โฆษกของ The Washington Post กล่าวกับ CNN ว่า การเลิกจ้างพนักงานในครั้งนี้นี้คิดเป็นประมาณ 4% ของพนักงานทั้งหมด และไม่ส่งผลกระทบต่อห้องข่าว
“The Washington Post กำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม สร้างอนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น และเข้าถึงผู้อ่านในที่ที่พวกเขาอยู่” “การเปลี่ยนแปลงในหน้าที่การงานของเราทั้งหมดล้วนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าของเราในการวางตำแหน่ง The Washington Post ให้ดีที่สุดสำหรับอนาคต” โฆษก กล่าว
ทั้งนี้ ปัญหาการเงินของ The Washington Post ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเมื่อครั้งที่ วิลเลียม ลูวิส อดีตผู้จัดพิมพ์ของ นสพ. WSJ ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นซีอีโอคนใหม่ในเดือน พ.ย. 2023 หนังสือพิมพ์ชื่อดังแห่งนี้ก็กำลังเผชิญกับปัญหาการเลิกจ้าง จำนวนผู้อ่านลดลง และค่าใช้จ่ายสูงที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ตัวเลขขาดทุนปรากฏชัดในเดือน พ.ค. เมื่อ ลูวิส ประกาศตัวเลขขาดทุนที่ 77 ล้านดอลลาร์ (2.68 พันล้านบาท) ในปี 2023
ในขณะที่ลูอิสเสนอแผนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในเวลานั้น The Washington Post กลับประสบปัญหาใหม่ซ้ำเติมอีก หลังจากที่ เบโซส์ ผู้ก่อตั้ง Amazon มหาเศรษฐีที่ซื้อกิจการ The Washington Post ในปี 2013 ด้วยมูลค่า 250 ล้านดอลลาร์ (8.7 พันล้านบาท) ได้ขัดขวางไม่ให้ นสพ. รับรองแฮร์ริส เพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. ซึ่งถือเป็นการแหกกฎเกณฑ์ที่ดำเนินมายาวนานหลายทศวรรษ และส่งผลให้เจ้าหน้าที่บรรณาธิการ 3 คนลาออก