13 ม.ค. เวลา 15:42 • ธุรกิจ

การเลิกจ้างต้องมี Game Plan ที่ได้ทั้งลดเสี่ยงและได้ทั้งดูแลความรู้สึกพนักงาน

HR ไร้พรมแดน
7 มกราคม 2568
การเลิกจ้างพนักงานไม่ว่าเป็นการเลิกจ้างแบบจ่ายค่าชดเชย หรือเป็นการเลิกจ้างแบบไม่จ่ายค่าชดเชย ล้วนเป็นงานที่คนทำ HR มีความลำบากใจที่จะทำ แต่จำเป็นต้องทำเพราะเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบโดยตรง
การเลิกจ้างพนักงานแม้จะเป็นเรื่องที่กฎหมายแรงงานให้สิทธินายจ้างทำได้ หากมีเหตุผลอันสมควรรองรับ แต่ในแง่มุมของลูกจ้าง การถูกเลิกจ้างเป็นเรื่องที่ทำร้ายความรู้สึกของพนักงานอยู่ไม่น้อย แม้บางกรณีเขาจะทำความผิดจริงก็ตาม
ดังนั้น ในการเลิกจ้างพนักงานจึงต้องคิดในสองมุม คือ มุมมองการเลิกจ้างที่จะลดความเสี่ยงทางกฎหมายด้วยการทำทุกอย่างให้ครบถ้วนที่สุด กับอีกมุมหนึ่ง คือ มุมของการเห็นอกเห็นใจพนักงานผู้ถูกเลิกจ้าง ที่จะต้องวางทั้งสองมุมไว้ในการทำ Game Plan การเลิกจ้าง
ทำ Game Plan อย่างไรให้ลดเสี่ยงและทำให้พนักงานรู้สึกแย่น้อยสุด
ในการทำ Game Plan เรื่องการเลิกจ้างพนักงาน จะต้องมองไว้เป็น 3 ช่วง คือ ก่อนการเลิกจ้าง ช่วงทำการเลิกจ้าง และหลังการเลิกจ้าง
ก่อนการเลิกจ้างต้องเตรียมการดังนี้
1. หนังสือเลิกจ้างที่ถูกต้องครบถ้วน บอกพฤติการณ์การกระทำผิด ชี้ว่าพฤติการณ์นั้นผิดข้อบังคับข้อไหน การเลิกจ้างเป็นแบบจ่ายค่าชดเชย หรือไม่จ่ายค่าชดเชย วันที่การเลิกจ้างมีผล โดยเตรียมไว้เป็น 2 ชุด
2. ตวรจสอบให้ดีว่า ผู้ลงนามเป็นผู้อำนาจเลิกจ้างจริง
3. เอกสารการเงิน จำนวนเงินควรมีให้พร้อม จะต้องไม่ใช่เป็นการโอนให้ภายหลัง
4. กำหนดตัวบุคคลว่า ใครเป็นคนเชิญเข้ามา ใครเป็นคนแจ้ง ใครเป็นคนพาไปที่โต๊ะทำงานเพื่อเอาของที่จำเป็น
5. ผู้ได้รับมอบหมายให้แจ้งการเลิกจ้างควรทำการศึกษาเอกสารอย่างละเอียดให้ครบถ้วน มีการซักซ้อมการอ่านหนังสือเลิกจ้างหลายๆรอบ
6. กำหนดสถานที่ในการแจ้งเลิกจ้างตั้งแต่ห้องนั่งรอ ห้องที่เตรียมไว้แจ้งการเลิกจ้าง ห้องที่มีเจ้าหน้าที่ HR รออธิบายสิทธิ และมอบเอกสารรวมทั้งเช็ค ทั้งนี้ สถานที่ดังกล่าวควรจะอยู่ในที่ๆเป็นส่วนตัว
7. วางแผนเส้นทางการเข้า การออกไปในสถานที่ต่างๆที่กำหนดไว้
8. ควรจะเชิญตำรวจมาอยู่ในพื้นที่ในบางกรณีที่อาจจเกิดเหตุต่อต้าน ไม่พอใจ มีแนวโน้มก่อเหตุรุนแรง
