Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
CREATIVE TALK
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
15 ม.ค. เวลา 08:06 • การตลาด
ยุคนี้ ‘เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้!’
ถอดรหัสพฤติกรรม ‘กินตาม-ซื้อตาม’ ผ่านการตลาดแบบ เออ-ออ (ER-OR Marketing) โดย CMMU
✨ มีข้อมูลที่น่าสนใจจากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลวิจัย "ER-OR MARKETING: การตลาดแบบเออ-ออ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุหลัก ๆ จากอิทธิพลของสื่อโซเชียลมีเดียที่ทำให้การเผยแพร่และแชร์ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็วและเรียลไทม์ส่งผลให้เกิด Customer Journey ที่สั้นและเร็วกว่าเดิม
โดยผู้บริโภคมักตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการเพียงเพราะเห็นคนรอบข้าง ผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Influencers) หรือคนส่วนใหญ่นิยมใช้สินค้าและบริการเหล่านั้น เพราะเชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะเลือกสิ่งที่ถูกต้องและหากไม่ซื้อตามอาจพลาดสิ่งดี ๆ ไป จนทำเกิดกระแส "คล้อยตาม" หรือ “ซื้อตามกัน” อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการค้นหาหรือศึกษาข้อมูลนาน ๆ เหมือนแต่ก่อน
ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ได้เปลี่ยนโฉมหน้าการตลาดในประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิง และทำให้เกิดเทรนด์การตลาดใหม่ที่เรียกว่า “การตลาดแบบเออ-ออ หรือ ER-OR MARKETING” หรือ พฤติกรรมตามกระแสของคนไทยในปัจจุบัน" โดยข้อมูลวันนี้นอกเหนือจากงานวิจัยจาก CMMU แล้วยังมีอีก 3 ท่านที่จะมาเจาะ Insight สำคัญ ได้แก่ คุณมาวิน ทวีผล (เพจ มาวินฟินเฟ่อร์), คุณอิก - บรรพต ธนาเพิ่มสุข (เพจ ถามอีก กับอิก Tam-Eig) และ คุณภาพเพรง เลี้ยงสุข (Techsauce)
✨ เจาะลึกงานวิจัย ER-OR MARKETING: การตลาดแบบเออ-ออ หรือ พฤติกรรมตามกระแสของคนไทยในปัจจุบัน
พฤติกรรม เออ-ออ! คือพฤติกรรมการ “คล้อยตาม” หรือ “ทำตามกัน” ของคนในสังคม โดยอิงกับความเชื่อที่คนส่วนใหญ่น่าจะเลือกสิ่งที่ถูกต้อง โดยแรงจูงใจถูกวัดออกมาได้ 3 ด้าน
🥇 อันดับ 1: Social Influence หรืออิทธิพลทางสังคมที่ส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก หรือพฤติกรรมของบุคคล
🥈 อันดับ 2: Brand Wagon Motivation พฤติกรรมการซื้อที่กำลังได้รับความนิยมเพราะอยากถูกยอมรับ
🥉 อันดับ 3: FOMO ความกังวลที่กลัวว่าตัวเองจะพลาดอะไรไป หรือถูกตัดขาดจากสังคม
อีกด้านของการวิจัยครั้งนี้คืออินไซต์ 3 ธุรกิจสำคัญที่มักมี เออ-ออ ตามกันมากที่สุด ทั้งยังเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายของคนไทยในชีวิตประจำวัน
🎯 ธุรกิจที่ 1: อาหาร
- จากการสำรวจพบว่า ‘หมวดอาหาร-เครื่องดื่ม’ มีอัตราการเออ-ออ มากที่สุดถึง 60%
- โดยเพศหญิง GEN Z มีอัตราการเออ-ออ กินตามกระแสมากที่สุด
- ประเภทอาหารที่เลือกกินตามกันมักเป็น บุฟเฟต์, คาเฟ่ และร้านอาหารนานาชาติ
- กินอะไรดีถ้าคิดไม่ออก ตัวเลข 36.4% ระบุว่า อิทธิพลที่มีผลให้คนกลุ่มนี้ เออ-ออ ตามกันคือเพื่อน เพราะเพื่อนว่าดี เราก็ว่าดี และตามรีวิวในแพลตฟอร์ม TikTok เป็นอันดับ 1
🎯 ธุรกิจที่ 2: เทคโนโลยี
- กลุ่มตัวอย่างมองว่า ‘เทคโนโลยีมาไวไปไว และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การได้ใช้ก่อนใครคือกำไรชีวิต’
- โดยเพศชายเกินครึ่ง GEN Y เออ-ออ ตามกระแสเทคโนโลยีมากที่สุด
- โทรศัพท์, แท็บเล็ต & เครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้คนเออ-ออ กันมากที่สุด เพราะตอบโจทย์การใช้งาน สร้างภาพลักษณ์ได้ดี
- คนไทยส่วนใหญ่ 45.6% หาที่พึ่งพาจากผู้เชี่ยวชาญ คนส่วนใหญ่มัก เออ-ออ ตามผู้เชี่ยวชาญใน YouTube เพราะเชื่อว่าข้อมูลครบถ้วนและน่าเชื่อถือ
- กลับกัน Gen Babyboomer เชื่อตัวเองเป็นหลัก (ซึ่งมาจากประสบการณ์ที่เขามี) โดยมีข้อมูลเสริมบ้างจากพนักงานขาย
🎯 ธุรกิจที่ 3: การลงทุน
- คนแต่ละ Gen ลงความเห็นว่า ‘ทองคำ’ น่า เออ-ออ ลงทุนตามกระแสมากที่สุด
- โดยรวมแล้ว GenZ เป็นวัยที่มองหาการลงทุนที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ทันสมัย คล่องตัว เน้นการเติบโตในระยะยาว
