15 ม.ค. เวลา 07:09 • ธุรกิจ

แนวโน้มและความท้าทายของธุรกิจเม็ดพลาสติกไทยในปี 2568-2569

แรงกดดันด้าน ESG จากประเทศส่งออกเข้มข้นขึ้น
ธุรกิจเม็ดพลาสติกไทยเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันในตลาดโลก เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว และมาตรการสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวสู่ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเทคโนโลยีสีเขียวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
Krungthai COMPASS ประเมินแนวโน้มธุรกิจเม็ดพลาสติกไทยในปี 2568-2569 ว่า ปริมาณการจำหน่ายเม็ดพลาสติกในประเทศและส่งออกของไทย จะอยู่ที่ 10-11 ล้านตันต่อปี ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในปี 2560-2562 เฉลี่ยที่ 12.3 ล้านตันต่อปี
แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายเม็ดพลาสติกในประเทศของไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการขยายตัวของการค้าออนไลน์ และการจัดส่งอาหาร จะทำให้ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกสำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งมีสัดส่วนการใช้เม็ดพลาสติกมากถึง 38% ของปริมาณเม็ดพลาสติกทั้งหมด อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะช่วยหนุนการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ
ปี 2568-2569 ยอดการส่งออกลด จีนคู่แข่งสำคัญ
อย่างไรก็ดี ในปี 2568-2569 ปริมาณการส่งออกเม็ดพลาสติกของไทย มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า และการแข่งขันกับเม็ดพลาสติกจากคู่แข่งที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจีน ซึ่งมีความได้เปรียบจากการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) เนื่องจากจีนสามารถผลิตเม็ดพลาสติกในปริมาณมาก ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้ราคาเม็ดพลาสติกจีนต่ำกว่าไทย ซึ่งอาจกดดันต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก
ทั้งนี้ ปริมาณการจำหน่ายเม็ดพลาสติกในประเทศและส่งออกของไทย มีแนวโน้มอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วง Pre-COVID กดดันต่ออัตราการใช้กำลังการผลิตของธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกของไทย โดยคาดว่าในปี 2568-2569 อัตราการใช้กำลังการผลิตเม็ดพลาสติกของไทยจะอยู่ที่ 82.1% และ 82.5% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ตามลำดับ ซึ่งลดลงถึง 15% จากระดับ 96.6% ในปี 60
ราคาเม็ดพลาสติกมีแนวโน้มลดลง
นอกจากปัจจัยกดดันด้านปริมาณแล้ว ยังมีปัจจัยกดดันด้านราคาเม็ดพลาสติกที่มีแนวโน้มลดลง ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อาจกดดันต่อรายได้ของธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกไทย โดยคาดว่าในปี 2568-2569 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 70.5 และ 69.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือลดลง 11.4% และลดลง 1.3% ตามลำดับ
โดยจะทำให้ราคา "แนฟทา" ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเม็ดพลาสติกมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับความต้องการเม็ดพลาสติกที่อ่อนแอตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางการขยายกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาเม็ดพลาสติกเฉลี่ยในกลุ่ม PE, PP และ PET ของตลาดอาเซียนมีแนวโน้มลดลงมาอยู่ที่ราว 956 และ 988 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ตามลำดับ
ติดตามอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์
โฆษณา