15 ม.ค. เวลา 01:13 • ธุรกิจ

อยากให้ทีมได้ Challenge แต่ก็กลัวทีมจะ Burnout ลอง 5 เทคนิคพาทีมออกจาก Comfort zone แบบไม่อ่อม

หนึ่งในการสร้างความท้าทายให้กับทีม ไม่ควรเริ่มต้นแบบ ‘do-or-die’
บทบาทสำคัญของคนเป็นหัวหน้าทีม คือต้องคอยช่วยพัฒนาศักยภาพทีมให้พวกเขาเก่งขึ้น แต่เรื่องยากนึงที่คนเป็นหัวหน้ามักจะเจอคือพอให้โจทย์ใหม่ ๆ ไป บางทีกลับทำทีมหมดไฟ หมดใจ ไม่ไหวจะไปต่อ เลยทำให้เราก็อาจจะกล้า ๆ กลัว ๆ ว่าควรจะ Challenge ทีมอย่างไรดีถึงจะโอเค
จากบทความ How To Challenge Your Team Without Burning People Out ของเว็บไซต์ Forbes ได้พูดถึง ‘Healthy challenges’ หรือความท้าทายที่ดีต่อสุขภาพคนทำงาน ต้องเป็นความท้าทายที่มีพื้นที่ให้ทีมได้ล้มลุกคลุกคลาน มีการซัพพอร์ตที่ดี
ลองนึกภาพว่าถ้าต้องไปออกวิ่งในระยะที่มากกว่าเดิม แต่ถ้าไม่มีการเตรียมร่างกายให้พร้อม ก็อาจจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ยาก
ผู้เขียนหนังสือ The Human Team: So You Created a Team but People Showed Up เคยพูดถึง ‘The Six Facets of Human Needs’ ที่พูดถึงกรอบความต้องการของมนุษย์ ที่ได้พยายามอธิบายว่าความท้าทายที่ดีที่จะทำให้พนักงานไม่หมดไฟต้องมีความชัดเจน ว่าใครต้องทำอะไร โจทย์ที่ได้มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายใหญ่ของทีม ของบริษัท และเห็นได้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้า และทีมคนอื่นอย่างไรบ้าง
สำหรับหัวหน้าที่อยากลองส่งมอบความท้าทาย ดึงทีมออกจาก Comfort Zone ลองดู 5 เทคนิคนี้ดู ที่น่าจะพอช่วยให้เราได้สร้างศักยภาพใหม่ ๆ ให้กับทีมได้
🔥 1. ให้โจทย์แบบร่วมมือกัน ไม่ใช่ออกคำสั่ง
เวลาโยนโจทย์ให้ทีมทำอย่าใช้วิธีการสั่งให้ทำ แล้วก็ปล่อยเบลอ แต่ต้องการเป็นการชวนทำ มาร่วมมือกันลองทำบางอย่าง ให้พื้นที่ทีมได้ลองเสนอถึงข้อจำกัด ความเป็นไปได้ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในมุมของพวกเขา เพื่อทำให้ทีมรู้สึกถึง ‘การเป็นส่วนหนึ่ง’ และไม่รู้สึกหักดิบเขาจาก Comfort Zone มากเกินไป
🔥 2. ให้วิ่ง ให้ซิ่ง ก็อย่าลืมให้ทีมพัก
การให้โจทย์ท้าทายอย่างต่อเนื่องอาจพาทีมไปสู่ความเหนื่อยล้า และยิ่งต้องเผชิญกับความล้มเหลว ความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาจทำให้ใจทีมบอบช้ำพอสมควร ดังนั้นการต้องทำในสิ่งเดิมซ้ำ ๆ ถี่เกิน ก็อาจทำให้คนทำงานเบื่อ หรือหมดไฟได้ ดังนั้นจะหยอดเชื้อเพลิงก็ต้องสังเกตให้ดีว่าตอนนี้สภาวะทีมอยู่ในระดับไหน ประเมินก่อนว่าความท้าทายที่จะให้ทีมจำเป็นแค่ไหนที่ต้องให้ในเวลานั้น ๆ