- นักลงทุนส่วนใหญ่หาไอเดีย และ เออ-ออ ตามผู้เชี่ยวชาญจาก YouTube & Facebook แต่ก็ไม่ลืมที่จะเชื่อในตัวเอง
- ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนตามกระแสคือ สภาวะเศรษฐกิจ, สภาวะตลาด, มูลค่าของสิ่งที่สนใจลงทุนนั้น ๆ และ ความคาดหวังผลตอบแทน ด้วยการที่หลายคน กลัวจะพลาดโอกาส จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า Fomo เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคม รู้สึกว่าตัวเองจะไม่ตกรถ และมีความหวังว่าอาจจะประสบความสำเร็จ จึงทำให้เป็นตัวแปรสำคัญในการกระตุ้นตัดสินใจเพื่อลงทุน
✨ เข้าถึงกลยุทธ์ ER-OR STRATEGY เพื่อรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งแบบเฉพาะหน้า ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน และความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว
🔸 E - Engagement สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย
สร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์ และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคผ่านกิจกรรม แคมเปญ รวมถึงคอนเทนต์ที่น่าสนใจและทำให้เกิดการมีส่วนร่วม เช่น การทำโพลล์, การคอมเมนต์ หรือการแชร์เนื้อหาและประสบการณ์ส่วนตัว เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและกระตุ้นการตัดสินใจ
🔸 R - Reliability สร้างความน่าเชื่อถือและไว้วางใจได้
สร้างความมั่นใจว่าแบรนด์น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ ด้วยการรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการ ยิ่งแบรนด์ภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือมากเท่าไหร่ แนวโน้มที่คนหมู่มากจะคล้อยตามการรีวิวจากผู้ใช้จริงหรือคำแนะนำของผู้มีอิทธิพลก็จะยิ่งง่ายขึ้น จงจำไว้ว่าไม่ว่าคุณจะเป็นคนทำธุรกิจ หรือ Content Creator ก็ตามเราต้องสร้าง ‘ความไว้วางใจ’ ที่ผ่านสินค้าและบริการ รวมถึงรีวิวที่น่าเชื่อถือ
🔸 O - Outstanding สร้างความโดดเด่นและแตกต่างเหนือคู่แข่ง
เพื่อเลี่ยงความผิดหวังจากการคล้อยตามกันธุรกิจต้องสร้าง ‘ความโดดเด่น’ ให้กับผลิตภัณฑ์ โดยเน้นคุณค่าที่ไม่เหมือนใครคุณภาพที่เหนือกว่า หรือคุณสมบัติที่แตกต่าง ทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำ และเป็นตัวเลือกที่เหนือกว่าคู่แข่ง
🔸 R - Relationship สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น
การสร้างความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากพอจะเกิด Brand Loyalty ยิ่งเราสามารถสื่อสารอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ รับฟังและตอบสนองความคิดเห็นของลูกค้าพร้อมมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น โปรแกรมความภักดีที่ตอบโจทย์และเข้าใจความต้องการของลูกค้า ทำให้ลูกค้าอยากกลับมาซื้อซ้ำเรื่อย ๆ หรือมอบประสบการณ์สุดพิเศษสำหรับลูกค้าคนพิเศษ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่มีคุณค่าและอยากแนะนำให้คนอื่น ๆ มาใช้สินค้าและบริการนั่นเอง
เรียกได้ว่าพฤติกรรมของคนไทยเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเออ-ออ เองก็เช่นกันมันเป็นเรื่องที่ดีนะ แต่การเออ-ออ แบบไม่คิดไตร่ตรองให้ดีก็สุ่มเสี่ยงในเวลาเดียวกัน ในวันนี้เราต้องคิดให้เยอะขึ้น อย่างเช่นเรื่องของการลงทุนเองมันก็ไม่มีสูตรสำเร็จ มันมีแต่จุดประสงค์ว่าเราลงทุนไปเพื่ออะไร ใช้สติให้มากก่อนจะเออ-ออ อะไรก็ตาม หรือในมุมของการสร้างตัวตน เราจะเออ-ออ ทำตามคนอื่นมันก็ไม่ผิด แต่ถ้าคุณตามเขา คุณจะก็ไม่มีตัวตนที่ชัดเจน ดังนั้นการสร้างตัวตนสำคัญ เออ-ออ เพื่อจับเทรนด์ได้ แต่อย่าตามคนอื่นไปซะหมด
อย่ารอให้คำว่า ‘เออ-ออ’ เป็นเพียงคำพูดลอย ๆ วันนี้ถ้ายังไม่เริ่มทำอะไรเลย ลองตอบตัวเองดูว่า เออ….จะรออยู่ทำไม ลองเริ่ม เพื่อกล้าจะผิดพลาด แล้วในวันนึงคุณอาจจะเป็นผู้นำเทรนด์ที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างการ ‘เออ-ออ’ ที่ชักชวนให้คนดู หรือแฟน ๆ ของคุณ มีคุณภาพในแบบเดียวกับคุณ
✍🏻 เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ
🎨 ภาพประกอบ: ชนสรณ เวชสิทธิ์
2 บันทึก
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย