13 ม.ค. เวลา 16:04 • ข่าวรอบโลก

ยูเครนหวัง “ปิดตาย” ท่อส่งก๊าซรัสเซียเส้นสุดท้ายจ่ายเข้ายุโรป

โดยส่งโดรนโจมตี “สถานีบีบอัดเพิ่มแรงดันก๊าซ” ที่ครัสโนดาร์ ต้นทางของ TurkStream ฝั่งรัสเซีย
1
กระทรวงกลาโหมของรัสเซียกล่าวว่าโดรนของยูเครนพยายามโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของสถานีบีบอัดก๊าซ Russkaya ในภูมิภาคครัสโนดาร์ของรัสเซียซึ่งเป็นต้นทางของท่อก๊าซสาย TurkStream ที่ลอดผ่านทะเลดำไปขึ้นฝั่งที่ตุรกีเพื่อส่งต่อป้อนเข้ายุโรป ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย โดรนกลุ่มดังกล่าวทำการโจมตีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2025 สถานีดังกล่าวตั้งอยู่ในหมู่บ้าน Gai-Kodzor [1]
ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย โดรนยูเครนทั้งหมดถูกยิงตก แต่ทว่าเศษซากโดรนที่ตกลงมาทำให้อาคารและอุปกรณ์ของสถานีตรวจวัดก๊าซได้รับ “ความเสียหายเล็กน้อย” กระทรวงกลาโหมระบุว่าอุปกรณ์ได้รับการซ่อมแซมแล้ว และไม่มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด
  • กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า “การโจมตีครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อหยุดการส่งก๊าซรัสเซียเข้าไปยังประเทศในยุโรปโดยสมบูรณ์ เนื่องจากสถานีบีบอัดก๊าซที่ครัสโนดาร์ยังคงเดินเครื่องส่งก๊าซธรรมชาติของรัสเซียผ่านท่อส่ง TurkStream ในโหมดปกติ ไม่มีการหยุดชะงักในการดำเนินงานแต่อย่างใด” แถลงการณ์ระบุ
2
ฝ่ายยูเครนยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมรัสเซียดังกล่าว
กระทรวงกลาโหมของรัสเซียรายงานเมื่อเช้าวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมาว่า โดรนของยูเครนจำนวน 16 ลำถูกทำลายเหนือดินแดนครัสโนดาร์ ชาวเมืองอานาปาและโนโวรอสซิสค์รายงานว่ามีการโจมตีด้วยโดรนในช่วงเช้ามืดของวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา อ้างอิงตามคลิปของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์โพสต์บนเทเลแกรมของ BAZA [2]
1
เครดิตภาพ: Time for a European Federation
ตามรูปโครงข่ายท่อส่งก๊าซด้านบน ไล่ลงมาตามลำดับจากด้านบนสู่ด้านล่าง ท่อสาย Nord Stream 1 และ 2 ซึ่งลอดผ่านทะเลบอลติกถูกลอบวางระเบิดไป 3 ใน 4 เส้น ช่วงก่อนปลายปี 2022 หลังเกิดสงครามในยูเครน สายนี้มีความสำคัญเป็นยุทธศาสตร์ของยุโรปเลยก็ว่าได้เพราะกำลังจ่ายสูงสุด ส่วนสายต่อมา Yamal เส้นนี้ผ่านเบลารุสเข้าโปแลนด์ก็ถูกสั่งปิดไปหลังรัสเซียบุกยูเครน
ไล่ลงมาก็เป็นท่อก๊าซอีกสายที่สำคัญมีกำลังจ่ายรองจากนอร์ดสตรีมคือ สายที่ลากผ่านดินแดนยูเครน เส้นนี้ถูกปิดกั้นเพราะสัญญาหมดอายุไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2025 โดยทางการยูเครนไม่ขอต่อสัญญากับทางบริษัทก๊าซพรอมของรัสเซีย และลงมาล่างสุดก็สาย TurkStream ที่ลอดผ่านทะเลดำขึ้นฝั่งที่ตุรกี ซึ่งเป็นข่าวล่าสุดอยู่นี้ โชคดีที่ยังไม่เป็นอะไร ทำให้ยังมีเส้นทางก๊าซรัสเซียส่งเข้าสู่ยุโรปได้อยู่
เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว คงไม่พ้นมีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ทางด้านพลังงานของยุโรป มีคนวางแผนหาทางให้ยุโรปเลิกพึ่งพาก๊าซราคาถูกจากรัสเซีย และเปลี่ยนรูปแบบเชื้อเพลิงมาใช้เป็นก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แทนซึ่งมีต้นทุนสูงกว่ามากเพราะจัดเก็บยากและมีต้นทุนด้านการขนส่งรวมถึงต้องแปรสภาพกลับให้เป็นก๊าซก่อนนำมาใช้ ตอนนี้ยุโรปก็มีนำเข้า LNG หลักจากสหรัฐกับรัสเซีย
1
อย่างไรก็ตามปัจจุบันยุโรปยังคงมีก๊าซธรรมชาติใช้อยู่โดยดึงออกมาจากคลังเก็บใต้ดิน แต่ข้อมูลเท่าที่รู้ล่าสุดดึงออกมาใช้แล้วเหลือระดับต่ำกว่า 75% ของคลังสำรอง ดังนั้นในระยะยาวหากไม่มีการเติมเข้าไปในคลังย่อมมีปัญหาขาดแคลนแน่นอน
เรียบเรียงโดย Right Style
13th Jan 2025
  • เชิงอรรถ:
<เครดิตภาพปก: (บน) – BNN Bloomberg (ล่าง) - krasnodar-tr.gazprom.ru>
โฆษณา