15 ม.ค. เวลา 05:32 • ความคิดเห็น

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด…

ในช่วงต้นศตวรรษ 18 มีบริษัทหนึ่งที่ถูกก่อตั้งเพื่อรับภาระหนี้ของรัฐบาลอังกฤษโดยแลกกับสัมปทานการทำธุรกิจในแถบอเมริกาใต้ บริษัทนี้มีชื่อว่า south sea company
ในปี 1819 บริษัทนี้ระดมทุนจากประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกๆของโลก กฎ ระเบียบ ความเข้าใจของสาธารณชนเรื่องการระดมทุนแบบนี้ยังเป็นเรื่องใหม่มากและยังไม่ชัดเจนนัก แต่เรื่องราวของบริษัทที่ได้สัมปทานหากินกับพื้นที่กว้างใหญ่เป็นเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น ทำให้ราคาหุ้นของ south sea ขึ้นไปอย่างรวดเร็ว แม้กระทั่ง king george กษัตริย์แห่งอังกฤษยังทรงลงทุนด้วยแสนปอนด์
2
ผู้คนทุกชนชั้นไม่ว่าคนรวยหรือ แม่บ้าน คนสวน เอาเงินมาลงแล้วกำไรกันจนบอกต่อกันไปอีก กลายเป็น bubble ครั้งใหญ่ลูกแรกๆ ของโลก มีเรื่องราวกระทั่งว่าเศรษฐีนีคนหนึ่งไปดูละคร มองขึ้นไปเห็นแม่บ้านตัวเองนั่งอยู่ใน box seat ราคาแพงเพราะร่ำรวยจากหุ้น south sea เป็นที่เลื่องลือและยิ่งทำให้หุ้นร้อนแรงเข้าไปอีก
1
ผู้บริหารบริษัท south sea จ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่องในจำนวนที่สูง เพื่อให้ได้คนลงทุนมาเพิ่มอีก ความกดดันที่จะระดมทุนเพิ่มทำให้ถึงกับเอาเงินลงทุนใหม่มาจ่ายเงินปันผลแทนที่จะรอกำไรจากการดำเนินงานจริงๆ สมัยนี้ก็คือเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือ ponzi scheme นั่นเอง แต่ในตอนนั้นก็เป็นการเก็งกำไรและการปั่นหุ้นครั้งมโหฬารเหมือนขี่หลังเสือ ปีหนึ่งผ่านไป ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่คิดในขณะที่ราคาหุ้นพุ่งสูงเกินไปมาก และก็ถึงวันที่ทุกอย่างพังลง หุ้นตกจนแทบไม่เหลือมูลค่า ผู้คนสิ้นเนื้อประดาตัว
4
south sea bubble ระเบิดจนไม่เหลืออะไรในที่สุด
ในตอนนั้นมีผู้คนที่มีชื่อเสียงในอังกฤษจำนวนมากลงทุนใน south sea และก็เจ๊งหมดตัวไปไม่น้อย แต่คนที่ดังที่สุดและไม่น่าเชื่อที่สุดที่ตัดสินใจเอาเงินแทบทั้งหมดที่มีมาลงทุนและหมดตัวในวัย 70 กว่าปี จากเดิมเขาลงทุนไป 7,000 ปอนด์ ได้กำไรเป็น 20,000 ปอนด์ และก่อน south sea จะพังลงหนึ่งเดือน ทางบริษัท south sea ออกแคมเปญที่ดึงดูดมากๆด้วยการสัญญาที่จะจ่ายผลตอบแทนที่สูง ทำให้เขาเอาเงินเก็บทั้งหมดไปลง
และหนึ่งเดือนต่อมา เงินที่เขาลงทั้งหมดก็แทบมีค่าเป็นศูนย์ จำนวนเงินในตอนนั้นถ้าเทียบกับตอนนี้ก็คือประมาณ 3 ล้านดอลล่าร์ และผู้ที่มีชื่อเสียงและฉลาดที่สุดคนหนึ่งในโลก เป็นผู้หยั่งรู้ความลับจักรวาล แต่มาพลาดท่าเสียทีกับ south sea bubble
4
ก็คือ… เซอร์ ไอแซค นิวตัน นั่นเอง
5
ทำไมคนที่ฉลาดที่สุดในโลก รู้ความลับของกลไกจักรวาล เข้าใจเรื่องลึกลับซับซ้อนระดับแรงโน้มถ่วงที่ตามองไม่เห็น และเป็นผู้ที่เรียกได้ว่าหยั่งรู้ฟ้าดินแต่กลับพ่ายแพ้กับคำสัญญาลอยๆ โดยไม่ทันสังเกตหรือเข้าใจเหตุและผลของความเสี่ยงทางการเงินพื้นฐานได้?
1
ผมเองก็เคยเจอเหตุการณ์คล้ายกันตอนสมัยเริ่มทำงานใหม่ๆ ตอนนั้นผมเป็นพนักงานตัวเล็กๆ ในบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งในจังหวะของ thailand bubble คือประมาณปี 1994 ในยุคของน้าชาติที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นเสือตัวที่ห้า ราคาหุ้นขึ้นกันทุกวัน ราคาที่ดินก็ขึ้นแบบวันเวย์ ไปแตะไปซื้ออะไรก็ได้ตังค์แบบกำไรเป็นเท่าๆเอาง่ายๆ ยิ่งผมอยู่ในศูนย์กลางของข่าวสารข้อมูล ข่าวลือ ข่าวอินไซด์แล้ว ยิ่งทำให้ตัวเองรู้สึกมั่นใจ เหมือนกับคนอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ ตัว ใส่เงินเท่าไหร่ เงินยิ่งงอกมากเท่านั้น
ในตอนนั้นใส่เงินตัวเองแล้วยังรวยไม่เร็วทันใจ ผมก็ไประดมทุนจากน้องสาวและอาม่าเข้ามาเพิ่มอีก กำไรมาหลายเท่าก็ไม่เลิก มีเท่าไหร่ใส่หมด แม้กระทั่งอาม่าผู้เห็นโลกมามากก็เตือนว่ากำไรเยอะแล้วพอได้แล้ว ก็ไม่เชื่อ คำเตือนของบทวิเคราะห์ต่างๆ ว่าค่าเงินบาทนั้นกำลังถูกโจมตีก็ไม่ฟัง แม้กระทั่งช่วงท้ายๆก็ยังมีเท่าไหร่ใส่หมดอยู่ดี เพราะยิ่งช่วงท้ายๆ ดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินให้ก็ยิ่งสูง ข่าวลือ ข่าวปั่นก็ยิ่งมาก เพราะเป็นช่วงที่หลายบริษัทเตรียมหนีตาย
2
นักลงทุนแมงเม่าอย่างผมก็เลยจบแบบหมดตัวไปพร้อมกับ thailand bubble กว่าจะกู้ความเสียหายคืนได้ก็หลายปี
1
ผมไม่ได้ฉลาดอะไรใกล้เคียงกับเซอร์ไอแซค นิวตัน แม้แต่ปลายฝุ่น แต่เรื่องความโลภของตัวเองที่นำพามาซึ่งหายนะก็พอจะทำให้เข้าใจท่านเซอร์และกลไกความคิดของมนุษย์ได้ไม่น้อย
2
คุณ robert greene ผู้ที่เล่าเรื่องนี้ในงาน google talk ก็วิเคราะห์และเตือนสติทุกคนที่ฟังไว้ว่า มนุษย์มีระบบร่างกาย มีกลไกที่ตอบสนองทางอารมณ์ด้วยสารเคมี ฮอร์โมนต่างๆ ที่ถูกพัฒนามาหลายล้านปี ระบบการตอบสนองของสมองก็แยกส่วนกันชัดเจนระหว่างเรื่องอารมณ์และเหตุผล และเมื่อไหร่ที่ขัดแย้งกัน อารมณ์มักจะชนะเสมอ
1
เรื่องของเซอร์ไอแซค ก็เป็นบทเรียนให้กับเราได้ในหลายๆเรื่องว่านักปราชญ์ก็ยังรู้พลั้งได้ นอกจากเรื่องความโลภที่ไม่เข้าใครออกใครที่ทำให้บทบังเหตุผลและความฉลาดในหัวตัวเองแล้ว ก็ยังเป็นการเตือนสติของกูรู ผู้รู้ที่เก่งมากๆในด้านวิชาชีพของตัวเอง เช่น หมอ ทนาย ทหาร ฯลฯ ได้อย่างดีว่า ความรู้ความสามารถที่มีนั้นจะต้องควบคู่ไปกับการยอมรับถึงความไม่เข้าใจถึงจิตใจมนุษย์หรือพฤติกรรมมนุษย์ ดั่งที่มีคนกล่าวไว้ว่า จิตมนุษย์นั้นยากแท้หยั่งถึงได้
3
เพราะพฤติกรรมมนุษย์ที่ตอบสนองต่อเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงทุนหรือประกาศลอคดาวน์หรือปฏิกริยาของผู้คนในบริษัทต่อนโยบายต่างๆนั้น ไม่สามารถอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้เหมือนกับศาสตร์ต่างๆที่เราเข้าใจได้กระจ่างมาชั่วชีวิต การควบคุมตัวเอง เตือนตัวเองว่าตัวเองไม่รู้ โดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมของคนนั้น น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีที่สุดในการรับฟังความให้รอบด้าน ระงับอารมณ์ตัวเอง ลดอีโก้ให้มากที่สุด ก่อนตัดสินใจอะไรหลายๆเรื่องที่สำคัญๆในช่วงนี้นะครับ
2
เซอร์ ไอแซค นิวตัน ไม่ยอมพูดถึงเรื่องนี้อีกเลยในบั้นปลายชีวิต เขาแค่สรุปบทเรียนสั้นๆ ไว้หนึ่งประโยคเท่านั้นว่าเขา “could calculate the motions of the heavenly stars, but not the madness of people”. และเขาคงต้องชอบกลอนของสุนทรภู่มากๆแน่ถ้าอ่านภาษาไทยออก
11
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนี่งในน้ำใจคน….
2
โฆษณา