14 ม.ค. เวลา 08:55 • สุขภาพ

เปิด 10 โรคต้องจับตาเฝ้าระวังต่อเนื่องอีกในปี 2568

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568  พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค และ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าว “ปีใหม่วิถีใหม่ สุขภาพไทย ปลอดภัย” โดยมี 8 โรคหลักที่เกิดสถานการณ์น่ากังวลในปี 2567 และจะต้องจับตา เฝ้าระวังและยกระดับในปี 2568 ดังนี้
1.โควิด 19 อัตราป่วยตายลดลง
ปี 2567 มีผู้ป่วยสะสม 769,200 ราย อัตราป่วย 1,162.43 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิตสะสม 222 ราย อัตราตาย 0.33 ต่อประชากรแสนคน อัตราป่วยตาย 0.03% กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปมีการป่วยและเสียชีวิตสูงสุด อัตราป่วยตายลดลงจากปี 2566 ซึ่งอยู่ 0.14% ส่วนปี 2568 ถึงวันที่ 12 มกราคม มีผู้ติดเชื้อกว่า 3,400 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต โดย 3 จังหวัดติดเชื้อสูงคือ ภูเก็ต ชลบุรี และสงขลา เป็นพื้นที่สีแดงที่มีการท่องเที่ยวมาก คาดว่าปีนี้อัตราการป่วยโควิดจะน้อยกว่าปี 2567
2.ไข้หวัดใหญ่ป่วยมากขึ้น
ปี 2567  ผู้ป่วยสะสม 668,027 ราย สูงกว่าปี 2566 ประมาณ 1.39 เท่า เสียชีวิต 51 ราย อายุต่ำสุด 2 เดือน สูงสุด 90 ปี พบมีโรคประจำตัวสูง 56.86% สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 45.10% ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กกลุ่มอายุ 5-9 ปี อายุ 0-4 ปี และ 10-14 ปี เมื่อป่วยจะนำเชื้อไปติดผู้สูงอายุที่บ้าน สายพันธุ์ยังเป็น A/H1N1 ตามด้วย A/H3N2 และ B Victoria จึงยังต้องฉีดวัคซีนป้องกัน ทั้งนี้ จากปี 2567 ที่พบป่วยมาก จึงคาดการณ์ปี 2568 จะมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งตั้งแต่ปีใหม่พบป่วยแล้ว 14,537 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
3.โรคปอดอักเสบจากไวรัส RSV-hMPV
 