🔥 3. ความท้าทายต้องช่วยพัฒนา ไม่ใช่ทำลาย
อย่างที่บอกไปตั้งแต่แรก ๆ ว่าการให้โจทย์ที่ท้าทายกับทีม เป็นการค่อย ๆ ปลดทีมออกจากพื้นที่ปลอดภัยเดิม ๆ ไม่ใช่เป็นการไปพังพื้นที่เดิมของเขาทิ้ง ลองนึกภาพการเติมลมลูกโป่ง หากเติมลมให้ขยายเร็วเกิน ลูกโป่งก็จะแตกออก แต่ถ้าเราค่อย ๆ เติมลมลูกโป่งก็จะค่อย ๆ ขยายได้ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ทีมคุณไม่อึดอัดเวลาได้รับความท้าทายใหม่ ๆ
ในฐานะหัวหน้า การมอบความท้าทายให้ทีมที่ดีต้องเป็นการส่งเสริมการเติบโตของพวกเขาแบบที่ไม่ใช่งานเดียวแล้วจบ แต่เป็นการพัฒนาผ่านกระบวนการคิด การทำงานต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ ต้องใช้เวลา และความสม่ำเสมอ รวมถึงความอดทนจนกว่าจะเห็นผลลัพธ์
🔥 4. ภาพต้องชัดเจน
ความชัดเจนในโจทย์เป็นสิ่งสำคัญมากเมื่อเราต้องแจกงานให้ใครสักคน เป้าหมายที่คลุมเครือ คำแนะนำที่ฟังแล้วเบลอ ๆ นึกภาพไม่ออก อาจนำไปสู่งานที่ไม่ตอบโจทย์ และอาจนำไปสู่การผัดวันประกันพรุ่ง ดังนั้นควรสื่อสารสิ่งที่หัวหน้าคาดหวังไว้ให้ชัดเจนเสมอ ที่สำคัญต้องมีการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ แบบที่ไม่ได้ Micro Management จนเกินไป
🔥 5. ควรโฟกัสที่ ‘กระบวนการ’ ไม่ใช่ ‘ชัยชนะ’
แน่นอนชัยชนะก็สำคัญแหละ แต่ท้ายที่สุดกระบวนการระหว่างทางก็เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะผลักดันพัฒนาการของทีม แม้สุดท้ายงานนั้นอาจจะล้มเหลว ผลลัพธ์อาจจะไม่ได้เปรี้ยงปังอย่างที่คิด แต่สุดท้ายหากทีมได้เติบโต ได้เรียนรู้บางอย่างจากสิ่งที่ทำ นั่นแหละคือสิ่งสำคัญที่สุดที่หัวหน้าจะต้องโฟกัส และช่วยให้ทีมรู้สึกถึงการเติบโตจากการทำงานกับเราด้วย
จากบทสนทนาหนึ่งของ Marie Forleo และ Simon Sinek ได้พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า “เมื่อคุณอยู่ในตำแหน่งผู้นำทีม สิ่งที่คุณต้องรับผิดชอบอาจไม่ใช่ผลลัพธ์ของคุณต่อบริษัท แต่คุณจะต้องรับผิดชอบผู้คนที่ส่งผลต่อผลลัพธ์เหล่านั้นต่างหาก”
1
หัวหน้าจะไม่ทำงานเองทุกอย่าง วิธีการทำงานของแต่ละคนต่างกัน เราไม่ได้มีหน้าเอาวิธีการของเราไปวางให้คนทำตาม ๆ ในทุกงาน แต่เรามีหน้าที่ในการช่วยเหลือ พัฒนาให้คนในทีมเติบโตไปพร้อมกับองค์กร ค่อย ๆ พาทีมออกจาก Comfort Zone ผ่านความท้าทายใหม่ ๆ
1
โฆษณา