19 ม.ค. เวลา 00:30 • ประวัติศาสตร์

19 มกราคม 2545 รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์ อาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2545 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากพระราชทานชื่อ 'สุวรรณภูมิ' ซึ่งหมายถึง 'แผ่นดินทอง' เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 เพื่อใช้แทนชื่อเดิมว่า 'หนองงูเห่า'
อาคารผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิเป็นอาคารเดี่ยวที่มีความกว้างใหญ่ ไม่มีเสากลางอาคาร มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 563,000 ตารางเมตร และประกอบด้วย 9 ชั้น รวมทั้งชั้นใต้ดิน 2 ชั้น โดยมีสถานีรถไฟฟ้า สถานีรถโดยสาร ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้าและขาออก รวมถึงสำนักงานของสายการบินต่างๆ
สนามบินสุวรรณภูมิเริ่มเปิดให้บริการทดลองใช้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2549 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กันยายน 2549 โดยมีงบประมาณในการก่อสร้างทั้งโครงการประมาณ 155,000 ล้านบาท
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 เพื่อใช้แทนชื่อเดิม 'หนองงูเห่า' ท่าอากาศยานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ถนนเทพรัตนและทางพิเศษบูรพาวิถี ในเขตตำบลหนองปรือและตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 25 กิโลเมตร
อาคารผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิออกแบบโดยสถาปนิกชาวอเมริกัน-เยอรมัน 'เฮลมุต ยาห์น' โดยใช้เหล็กและแก้วเป็นโครงสร้างหลัก ซึ่งยาห์นกล่าวว่าเป็น "สถาปัตยกรรมแห่งศตวรรษที่ 21" ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 28 กันยายน 2549 และเป็นสนามบินหลักของประเทศไทยแทนท่าอากาศยานดอนเมือง โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการบินในทวีปเอเชีย
นอกจากนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังมีหอควบคุมที่สูงที่สุดในโลก (132.2 เมตร) และอาคารผู้โดยสารเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก (563,000 ตารางเมตร) โดยสามารถรองรับเที่ยวบินได้ถึง 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และมีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารถึง 45 ล้านคนต่อปี พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศที่สามารถรองรับสินค้าได้มากกว่า 3 ล้านตันต่อปี
โฆษณา