14 ม.ค. เวลา 07:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ

อธิบาย หุ้นกู้ของ DELTA กลยุทธ์กู้เงิน 18,000 ล้านบาท โดยไม่จ่ายดอกเบี้ย | MONEY LAB

วันนี้ DELTA พึ่งแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทแม่ที่ถือหุ้นของ Delta Electronics (ประเทศไทย) คือบริษัท Delta International Holding Limited B.V.
จะมีการออกหุ้นกู้แปลงสภาพประเภทไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 18,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนให้กับบริษัท
โดยหุ้นกู้แปลงสภาพดังกล่าว จะสามารถแปลงเป็นหุ้น DELTA ได้ที่ราคา 187.60 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดในปัจจุบันที่ราคาอยู่ที่ 144 บาท เมื่อถือหุ้นกู้เป็นระยะเวลา 41 วันขึ้นไป
หลายคนอาจจะสงสัยว่า หุ้นกู้ที่ไม่มีดอกเบี้ย หรือ Zero Coupon Bond นั้น ออกมาแล้วนักลงทุนจะได้อะไร ทำไมถึงยังมีคนซื้อ
เพราะเหมือนกับเป็นการที่บริษัทขอยืมเงินนักลงทุนไปใช้ แต่ไม่ได้ให้ดอกเบี้ยอะไรกลับมาเลย เพราะเมื่อครบกำหนดบริษัทก็จะคืนเงินจำนวนเท่าเดิมคืนให้
แต่แค่ไม่มีดอกเบี้ย ก็ไม่ได้เท่ากับว่าไม่มีผลตอบแทน นั่นก็เป็นเพราะว่า โดยปกติแล้ว หุ้นกู้ไม่มีดอกเบี้ยนั้น จะขายกันที่ราคาต่ำกว่าราคาหน้าตั๋ว หรือที่เรียกว่า Discount
1
ทำให้เมื่อถึงเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ นักลงทุนก็จะได้ผลตอบแทนจากส่วนต่าง ระหว่างราคาหน้าตั๋ว และราคาของหุ้นกู้ที่ซื้อมา นั่นเอง
เช่น หุ้นกู้ไม่มีดอกเบี้ย อายุ 3 ปี ขายที่ราคา 90 บาท จากราคาหน้าตั๋ว 100 บาท เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี
นักลงทุนก็จะได้กำไร = 100 - 90 = 10 บาทต่อหุ้นกู้ หรือก็คือคิดเป็นผลตอบแทน 10% ในระยะเวลา 3 ปี
แต่ในกรณีของหุ้นกู้ไม่มีดอกเบี้ยของ DELTA นี้ นักลงทุนก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนมากกว่านั้น เพราะหุ้นกู้นี้ ไม่ได้เพียงไม่มีดอกเบี้ย แต่ยังเป็น “หุ้นกู้แปลงสภาพ” ที่นักลงทุนสามารถใช้สิทธิแปลงสภาพหุ้นกู้ ให้กลายเป็นหุ้นได้
โดยการซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพ เมื่อถึงเวลาที่กำหนดเราจะสามารถเลือกได้ว่า จะเลือกรับเงินต้นคืนที่ราคาหน้าตั๋ว หรือเลือกที่จะใช้สิทธิแปลงจากหุ้นกู้ไปเป็นหุ้นสามัญ
3
ซึ่งจากราคาที่กำหนดไว้ว่าจะสามารถแปลงสภาพหุ้นกู้ได้ อยู่ที่ 187.60 บาท และกำหนดเวลาเริ่มใช้สิทธิที่ 41 วันเป็นต้นไป
ก็แปลว่า ถ้าหากนักลงทุนถือหุ้นกู้ครบ 41 วันแล้ว หากราคาของหุ้น DELTA ขึ้นไปเกินระดับนั้น
นักลงทุนก็สามารถแปลงสภาพหุ้นกู้ไม่มีดอกเบี้ย ให้กลายเป็นหุ้น DELTA ที่มีต้นทุน 187.60 บาทได้ และทำกำไรจากส่วนต่างราคาได้เลย
นอกจากนี้ ยังมีอีกตัวเลือกหนึ่งที่ทางผู้ออกหุ้นกู้มอบให้ก็คือ การที่นักลงทุนสามารถขายคืนหุ้นกู้นี้กับบริษัทได้ก่อน เมื่อหุ้นกู้มีอายุครบ 3 ปี ได้ เพื่อเอาเงินคืนในอัตรา 106.31% จากราคาหน้าตั๋ว
อย่างไรก็ตาม การที่นักลงทุนเลือกที่จะนำหุ้นกู้ มาแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญของบริษัท ย่อมส่งผลให้จำนวนหุ้นสามัญของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และนั่นจะนำมาสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า “Dilution Effect” หรือการลดลงของสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายเดิม และจะทำให้กำไรสุทธิต่อหุ้นลดลง หากกำไรสุทธิของบริษัทเท่าเดิม
1
ในกรณีของ Delta หากมีการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญทั้งหมด จะเกิดหุ้นใหม่ประมาณ 97,350,000 หุ้น จากจำนวนหุ้นที่มีอยู่เดิม 12,473,816,140 หุ้น
คิดเป็น Dilution Effect 0.7% หมายความว่าถ้าเราถือหุ้น DELTA อยู่ แล้วผู้ถือหุ้นกู้ทั้งหมดตัดสินใจแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ จะทำให้สัดส่วนความเป็นเจ้าของของเราลดลงประมาณ 0.7% ของสัดส่วนเดิมเท่านั้น
ซึ่งหาก DELTA มีกำไรสุทธิเท่าเดิม กำไรสุทธิต่อหุ้นก็จะลดลงราว 0.7% เช่นกัน
ถึงอย่างนั้น เหตุการณ์ Dilution Effect ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นใน 3 ปีข้างหน้า แต่ทาง DELTA จะได้เงินกว่า 18,000 ล้านบาท มาใช้เลยทันที แบบไม่มีดอกเบี้ยต้องจ่ายด้วย
และถ้าหาก DELTA สามารถนำเงินทุนที่ได้ ไปประกอบกิจการ จนสามารถสร้างการเติบโตได้มากขึ้นกว่าเดิม ก็จะทำให้ Dilution Effect ไม่ได้ส่งผลมากนัก
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า การออกหุ้นกู้ครั้งนี้ จะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจของ DELTA มากน้อยแค่ไหน..
References
-เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ
โฆษณา