15 ม.ค. เวลา 12:00 • ธุรกิจ

#แบรนด์ไม่ใช่โลโก้ | EP-20

Sizzler เปิดศึกสเต๊กแมส
ส่งแบรนด์ใหม่ STEAK & MORE
.
ตลาดสเต๊กในเมืองไทยกลับมาร้อนระอุอีกครั้ง 🔥 เมื่อแบรนด์พี่ใหญ่ในวงการสเต๊กที่แฟนแบรนด์รู้จักกันดีในนาม "Sizzler" ได้เปิดพอร์ตแตกแบรนด์น้องใหม่ออกมาสู้ศึกตลาดแมส (Mass Market) ภายใต้แบรนด์ใหม่ THE STEAK & MORE หวังชิงเค้กส่วนแบ่งการตลาดจากแบรนด์คู่แข่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้บริโภค อาทิเช่น แบรนด์ Eat Am Are และ แบรนด์ Santa Fe' Steak
😎 อพ. (ออ-พอ) เชื่อว่า แฟนแบรนด์บางส่วนที่เคยบ่นน้อยใจว่าทานสเต๊กแบรนด์ Sizzler แล้วรู้สึกไม่คุ้มค่าคุ้มราคา โดยเฉพาะคนที่เน้นทานเนื้อไม่เน้นทานผักก็อาจจะรู้สึกมากหน่อย เพราะจุดขายของแบรนด์ Sizzler คือ "สลัดบาร์" เหมาะสำหรับผู้บริโภคสายรักสุขภาพโดยเฉพาะ ซึ่งถ้าจะให้แบรนด์ที่วางจุดยืนว่าเป็น "สเต๊กพรีเมียมแมสเพื่อคนรักสุขภาพ" มายอมลดราคาอาหารแรงๆ เพื่อสู้ศึกกับแบรนด์คู่แข่งที่เน้นอิ่มคุ้มค่าราคาสบายกระเป๋านั้น Sizzler คงไม่ทำแน่นอน!!!
เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อสภาวะขาดทุนแล้ว ยังเสี่ยงต่อการสูญเสียภาพลักษณ์แบรนด์ (Brand Image) และ จุดยืนของแบรนด์ (Brand Positioning) ที่ Sizzler เฝ้าฟูมฟักแบรนด์มาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี (เปิดทำการสาขาแรกเมื่อ พ.ศ. 2535)
เมื่อกาลเวลาผ่านไป.. + กระแสเรียกร้องจากผู้บริโภคตลอด 30 ปี ในที่สุด Sizzler ก็ใจอ่อน!! ยอมเปิดใจส่งแบรนด์น้องใหม่ THE STEAK & MORE ออกมาทักทายผู้บริโภคชาวไทยที่เฝ้ารอการปรับตัวของ Sizzler มานานแสนนาน.. โดยประเดิมสาขาแรกที่ Central WestGate สนนราคาอาหารเริ่มต้นที่ 129 บาท/จาน ทางแบรนด์ตั้งเป้าเปิดสาขาให้ได้ครบ 70 แห่ง ภายใน 3 ปี
🔥ถอดรหัส Sizzler แบรนด์ดังคิดอะไร? 🔥
.
(1) ยอมรับจุดอ่อนแต่ไม่ทำลายจุดแข็ง
.
พูดง่ายๆ ก็คือ Sizzler รู้ตัวดีว่าแบรนด์มีจุดอ่อนในเรื่องของ "จุดยืนราคาสินค้า" (Price Positioning) ที่ทำให้แบรนด์ไม่สามารถกระโดดลงมาเล่นสงครามราคากับแบรนด์คู่แข่งในตลาดแมสได้ ด้วยจุดยืนและภาพลักษณ์พรีเมียมที่ Sizzler กำหนดไว้ตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัวแบรนด์ในการเป็น "แบรนด์สเต๊กพรีเมียมแมสเพื่อคนรักสุขภาพ" ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและได้กลายเป็นสาวกของแบรนด์ Sizzler ในที่สุด
แม้ว่า Sizzler จะไม่สามารถลดราคาแรงๆ มาสู้ศึกกับแบรนด์คู่แข่งในตลาดแมสได้ แต่ทว่าตลอดระยะเวลา 30 ปี แฟนแบรนด์จะเห็นได้ว่า Sizzler พยายามปรับตัวมาโดยตลอด จาก Mood & Tone เดิมของแบรนด์ในช่วง 10 ปีแรกที่เปิดสาขา ภาพลักษณ์แบรนด์ที่ดูเงียบขรึม ลึกลับ มีความเป็นส่วนตัว ดูเข้าถึงยาก ก็ค่อยๆ ปรับบุคลิกแบรนด์ให้เป็นมิตร ดูเข้าถึงง่ายมากขึ้น
>> ปัจจุบันทางแบรนด์ได้เลือกใช้มาสคอต "น้องชีสโทสต์" ไว้เป็นกระบอกเสียงของแบรนด์ในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ช่วยปรับ Mood&Tone ของแบรนด์ให้ดูสดใสขึ้นแต่ยังคงรักษาภาพลักษณ์แบรนด์สเต๊กระดับพรีเมียมได้เป็นอย่างดี
(2) แตกแบรนด์ใหม่เพื่อลบจุดอ่อน
.
ในเมื่อแบรนด์ Sizzler ไม่สามารถลงมาเล่นสงครามราคากับแบรนด์คู่แข่งในตลาดแมสได้ จึงเกิดไอเดียแตกแบรนด์น้องใหม่ THE STEAK & MORE ออกมาสู้ศึกตลาดแมสแทนตัวเอง (เริ่มต้นที่ 129 บาท/จาน) นอกจากจะได้ใจแฟนคลับ Sizzler ที่เฝ้ารอราคาสเต๊กสุดคุ้มจากแบรนด์นี้แล้ว สมมติว่า.. หากเกิดอะไรขึ้นกับแบรนด์ THE STEAK & MORE ในอนาคต >> ภาพลักษณ์แบรนด์ Sizzler ที่ทะนุถนอมมาตลอด 30 ปี ก็ไม่เสียหายแต่อย่างใด!!
(3) สเต๊กที่ชูจุดขายความเป็นไทย
.
THE STEAK & MORE เปิดตัวพร้อมจุดขาย "สเต๊กรสไทยราคาสุดคุ้ม" กล่าวคือ เป็นแบรนด์สเต๊กที่ราคาจับต้องได้สบายกระเป๋า (สนนราคา 129-239 บาท) เต็มอิ่มกับสเต๊กไซส์ใหญ่เต็มจานในรสชาติไทยที่แสนคุ้นเคย เสิร์ฟคู่กับเครื่องเคียงสไตล์ไทยๆ อาทิเช่น ข้าวเหนียว ส้มตำ ยำวุ้นเส้น มาพร้อมน้ำซอสที่เลือกได้หลากหลาย เสิร์ฟรสแซ่บแบบบ้านๆ ที่เราหาทานไม่ได้ในแบรนด์ Sizzler สเต๊กสไตล์ Western ที่มีสไตล์คนละขั้วกับแบรนด์ THE STEAK & MORE
(4) เลือกทำเลที่ตั้งอย่างชาญฉลาด
.
หากเลือกทำเลที่ตั้งผิด.. อนาคตของธุรกิจก็อาจเปลี่ยน ซึ่งประสบการณ์ในการทำธุรกิจร้านสเต๊กเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 30 ปี ของแบรนด์ Sizzler ย่อมทำให้แบรนด์ THE STEAK & MORE ได้เปรียบมาก เพราะทุกครั้งก่อนที่จะตัดสินใจเลือกเปิดสาขาใดที่สาขาหนึ่ง ทางแบรนด์ต้องทำการบ้านลงสำรวจตลาดอย่างหนัก (Market Survey) เพื่อประเมินโอกาสและความเสี่ยงในการเปิดสาขา ณ ตำแหน่งนั้นๆ แน่นอนว่าสาขาที่เกิดขึ้นต้องนำมาซึ่งยอดขายและผลกำไร ไม่ใช่นำพาธุรกิจไปขาดทุน!!
แบรนด์ THE STEAK & MORE ตั้งเป้าเปิด 10 สาขาภายในปี 2568 และขยายเป้าให้ครบ 70 สาขาภายในปี 2570 โดยสาขาแรกทางแบรนด์เลือกเปิดที่ศูนย์การค้า Central WestGate (วันที่ 25 ธันวาคม 2567) และวางแผนเปิดสาขาสองต่อที่ True Digital Park (สุขุมวิท 101) ภายใต้แนวคิด "ยิ่งเปิดสาขาได้เร็วเท่าไหร่.. ลูกค้าก็ยิ่งได้รับประสบการณ์เร็วขึ้นเท่านั้น"
ซึ่งแบรนด์ THE STEAK & MORE จะเน้นเปิดสาขาที่ศูนย์การค้าไฮเปอร์มาร์เก็ต คอมมูนิตี้มอลล์ และศูนย์การค้าในย่านชานเมือง ในขณะที่แบรนด์ Sizzler จะคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ของความเป็น "แบรนด์สเต๊กคนเมือง" โฟกัสโซนที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง
🔥สิ่งที่แบรนด์ไม่ควรมองข้าม 🔥
.
(1) การเติบโตที่อาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
.
จากการประกาศตั้งเป้าขยายสาขา 70 แห่งภายใน 3 ปี นับเป็นการเติบโตที่หวือหวาและมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย ซึ่งทางแบรนด์ Sizzler นั้นมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจร้านสเต๊กมากว่า 30 ปี คงมีการคำนวณต้นทุนต่างๆ และมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ดังใจหวัง
แต่ทว่าการสู้ศึกในตลาดแมสนั้นกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด หากมีสาขาใดสาขาหนึ่งของ THE STEAK & MORE ในอนาคตเกิดบริหารงานผิดพลาด ได้ส่งมอบประสบการณ์ที่ไม่ประทับใจให้กับลูกค้า เจ้าสาขาที่สร้างปัญหาย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์แบรนด์ THE STEAK & MORE ทั้งพอร์ตได้เช่นกัน
อีกทั้งการตามหาพนักงานดีๆ ที่มีคุณสมบัติหัวใจนักบริการนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะหาพนักงาน 1 คน ที่ทำงานเป๊ะได้ดั่งใจเรานั้นนับเป็นโจทย์หินของธุรกิจร้านอาหารทุกวันนี้ ซึ่งผู้ที่ต้องรับบทหนักในการช่วยฝึกฝนพนักงาน "ปั้นดินให้เป็นดาว" นั่นก็คือ ทีม Training ที่ต้องบริหารจัดการคนร่วมกับทีม Operation ของแต่ละสาขาที่ต้องมองภาพแบรนด์ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อช่วยกันส่งเสริมและผลักดันให้แบรนด์ THE STEAK & MORE พิชิตเป้าหมาย 70 สาขา ได้สำเร็จใน 3 ปี
(2) Food & Service Quality เป็นเรื่องใหญ่
.
แม้ว่าแบรนด์ THE STEAK & MORE คือ แบรนด์สเต๊กน้องใหม่ที่แตกแบรนด์ออกมาจากพี่ใหญ่ในวงการสเต๊กอย่าง Sizzler ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้ากลุ่มเดียวกัน 100% เพราะทั้งสองแบรนด์นี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในเรื่อง "จุดยืนราคาสินค้า" (Price Positioning)
แบรนด์หนึ่งตั้งราคาสูง อีกแบรนด์หนึ่งตั้งราคาประหยัด ดังนั้น การวางแผนกลยุทธ์การขายย่อมต้องพึ่งพาระบบปฏิบัติการสาขาที่รวดเร็วฉับไว เสิร์ฟร้อน อร่อยเร็ว และเทิร์นรอบลูกค้าให้เข้า-ออกจากร้านอย่างรวดเร็วเช่นกัน เพราะทางแบรนด์เลือกแล้วว่าจะตั้งราคาประหยัดแล้วเน้นขายเชิงปริมาณ พนักงานจึงต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการร้านและการบริการลูกค้าเป็นอย่างดี เพื่อพิชิตยอดขายให้ได้ตามเป้าที่ทางแบรนด์ตั้งไว้ในแต่ละเดือน
ยิ่งทางผู้บริหารแบรนด์ The STEAK & MORE ประกาศชัดเจนว่า "แบรนด์นี้ไม่ต้องมี Sales Promotion หรือ จัดทำ Loyalty Program ใดๆ จะเน้นการตั้งราคาอาหารให้ลูกค้าจับต้องได้ ทานได้ทุกวัน" ยิ่งสร้างความท้าทายให้กับพนักงานโดยเฉพาะเรื่อง "คุณภาพสินค้าและบริการ" (Food & Service Quality) ว่าแบรนด์จะรักษามาตรฐานได้ดีจริงทุกวันหรือไม่?
ทุกสิ่งที่แบรนด์พูดไว้จะต้องรักษาคำพูดให้ได้จริงตามนั้น เพราะลูกค้าพร้อมที่จะบอกปากต่อปากอย่างรวดเร็วในสื่อโซเชียลทั้งในด้านดีและด้านร้าย ซึ่งทางแบรนด์จะต้องระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ ยิ่งลูกค้ารู้ว่าแบรนด์ The STEAK & MORE อยู่ภายใต้ร่มคันเดียวกับแบรนด์ Sizzler ความคาดหวังของลูกค้าก็ยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
(3) ศึกแย่งชิ้นเค้กระหว่างแบรนด์พี่ vs แบรนด์น้อง
.
ทางแบรนด์ได้พูดถึงการกำเนิดของแบรนด์ The STEAK & MORE ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากความสำเร็จของแบรนด์ไอศกรีมในเครือไมเนอร์ นั่นคือ แบรนด์ Swensen's และ แบรนด์ Dairy Queen ที่เป็นแบรนด์ไอศกรีมเหมือนกันแต่ต่างกันที่ "จุดยืนราคาสินค้า" (Price Positioning) แล้วมีความคาดหวังว่าแบรนด์ The STEAK & MORE จะประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน
แต่เกมนี้ อพ. มองว่า "ไม่ใช่เรื่องง่าย" และมันมีอีกหลายประเด็นที่แบรนด์ไม่ควรมองข้าม >> ถ้าเราจะพูดถึง แบรนด์ Swensen's และ แบรนด์ Dairy Queen สองแบรนด์นี้แตกต่างกันชัดเจน ไม่ใช่แค่เรื่องของภาพลักษณ์แบรนด์กับราคาสินค้า แต่ยังรวมถึงรูปแบบการให้บริการของทั้งสองแบรนด์ด้วย
>> Swensen's คือ ร้านไอศกรีมที่เน้นการนั่งทานในร้านอย่างจริงจัง ถึงจะมีการขายไอศกรีมในรูปแบบ Take Away หรือ Delivery ร่วมด้วย แต่ภาพที่ลูกค้ามองนั้นคือ ประสบการณ์พิเศษที่ลูกค้าได้รับจากการนั่งทานในร้าน Swensen's ได้สื่อสารแบรนด์ด้วยภาพเหล่านั้นซ้ำๆ จนกลายเป็นภาพจำของแบรนด์นี้ไปแล้ว
>> ในขณะที่แบรนด์ Dairy Queen คือ มุมตรงกันข้าม โดยจะเน้นขายไอศกรีมในรูปแบบ Take Away และ Delivery เป็นหลัก บางสาขาที่มีพื้นที่ใหญ่หน่อยก็จะมีที่นั่งไว้รองรับลูกค้าบ้างนิดหน่อย เพราะ Dairy Queen ไม่ได้วางจุดยืนแบรนด์ให้เป็นร้านนั่งทานตั้งแต่แรก ซึ่งความแตกต่างนี้ลูกค้าทั้งสองแบรนด์เข้าใจได้เป็นอย่างดี รู้ว่าถ้าต้องการนั่งทานไอศกรีมแบบชิลล์ๆ กับคนรู้ใจจะต้องเลือกแบรนด์ไหน? ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าถ้าต้องการทานไอศกรีมราคาประหยัดแต่อร่อย ซื้อทานได้ทุกวันจะต้องเลือกแบรนด์ไหน?
ตัดภาพกลับมาที่เคส The STEAK & MORE และ Sizzler ถึงแม้ว่าสองแบรนด์นี้จะมีจุดขายที่แตกต่างกันในเรื่องของ "สไตล์อาหารและราคาขาย" กล่าวคือ "Thai Style" vs "Western Style" แต่ทั้งสองแบรนด์ก็คือ "ร้านสเต๊กที่ลูกค้าเน้นทานเป็นอาหารมื้อหลัก" จะไม่เหมือนกับไอศกรีมที่เป็นเมนูของหวานจะทานหรือไม่ทานก็ได้
แต่พอถึงคราวที่จะต้องเลือกอาหารมื้อหลัก ปัจจัยต่างๆ ก็เริ่มวิ่งเข้ามาในความคิดของลูกค้า >> ลูกค้าเริ่มตั้งเงื่อนไข 1 2 3 4 เปรียบเทียบกันไปมาระหว่างแบรนด์พี่กับแบรนด์น้อง นี่ยังไม่นับรวมกับแบรนด์คู่แข่งตลาดแมสอย่างแบรนด์ Eat Am Are และ แบรนด์ Santa Fe' Steak ที่เป็นคู่แข่งเบอร์ต้นในศึกสเต๊กแมสที่ The STEAK & MORE ต้องเผชิญ!!
ด่านแรกที่แบรนด์ The STEAK & MORE ต้องเผชิญ คือ การถูกเปรียบเทียบกับแบรนด์ Sizzler ในเรื่อง "ความคุ้มค่าคุ้มราคา" ที่ลูกค้าจะได้รับคุณค่าผ่านประสบการณ์ในการทานอาหารและการรับการบริการที่ดีจากแบรนด์ The STEAK & MORE แน่นอนว่า ตลาดแมสลูกค้ามีปริมาณเยอะกว่าและจะตัดสินใจซื้อด้วยราคาอาหารที่ดึงดูดใจ
แล้วถ้าการควบคุมคุณภาพอาหารและการบริการของ The STEAK & MORE ทำได้ดีเกินความคาดหวังของลูกค้า ก็ยิ่งส่งสัญญาณอันตรายไปถึงอีกแบรนด์หนึ่งในเครือเดียวกัน นำไปสู่การแย่งชิ้นเค้กกันเองระหว่างแบรนด์พี่กับแบรนด์น้อง เป็นเรื่องที่แบรนด์ไม่ควรมองข้าม!!
สมมติว่า.. ลูกค้าที่เป็นสาวกตัวจริงที่สนับสนุนแบรนด์ Sizzler มาอย่างยาวนาน ได้ลองเปิดใจอุดหนุนแบรนด์ The STEAK & MORE แล้วกลับพบว่า "ได้เสต๊กที่ชิ้นเนื้อใหญ่กว่า!! อิ่มกว่า!! คุ้มค่ากว่า!! มีเมนูให้เลือกมากกว่า" ก็มีแนวโน้มสูงที่ลูกค้าจะตัดสินใจเลือกจ่ายเงินให้กับแบรนด์ใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการได้มากกว่าแถมยังมีเงินเหลือไปทำเรื่องอื่นๆ ด้วย
>> ถ้าเกิดว่าเคสสมมตินี้.. มันไม่ใช่แค่ลูกค้ารายเดียวล่ะ!! แต่เป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของ Sizzler ที่มีแนวคิดเดียวกัน แบรนด์ควรมีมาตรการอย่างไรเพื่อเตรียมรับมือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ?
ถ้าจะพูดในอีกมุมหนึ่ง, โมเดลธุรกิจของแบรนด์ The STEAK & MORE ก็เป็นโอกาสที่ดีในการดึงลูกค้าฐานเดิมของแบรนด์ Sizzler ที่แอบปันใจไปเลือกใช้บริการร้านสเต๊กของแบรนด์คู่แข่งด้วยเหตุผลที่ว่า "ลูกค้าสู้ราคาอาหารไม่ไหว" ทำให้ต้องตัดสินใจเลือกแบรนด์อื่น จากที่เคยอุดหนุนแบรนด์ Sizzler บ่อยครั้งก็เริ่มลดปริมาณลงตามกำลังซื้อที่มี ซึ่งการกำเนิดของแบรนด์ The STEAK & MORE จึงมีหน้าที่ช่วยปั๊มหัวใจดวงเดิมของลูกค้า Sizzler ให้กลับมาเต้นแรงได้อีกครั้ง.. แม้จะไม่ใช่แบรนด์เดียวกันก็ตาม
✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩
แหล่งอ้างอิงภาพและบทความอยู่ในคอมเมนต์
✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩✩
.
#Brandไม่ใช่Logo
จันทร์ / พุธ / ศุกร์ ⏰ เวลา 19.00 น.
.
นำเสนอข้อเท็จจริงเรื่อง #การสร้างแบรนด์
เปลี่ยนความเข้าใจผิด ฝึกให้คิดใหม่ ทำใหม่
ด้วยบทวิเคราะห์ที่คุณ #เข้าใจง่ายใช้ได้จริง
สำหรับเจ้าของแบรนด์ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม
และ ผลิตภัณฑ์การเกษตร
BRANDFIXER🔧นักซ่อมแบรนด์ธุรกิจอาหาร
Future Food Branding For Sustainability
ซ่อมเพื่อสร้างและพัฒนาแบรนด์ไทยให้ยั่งยืน
.
#Brandfixer #นักซ่อมแบรนด์
#ซ่อมเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
#Food #Beverage #Agriculture
โฆษณา