เมื่อวาน เวลา 03:05 • ไลฟ์สไตล์

คุณเตรียมพร้อมเพื่อการเกษียณแค่ไหน แล้วคนส่วนใหญ่พร้อมจะเกษียณหรือยัง?

คำว่าเกษียณ สำหรับบางคนอาจฟังเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากลองคิดดีๆซิ ว่างานที่เราทำอยู่ตอนนี้ เราต้องการจะทำมันไปเรื่อยๆจนวันตายเลยหรือ หรือสุดท้ายความแก่ชราและปัญหาทางสุขภาพจะบีบให้เราต้องหยุดทำงานนั้นอยู่ดี แล้วถ้าเราไม่เตรียมตัวให้พร้อมเมื่อวันนั้นมาถึง เราจะใช้ชีวิตหลังเกษียณต่อไปได้อย่างไร
ผลสำรวจโดย Crowdabout ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชากรวัยทำงานของไทยในทุกภูมิภาค จำนวน 2,233 คน ได้ข้อสรุปเป็นประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
  • ​คนบางส่วนยังไม่เข้าใจเรื่องการวางแผนเกษียณ
จากการสำรวจโดยแยกเป็น4กลุ่มตามช่วงอายุ คือ First jobber(22-25ปี), Early working(26-35ปี), Mid working(36-45ปี) และ Late working(46ปีขึ้นไป) พบว่าเกือบ 20% ยังไม่มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเกษียณ โดยเฉพาะในกลุ่ม First jobber ซึ่งอาจเป็นทั้งจากเพิ่งจะเริ่มทำงานใหม่ๆ ยังไม่มีภาระครอบครัวภาระผูกพันต่างๆ หรือ อาจจากแนวคิดการยึดติดกับความสุขเฉพาะหน้าเท่านั้น
ทำให้คนกลุ่มนี้พลาดโอกาสการใช้ประโยชน์จากผลตอบแทนทบต้นไปอย่างน่าเสียดาย เพราะหากเขาเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย แม้จะออมเงินไม่เยอะมาก แต่ก็สามารถทำผลตอบแทนได้ดีกว่าคนที่ออมเงินมากๆแต่เหลือเวลาให้ออมไม่เยอะแล้ว
  • ​คนส่วนใหญ่ยังออมเงินเพื่อเป้าหมายระยะสั้น
แม้จะพบอัตราการออมเงิน-ลงทุน สูงถึง72% แต่เมื่อลงไปในรายละเอียดกลับพบว่าส่วนใหญ่เป็นการออมเงินเพื่อเป้าหมายระยะสั้นเท่านั้น ทั้งการเก็บเงินเพื่อซื้อของ หรือ การท่องเที่ยว มีเพียงส่วนน้อยที่ออมเงินระยะยาวเพื่อการเกษียณ
นอกจากนี้ยังพบว่าการกำหนดสัดส่วนเงินออม และเงินลงทุนของคนส่วนใหญ่ ยังมีความคลุมเครือ ไม่สามารถแยกกันได้ชัดเจน บ้างอาจเข้าใจว่าการออมในทองคำ หรือ กองทุนตราสารหนี้นั้นปลอดภัย ทั้งที่ความจริงแล้วยังมีความเสี่ยงที่อาจทำให้สูญเสียเงินต้นได้อยู่
และการไม่กำหนดสัดส่วนเงินออมที่มีความปลอดภัยให้มากพอนั้น อาจทำให้เกิดปัญหาเมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นได้
  • ​แผนการออมเงิน-ลงทุน ส่วนมากให้ผลตอบแทนต่ำกว่าเงินเฟ้อ
นอกจากปริมาณเงินออมที่น้อยแล้ว คุณภาพของเครื่องมือเพื่อการออม-ลงทุน ที่คนส่วนใหญ่เลือก ก็ยังไม่ค่อยดีอีกด้วย ดังจะเห็นได้ว่ามีเพียง 6% เท่านั้นที่เลือกลงทุนในกองทุนรวม ขณะที่ส่วนใหญ่เก็บเป็นเงินฝาก,สลากออมสิน หรือ ประกันออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ และไม่อาจสู้การเสื่อมค่าของเงินได้ในระยะยาว
โดยปัจจัยในการเลือกเครื่องมือเพื่อการลงทุนในแต่ล่ะกลุ่มวัยนั้น ขึ้นกับเป้าหมายชีวิต ความสามารถในการรับความเสี่ยง และ ความรู้ในเครื่องมือเพื่อการลงทุนต่างๆ ที่แตกต่างกันในแต่กลุ่มวัย โดยกลุ่ม First jobber และ Early working จะเน้นเก็บออมในบัญชีเงินฝาก และ สลากออมสิน เพื่อการเก็บเงินระยะสั้น ส่วนกลุ่ม Mid working จะเริ่มรับความเสี่ยงได้มากขึ้น และหาเครื่องมือการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น หุ้น และ กองทุนรวม
สำหรับกลุ่ม Late working จะเริ่มมองเรื่องการส่งต่อความมั่งคั่ง และการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำลงเพื่อลดโอกาสการสูญเสียเงินต้น เครื่องมือทางการเงินที่เลือกใช้จึงเป็นประกันชีวิต, พันธบัตร หรือ หุ้นกู้ เป็นต้น
  • ​จำนวนเงินออมที่ไม่พอเพียงต่อการเกษียณ
แม้ผลสำรวจจะพบว่ากลุ่มผู้ที่อายุงานมากขึ้น เริ่มมีการออมเงินที่สูงขึ้น แต่ปริมาณเงินออมนั้นกลับไม่พอเพียงต่อการเกษียณ
หากคำนวนคราวๆ ในกลุ่ม First jobber ที่เก็บเงินน้อยกว่า 1,000 แต่มีเวลาให้ดอกเบี้ยทบต้นทำงานมากกว่า อาจมีเงินเก็บเมื่ออายุ 60ปี ราวๆ 8แสน หรือกลุ่ม Mid work อาจมีเงินเก็บราวๆ 1ล้าน2แสน ส่วนกลุ่ม Late work ที่แม้จะเก็บเงินเยอะกว่า แต่เหลือเวลาเก็บไม่มาก ทำให้เก็บได้ราวๆ 1ล้าน1แสนเท่านั้น (คิดดอกเบี้ยทบต้นที่3%)
ซึ่งเงินเก็บจำนวนนี้ เมื่อเทียบกับเวลาที่เหลืออีกเกือบ 18ปี (อายุขัยเฉลี่ยคนไทย 78ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต) อาจเหลือใช้ได้เพียงเดือนล่ะ 5,000 บาทเท่านั้น ยังไม่ต้องคิดถึงค่าครองชีพที่แพงขึ้นจากเงินเฟ้ออีก ก็เห็นได้ชัดว่าการเก็บเงินของคนส่วนใหญ่นั้นไม่เพียงพอ
  • ​คำแนะนำเพื่อปรับแผนเกษียณให้ดีขึ้น
  • 1.
    ​เข้าใจเป้าหมายเกษียณอย่างชัดเจน เพื่อคาดการณ์วงเงินที่ต้องสำรองไว้ใช้จ่ายในอนาคตได้อย่างแม่นยำขึ้น
  • 2.
    ​ออมเงินเพิ่ม ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
  • 3.
    ​ศึกษาการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อเลือกเครื่องมือการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น
  • 4.
    ​วางแผนเตรียมพร้อมในมิติด้านอื่นๆด้วย ทั้งด้านสุขภาพ ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว และ การสั่งสมประสบการณ์ชีวิต
โฆษณา