โรคปอดอักเสบภาพรวมเกิดได้ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย บางส่วนก็จับเชื้อไม่ได้ ไม่สามารถระบุสาเหตุ โดยปี 2567 มีผู้ป่วยสะสมกว่า 4 แสนราย เสียชีวิต 876 ราย เด็กป่วยสูงสุด แต่เสียชีวิตยังเป็นกลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งปี 2565-2567 ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจมีมาก ทั้งไข้หวัดใหญ่ โควิด RSV และ hMPV
ไวรัส RSV ในปี 2567 มีผู้ป่วยสะสม 8,218 ราย ทำให้เด็กเล็กมีอาการหอบเหนื่อย ส่วนใหญ่ต้องนอนรักษาตัวใน รพ. พบมากในกลุ่มเด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี แต่เริ่มพบผู้ใหญ่ในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป ระบาดมากในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาวยังพบประปราย
ไวรัส hMPV ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ พบมากในช่วงฤดูฝนและหนาว อาการคล้ายระบบโรคระบบทางเดินหายใจทั่วไป ส่วนใหญ่จะพบในเด็กต่ำกว่า 5 ปี แต่ก็เจอในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน ส่วนที่มีข่าวพบในจีนเป็นการระบาดตามฤดูกาล ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ของจีนเช่นกัน
การติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจ มี 2 ช่องทางหลักๆ คือ 1.การสัมผัส ป้องกันด้วยการล้างมือบ่อยๆ 2.การไอ จาม ขอให้สวมหน้ากากอนามัย ยิ่งคนป่วยยิ่งต้องปฏิบัติตัวป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเคร่งครัด กลุ่มเสี่ยงเมื่อมีอาการขอให้ไปพบแพทย์
4.ไข้เลือดออก ป่วยตายสูงในผู้ใหญ่
ปี 2567 พบป่วย 105,250 ราย เสียชีวิต 114 ราย ปี 2568 หากยังคงมาตรการป้องกันได้ดี คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 76,000-77,000 ราย เสียชีวิตลดลงเหลือ 70-80 ราย แต่จะพบมากในฤดูฝน อัตราป่วยพบมากในเด็ก แต่เสียชีวิตยังพบมากในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวจะเป็นกลุ่มเสี่ยงหากป่วยจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ เมื่อป่วยต้องรีบไปพบแพทย์ รวมถึงกลุ่มโรคอ้วนก็เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อความรุนแรงได้ หากมีไข้สูงต้องไม่ทานยาลดไข้กลุ่ม NSAID เพราะก่ออันตรายได้ ให้ทานยาพาราเซตามอลแทน
5.อหิวาตกโรค ยังต้องเฝ้าระวัง
ปี  2567 พบผู้ป่วย 11 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยธันวาคม 2567 พบการระบาดของเชื้อในพื้นที่ จ.ตาก ช่วงเดียวกับที่มีการระบาดในเมียนมา  ปัจจุบันไทยมีแนวโน้มผู้ป่วยลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนปี 2568 พบผู้ป่วยแล้ว 2 ราย เป็นคนไทยเพศหญิงอายุ 51 ปี พื้นที่ กทม. และคนไทยเพศชายอายุ 90 ปี จ.ตาก ยังไม่มีผู้เสียชีวิต รวมถึงกรณีอาหารเป็นพิษที่เกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรียก็จะต้องระวังด้วย
การป้องกันโรค คือ ดูแลสุขอนามัยด้านอาหารและน้ำดื่ม เน้นสุกสะอาด ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง ยึดหลักกินสุก ร้อน สะอาด ใช้ช้อนกลาง ภาชนะส่วนบุคคล หากมีอาการผิดปกติ เช่น ถ่ายเหลวเป็นน้ำในปริมาณมาก คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์ ระหว่างนี้สามารถจิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
6.โรคไข้หูดับ "เหนือ-อีสาน" สุดเสี่ยง
โรคไข้หูดับ (ไข้หมูดิบ) เกิดจากการกินเนื้อหมู เครื่องใน เลือดหมูแบบดิบหรือสุกๆ ดิบๆ และผ่านการสัมผัสหมูหรือเนื้อหมูที่มีเชื้อแบคทีเรียก่อโรค โดยปี 2567 ไทยมีผู้ป่วย 956 ราย เสียชีวิต 59 ราย อัตราป่วยตาย 0.09 ต่อแสนประชากร ปี 2568 มีผู้เสียชีวิต 1 ราย อาการรุนแรง 1 รายใน จ.บุรีรัมย์ ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการกินเมนูก้อยหมูดิบและลาบเลือดหมูดิบ พื้นที่เสี่ยงสูงที่พบผู้ป่วย คือ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
7.โรคมือ เท้า ปาก ยังพบมาก
ปี 2567 มีผู้ป่วยสะสม 92,536 ราย อัตราป่วย 142.56 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 1 ราย อัตราป่วยตาย 0.001% แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (2562-2566) กลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ 1-4 ปี ต่ำกว่า 1 ปี และ 5-9 ปี ส่วนปี 2568 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 1,440 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
8.ฝุ่น PM 2.5 กลับมาเยือน
อาการเตือนแพ้ฝุ่น ได้แก่  ตาแสบเคือง คันบริเวณดวงตา ผิวหนังคัน มีผื่นขึ้น และทางเดินหายใจ มีน้ำมูก แสบคอ มีเสมหะ ทั้งนี้ หากค่าฝุ่น PM2.5 เป็นสีเหลือง ประชาชนทั่วไปควรเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากาก กลุ่มเสี่ยงลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากาก
สีส้ม ประชาชนทั่วไปลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยงลด/จำกัดทำกิจกรรมกลางแจ้งสวมหน้ากาก และสีแดง ประชาชนทั่วไป ลด/จำกัดกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากาก มีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย วิงเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบพบแพทย์ กลุ่มเสี่ยง งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากาก ควรอยู่ห้องปลอดฝุ่น หากมีอาการผิดปกติรีบพบแพทย์ ทันที
9.ไข้หวัดนก กลายพันธุ์มากขึ้น จับตาติดต่อจากคนสู่คน
ต้นปี 2568 มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนกเสียชีวิตที่สหรัฐอเมริกา 1 ราย และกัมพูชา 1 ราย มีสัญญาณที่ต้องระวัง โดยพบไข้หวัดนกในสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ไทยมีการยกระดับเฝ้าระวังทั้งในคนและสัตว์ เนื่องจากการติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วโลกในปี 2567 สูงขึ้น โดยผู้ป่วยที่สหรัฐอเมริกา 66 รายอาการไม่หนัก ส่วนหนึ่งเป็นเกษตรกรในฟาร์มโคนม ไม่ได้สัมผัสแต่สัตว์ปีก เมื่อไวรัสมีการกลายพันธุ์เข้ามาสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาจจะสามารถปรับเปลี่ยนสายพันธุ์และเข้ามาสู่คนได้
ทั้งนี้ ปกติไข้หวัดนกจะติดต่อมาสู่คนจากสัตว์ที่มีเชื้อ ไม่ได้ติดต่อระหว่างคนสู่คน ไม่เหมือนไข้หวัดใหญ่ แต่เมื่อเชื้อมีการกลายพันธุ์และเกิดการผสมพันธุ์ระหว่างไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่และไข้หวัดคนเกิดขึ้น อาจจะมีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อจากคนไปสู่คนได้ จึงเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกังวลเพราะเริ่มมีการกลายพันธุ์มากขึ้นแล้ว
10.ฝีดาษวานร พบป่วยลดลง 3 เท่า
ทั่วโลกคนไข้ลดน้อยลง ส่วนไทยปี 2567 พบ 176 ราย ลดลงจากปี 2566 ที่พบ 676 ราย หรือลดลง 3 เท่ากว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศชายวัยกลางคน การป้องกัน คือ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จักหรือผู้มีผื่นสงสัย เพื่อป้องกันโอกาสเสี่ยงสัมผัสผื่นหรือสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย  หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด สัมผัสผู้มีผื่นสงสัย ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น  ล้างมือทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรค
เฝ้าระวังสังเกตอาการเบื้องต้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือภูมิคุ้มกันต่ำและเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปีหากมีอาการสงสัยให้รีบพบแพทย์ทันที อย่าชะล่าใจ เนื่องจากมีโอกาสอาการรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้
โฆษณา