9. ทำการซักซ้อมแผนกับผู้เกี่ยวข้องแบบละเอียดลงไปแต่ละช่วงเวลา
ช่วงทำการเลิกจ้าง
1. เมื่อพนักงานถูกเชิญเข้ามาแล้ว ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แจ้งการเลิกจ้างควรสร้างบรรยากาศให้เป็นทางการ แต่มีความผ่อนคลาย แล้วใช้การอ่านหนังสือเลิกจ้างถ้อยคำด้วยนำเสียงราบเรียบตั้งแต่ต้นจนจบ โดยควรมีพยาน 1-2 คนอยู่ด้วย
2. สิ่งที่ต้องระวังให้มากของผู้แจ้งการเลิกจ้างคือ ภาษากาย ทั้งน้ำเสียง แววตา ท่าทีที่จะต้องแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจลูกจ้างอย่างแท้จริง
3. ให้พนักงานลงนามรับทราบ ถ้าพนักงานไม่ลงนาม ให้บันทึกว่า “ได้อ่านให้พนักงานฟังต่อหน้าพยาน แต่พนักงานไม่ลงนาม จึงขอให้พยานลงนามเพื่อเป็นหลักฐานว่า ได้มีการแจ้งการเลิกจ้างแก่พนักงานแล้ว” จากนั้น ให้พยานที่อยู่ในเวลานั้นลงนานในหนังสือเลิกจ้างต่อท้ายบันทึกนี้
4. จากนั้น ให้มีผู้เชิญพนักงานไปในห้องที่มีเจ้าหน้าที่ HR เตรียมอธิบายสิทธิและส่งมอบเอกสารให้พนักงานผู้ถูกเลิกจ้าง
5. เมื่อจบการแจ้งสิทธิโดยเจ้าหน้าที่ HR หากจำเป็นต้องเป็นเข้าไปเก็บของที่จำเป็นที่โต๊ะทำงาน คนที่จะนำพาเข้าไปไม่ควรเป็น HR หรือ รปภ. แต่ควรเป็นหัวหน้าโดยตรง หากไม่มีข้อขัดแย้ง หรือพนักงานที่อาวุโสกว่าที่พนักงานให้ความเคารพ เกรงใจ
หลังการเลิกจ้าง
1. เตรียมข้อมูล เอกสาร ประเด็นทางกฎหมาย เพื่ออเตรียมต่อสู้ในศาลแรงงาน เพราะการเลิกจ้างทุกครั้งแม้ท่าทีของพนักงานผู้ถูกเลิกจ้างจะไม่แสดงออกอะไรมากนัก แต่จะต้องคิดแบบ Worst case scenario คือ สถานการณ์ที่เลวร้ายสุดเอาไว้เสมอ
2. สื่อสารกับบุคคลผู้เกี่ยวข้องอย่างจำกัด ด้วยเนื้อหาที่กระชับ ให้ข้อเท็จจริงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
3. ประเมินบรรยากาศว่า มีแนวโน้มจะเกิดบรรยากาศทางลบหรือไม่ ถ้ามี ต้องค้นหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร เพื่อเข้าไปดำเนินการแก้ไขให้ได้ทันการ
เป็น Game Plan ที่เป็นกรอบเบื้องต้น ในรายละเอียดของการปรับใช้จะเป็นไปตามเงื่อนไขของสถานการณ์
แต่ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไร ให้บอกตัวเองเสมอว่า จะต้องได้ทั้งลดความเสี่ยงทางกฎหมาย และได้ทั้งให้พนักงานผู้ถูกเลิกจ้างยังรู้สึกถึงความเห็นอกเห็นใจจากเรา
Credit photo Freepik
#เลิกจ้าง
#terminationofemployment
โฆษณา