในจังหวัดเชียงรายเมื่อเดือนมี.ค. 66 ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งที่เผชิญปัญหามลพิษทุกปี (ภาพจากคลังสื่อ Thai PBS)
การอยู่ร่วมกับป่าเป็นแนวทางสำคัญแนวทางหนึ่งที่นำไปสู่การแก้ปัญหาไฟป่าอย่างยั่งยืน รศ. สมพร จันทระ ประธานคณะทำงานสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังเสนอต่อว่า นอกจากงบประมาณในการดับไฟป่าแล้ว ควรจัดสรรงบฯ เพื่อ “ให้รางวัล” ท้องที่หรือหมู่บ้านที่จัดการไฟป่าได้ดี และรางวัลดังกล่าวต้องนำไปใช้พัฒนาพื้นที่ต่อไป หากทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางที่กล่าวมาทั้งหมดจะช่วยลดทั้งไฟป่าและมลพิษหมอกควันที่เกิดขึ้นในภาคเหนือและทั่วไทย
ปัจจุบัน ไทยมีต้นแบบการพัฒนาชุมชนเพื่อช่วยรับมือปัญหาไฟป่าหมอกควันอย่าง ‘CMU Model’ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเกิดขึ้นในบ้านป่าตึงงาม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกันนี้ยังปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรไม้ผลและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวด้วย หรือทางฝั่งยุโรปเอง หลังจากเกิดไฟป่าครั้งใหญ่เมื่อ 8 ปีก่อน โปรตุเกสออกมาตรการสนับสนุนการปลูกพืชที่ทนต่อไฟป่าและจัดเขตแนวกันชนที่มีพืชพรรณน้อยลงเพื่อลดหรือชะลอไฟป่าสู่พื้นที่ชุมชน
การพิจารณามาตรการ “ป้องกัน” การเกิดไฟป่าตั้งแต่แรกก็ไม่ควรถูกละเลยด้วยเช่นกัน ในระยะหลัง โลกตะวันตกเริ่มพูดถึงการใช้วิธีการทางธรรมชาติและเกษตรเพื่อลดโอกาสที่ไฟป่าจะลุกลามรุนแรง อาทิ การกำจัดวัชพืชติดดินที่ติดไวไฟ การลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว การส่งเสริมความหลากหลายทางพันธุ์พืช การรักษาต้นไม้ใหญ่ที่ซับน้ำได้มาก และการเลี้ยงวัวและแพะในพื้นที่ป่าให้กินหญ้าที่ติดไฟง่าย
อีกแนวทางหนึ่งที่นำมาถกเถียงกันคือ “การจุดไฟที่มีการสั่งการ (prescribed fire)” เพื่อลดโอกาสของไฟป่าที่รุนแรงกว่า การจุดไฟในลักษณะนี้มีการควบคุมรัดกุมเพื่อป้องกันความผิดพลาด จากการศึกษาการจุดไฟที่มีการสั่งการ 6,373 ครั้งในสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2560) นั้น พบว่าไฟเพียง 112 ครั้งที่ลุกลามเหนือพื้นที่ควบคุม
ทั้งนี้ อเล็กซานเดอร์ เฮลด์ (Alexander Held) ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสจากสถาบันป่าไม้ยุโรป (European Forest Institute) กล่าวว่า วิธีการและแนวทางต่าง ๆ ควรจะต้องปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของสภาพภูมิอากาศของประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถยกวิธีการใดวิธีการหนึ่งจากพื้นที่หนึ่งมาใช้ได้ทั้งหมดในอีกพื้นที่
อาสาสมัครคนหนึ่งที่กำลังคุม "ไฟที่มีการสั่งการ" เพื่อคุมไฟป่าในย่านซานตาครูซ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือนต.ค. 66 (ภาพโดย Nic Coury/AFP)
ถึงแม้ว่าโลกจะยังไม่ประสบความสำเร็จในการจัดการและรับมือปัญหาไฟป่าได้อย่างเด็ดขาด แต่เฮซุส ซาน-มิเกล (Jesus San-Miguel) นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์วิจัยร่วมคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission Joint Research Centre) ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันควรให้ความสำคัญการป้องกันภัยก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจาก “มีต้นทุนต่ำกว่า” งบประมาณการจัดการไฟป่าที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง
ดังนั้น นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่โลกจะพลิกวิกฤตไฟป่าให้เป็นโอกาสที่จะรักษาและพัฒนาป่าอย่างยั่งยืน เพื่อยับยั้งวงจรอุบาทว์ทางสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้น
ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS Now
โฆษณา