14 ม.ค. เวลา 10:23 • ข่าว

รางวัลการทูตสาธารณะ 2567 ขับเคลื่อนการทูตไทยผ่านภาคประชาชน

หากถามว่า "การทูต" คืออะไร หลายท่านอาจตอบว่าคือการดำเนินงานระหว่างรัฐต่อรัฐซึ่งประชาชนทั่วไปอาจไม่ได้มีส่วนร่วมมากนัก แต่อย่างไรก็ตามนิยามดังกล่าวเป็นเพียงนิยามหนึ่งของการทูตเท่านั้น เพราะความจริงแล้วการทูตในปัจจุบันมีนิยามที่กว้างขวางและครอบคลุมการดำเนินงานหลากหลายรูปแบบมากขึ้น
นอกจากนี้ การทูตยังรวมไปถึงการดำเนินงานที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนในต่างประเทศ เราสามารถเรียกการทูตที่ประชาชนมีบทบาทสำคัญว่า "การทูตสาธารณะ" (Public Diplomacy) หรือ "การทูตภาคประชาชน" (People’s Diplomacy)
ถ้วยรางวัล "ความปราถนาดี" (Goodwill) สื่อถึงประชาชนจาก 6 ทวีปกำลังโอบล้อมกันด้วยความปราถนาดี ถ้วยรางวัลนี้ออกแบบโดย นายธฤต จรุงวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิไทย และผลิตโดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ)
“การทูตสาธารณะ” คือการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในระดับประชาชน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจ ความยอมรับ และความนิยมชมชอบอย่างแพร่หลายต่อประเทศที่ดำเนินนโยบายการทูตสาธารณะในกลุ่มประชาชนของประเทศอื่นๆ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการมุ่งสร้างกลุ่มแฟนคลับในต่างประเทศให้กับประเทศต้นทางนั่นเอง จุดเด่นประการหนึ่งของการทูตสาธารณะคือ ใครๆ ก็สามารถริเริ่มและขับเคลื่อนการทูตดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือภาควิชาการ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการทูตสาธารณะได้ทั้งสิ้น
เมื่อเข้าใจความหมายของการทูตสาธารณะแล้ว เรามาทำความรู้จัก “รางวัลการทูตสาธารณะ” ของไทย หรือ “Thailand’s Public Diplomacy Award” กันดีกว่า รางวัลนี้ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2565 ตามวิสัยทัศน์ของนายธานี ทองภักดี อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศและอดีตประธานกรรมการมูลนิธิไทย ผู้เล็งเห็นถึงบทบาทสำคัญของภาคประชาชน
โดยประชาชนเป็นหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดมิตรภาพระหว่างไทยกับนานาประเทศ และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่น่าชื่นชมของไทยในสายตาชาวโลก ไม่ว่าจะเป็นในด้านมนุษยธรรม ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านกีฬา ด้านวิชาการ ด้านนวัตกรรม หรือด้านศาสนา
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดพิธีถวายและมอบรางวัลการทูตสาธารณะประจำปี 2567 (ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ)
กระทรวงการต่างประเทศและมูลนิธิไทยจึงร่วมกันจัดโครงการรางวัลการทูตสาธารณะขึ้นเพื่อ (1) เชิดชูเกียรติบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร ไม่ว่าจะสัญชาติไทยหรือต่างประเทศ ที่ได้สร้างชื่อเสียง เกียรติภูมิ และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทย คนไทย และความเป็นไทย จนเป็นที่ประจักษ์ในหมู่ชาวต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ (2) เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ได้รับรางวัลประกอบกิจกรรมตามเจตนารมณ์ของตนต่อไป และ (3) สื่อสารให้สาธารณชนรับรู้ว่าประชาชนทั่วไปก็สามารถมีส่วนร่วมในการผลักดันการทูตสาธารณะของไทยได้
โครงการนี้จะมอบรางวัล 1-3 รางวัลเป็นประจำทุกปี โดยผู้ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะจะได้รับการสลักชื่อลงบนถ้วยรางวัล “ความปราถนาดี” (Goodwill) และบนผนังเกียรติยศ (Wall of Fame) ซึ่งจะจัดแสดงเป็นการถาวร ณ กระทรวงการต่างประเทศ
ในปี 2565 นายแพทย์สุนทร อันตรเสน แพทย์เฉพาะทางแผนกหู คอ จมูก ได้รับเกียรติเป็นบุคคลแรกที่ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะ นายแพทย์สุนทรเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและนำพาโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกเดินทางไปรักษาผู้ป่วยโรคหูน้ำหนวกกว่า 70,000 ราย ในกว่า 10 ประเทศ ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี โดยไม่หวังผลตอบแทน ภารกิจของนายแพทย์สุนทรนับเป็นแบบอย่างที่ดีของการให้ความช่วยด้านมนุษยธรรม ซึ่งแสดงถึงความปราถนาดีของไทย ส่งผลให้ประเทศไทย บุคลากรไทย และสาธารณสุขไทยมีชื่อเสียงที่น่าชื่นชมในสายตาชาวโลก
ต่อมาในปี 2566 โมรียา “โปรโม” และเอรียา “โปรเม” จุฑานุกาล คู่พี่น้องนักกอล์ฟสตรีชาวไทยเป็นผู้ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะร่วมกันเป็นรายที่สอง เนื่องจากทั้งคู่ประสบความสำเร็จในวงการกีฬากอล์ฟสตรีระดับโลกมาอย่างต่อเนื่องกว่าหนึ่งทศวรรษ และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักกอลฟ์เยาวชนไทยจำนวนมาก สองพี่น้องจุฑานุกาลถือเป็นตัวอย่างของคนไทยที่ได้รับความยอมรับในระดับนานาประเทศ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทย
พระพรหมพัชรญาณมุนี (ฌอน ชยสาโร) ผู้ได้รับถวายรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี 2567 (ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ)
ในปี 2567 คณะกรรมการมูลนิธิไทยมีมติเห็นชอบให้มอบรางวัลการทูตสาธารณะมากกว่า 1 รางวัลเป็นครั้งแรก โดยในปีนี้ได้ถวายรางวัลแด่ (1) พระพรหมพัชรญาณมุนี หรือพระอาจารย์ชยสาโร พระเถระผู้เผยแผ่พุทธศาสนาเถรวาทไทยออกสู่ต่างประเทศอย่างแพร่หลายและต่อเนื่องในกว่า 18 ประเทศทั่วโลก ท่านยังทำให้ชาวต่างชาติเกิดความสนใจในพุทธธรรม และเดินทางมาศึกษาหลักคำสอนในประเทศไทย ผ่านงานเขียนและการเผยแผ่ผ่านสื่อดิจิทัลหลายช่องทาง ภารกิจของท่านช่วยส่งเสริมให้นานาชาติเห็นถึงวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของความเป็นไทยผ่านพุทธศาสนา
ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา (ขวา) ประธานมูลนิธิไทยมอบรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี 2567 ให้แก่คุณพิไลพรรณ สมบัติศิริ (ซ้าย) ในฐานะตัวแทนของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ (ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ)
(2) สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์องค์กรอนุรักษ์และแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการหลากหลายสาขาของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน สยามสมาคมฯ มีบทบาทอันยาวนานในการรักษาและเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมไทยผ่านการเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระดับประชาชนจากหลากหลายวัฒนธรรม ระดับสถาบันสู่สถาบัน และเป็นแหล่งรวบรวมนักวิชาการด้านไทยศึกษาที่สำคัญหลายท่าน เช่น พระยาอนุมานราชธน พิริยะ ไกรฤกษ์ และ Chris Baker ถือว่าสยามสมาคมฯ ได้ยกระดับบทบาทของไทยในแวดวงวิชาการระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องกว่า 120 ปี
ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา (ขวา) ประธานมูลนิธิไทยมอบรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี 2567 ให้แก่คุณสมเถา สุจริตกุล (ซ้าย) (ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ)
และ (3) สมเถา สุจริตกุล ศิลปินชาวไทยผู้เป็นทั้งวาทยากร นักประพันธ์เพลง และนักเขียนที่ได้สร้างสรรค์ผลงานออกสู่แวดวงศิลปะในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องกว่า 50 ปี ผลงานของนายสมเถา ซึ่งประกอบไปด้วยบทประพันธ์ดนตรี ละครโอเปร่า บทภาพยนตร์ นวนิยายภาษาอังกฤษกว่า 100 เล่ม และการนำพาวงเยาวชน Siam Sinfonietta ไปแสดงดนตรีในต่างประเทศหลายครั้ง ได้ช่วยเผยแพร่อัตลักษณ์ของไทยและทำให้นานาประเทศรับรู้ถึงความสามารถของศิลปินไทย อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินไทยรุ่นถัดไปในการสร้างสรรค์ผลงานออกสู่สากล
ผู้ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะตั้งแต่ปี 2565 ถึงปี 2567 เรียงจากซ้ายไปขวา "โปรโม" โมรียา จุฑานุกาล นายแพทย์สุนทร อันตรเสน คุณพิไลพรรณ สมบัติศิริ พระพรหมพัชรญาณมุนี คุณสมเถา สุจริตกุล และ "โปรเม" เอรียา จุฑานุกาล (ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ)
หลังจากที่รางวัลการทูตสาธารณะได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลา 3 ปี เรามีผู้ได้รับรางวัลจนถึงปัจจุบัน 5 รายจากหลายแวดวง ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ นักกีฬา พระเถระ องค์กรทางวิชาการ และศิลปิน แม้ว่าผลงานทั้งหมดจะมีลักษณะที่ต่างกัน แต่ผลงานของพวกเขาล้วนเป็นตัวอย่างสำคัญของการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ
การส่งต่อความปราถนาดีของไทยสู่นานาชาติ และการเป็นแรงบันดาลใจให้กับสาธารณชนว่าบุคคลทั่วไปก็สามารถมีส่วนร่วมในการทูตสาธารณะของไทยได้ในรูปแบบของตนเอง
ดังนั้น รางวัลการทูตสาธารณะจึงมุ่งเชิดชูเกียรติและความสำเร็จของบุคคลเหล่านี้ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย และส่งเสริมให้เขาเหล่านั้นดำเนินกิจกรรมที่ได้ทำมาต่อไป
ผู้ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะทั้งสามท่าน (กลาง) พร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และคณะกรรมการมูลนิธิไทย (ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ)
พออ่านมาถึงจุดนี้ คุณผู้อ่านคงจะเริ่มเข้าใจที่มาและวัตถุประสงค์ของรางวัลการทูตสาธารณะมากขึ้นแล้ว พร้อมทั้งเห็นถึงบทบาทอันสำคัญของภาคประชาชนในฐานะผู้ขับเคลื่อนการทูตสาธารณะของประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือและมิตรภาพระหว่างไทยกับนานาประเทศ
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับรางวัลการทูตสาธารณะ เช่น การเปิดรับเสนอชื่อและการประกาศผลผู้ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะ รวมไปถึงตัวอย่างแนวทางในการผลักดันการทูตสาธารณะของไทยได้ที่ https://www.thailandfoundation.or.th/
โฆษณา