เมื่อวาน เวลา 05:11 • สุขภาพ

PM2.5 ทำให้สมองเสื่อมได้อย่างไร

สถารการณ์ฝุ่น PM2.5 ในไทยกลับมาน่าเป็นห่วงอีกครั้ง ข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย GISTDA ผ่านแอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น" เวลา 07.00 น. พบว่าค่าฝุ่น PM2.5 ในทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ เกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) อยู่ในระดับสีส้ม ซึ่งหมายถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ 52 จังหวัดมีค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน อยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ พื้นที่ภาคกลางมีค่าฝุ่น PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ (สีแดง) ในขณะที่ภาคอื่น ๆ พบค่าฝุ่นในระดับสีส้มกระจายอยู่ทั่วประเทศ
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลในวงกว้างอีกครั้งเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนข้อสงสัยนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ผลต่อสมอง" ที่มีการพูดถึงมากขึ้นในช่วงหลัง
แม้จะฟังดูไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ที่จริงแล้ว PM2.5 สามารถผ่านเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางของร่างกายได้ไม่ยากเย็นนัก ช่องทางหลักคือ เส้นประสาทรับกลิ่น(olfactory nerve), เส้นประสาทตา(optic nerve), Blood-Brain Barrier เป็นต้น
เมื่อผ่านเข้าถึงสมอง PM2.5 เหนี่ยวนำให้เกิดความเสียหายระยะยาวในสมอง ผ่านการการกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันในสมอง (Microglial cells) สร้างความเสียหายของไมโทคอนเดรียในเซลล์ประสาท กระตุ้นการทำงานของอนุมูลอิสระในสมอง ทำให้เกิดภาวะ oxidative stress นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายให้กับ myelin sheaths ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อสมดุลสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้สารสื่อประสาทหลายตัวในสมองทำงานผิดปกติ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น PM2.5 จึงอาจก่อให้เกิดความผิดปกติหลายอย่างในสมอง และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคทางระบบประสาทและสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคทางจิตเวช และภาวะสมองเสื่อม(Dementia)
นอกจากการทำลายระบบประสาทส่วนกลางโดยตรงแล้ว PM2.5 ยังทำลายความแข็งแรงของโครงสร้างหลอดเลือดในสมอง ซึ่งในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองได้อีกทางหนึ่งด้วย
ดังนั้นเราจึงไม่ควรประมาทถึงผลกระทบต่อสุขภาพของ PM2.5 ควรสวมหน้ากากอนามัยชนิดป้องกันฝุ่น PM2.5 เมื่อออกนอกบ้านหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และสตรีมีครรภ์ และหมั่นติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ
อ้างอิง
โฆษณา