19 ม.ค. เวลา 07:00 • นิยาย เรื่องสั้น

5 เทคนิคสร้างตัวละครให้น่าติดตาม

การจะสร้างตัวละครให้น่าติดตามนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรื่องราวของเรามีความสมบูรณ์และน่าสนใจมากขึ้น วันนี้เรามีเทคนิคที่เราเองใช้สร้างตัวละครมาฝากกันครับ
1️⃣ สร้างตัวละครในแบบที่คนอยากเห็น 🙆‍♂️
คนดูมักจะรักตัวละครอยู่สองแบบ แบบแรกคือตัวละครที่เหมือนกับเขา และแบบที่สองตัวละครที่เขาอยากเป็น หรือถ้าสูงขึ้นอีกหน่อย คือสร้างตัวละครที่เหมือนกันกับเขาและพัฒนาไปสู่ความเป็นตัวละครแบบที่เขาอยากเป็น
ซึ่งนั่นแปลว่าเราต้องรู้ว่า 👉 คนดูของเราคือใคร ?
อย่างที่เคยพูดไปหลายต่อหลายครั้งแล้วนะครับว่า ในโลกวันนี้ความแมสเริ่มไม่มีจริง เราคลุมผู้ชมหรือผู้อ่านทุกกลุ่มไม่ได้แล้ว อาจจะมีชิ้นงานที่เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย แต่ก็ไม่ใช่ทุกรสนิยม ดังนั้นเราอาจจะต้องรู้ให้ชัดนิดนึงว่าคนดูของเราอยู่ในกลุ่มรสนิยมแบบไหน แล้วค่อยมาดูต่อว่าตัวละครที่เราสร้างขึ้นมามีความเชื่อมโยงกับเขาอย่างไรบ้าง
🧐 ดูแบบโนบิตะก็ได้ครับ เขาเป็นเด็กเรียนไม่เก่ง สอบได้ 0 คะแนน รักสนุก อ่อนแอ อันนี้คือความรู้สึกร่วมของเด็กจำนวนมากเลยนะ เอาง่าย ๆ เอาจากตัวเรา (ผู้เขียน) เอง เราคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ถึงแม้จะไม่ถึงขนาดสอบได้ 0 ขนาดโนบิตะ แต่ก็ห่างไกลจากคำว่าเก่งอยู่หลายปีแสง แล้วก็ไม่สู้คนแน่ ๆ มีเรื่องขึ้นมาเราเผ่นก่อนแน่นอน และเราก็เชื่อว่ามีคนมากมายที่เป็นแบบนี้เหมือนกัน คนเหล่านี้แหละที่น่าจะเข้าใจโนบิตะ และเราก็อยากมีโดราเอมอนเป็นเพื่อน เพื่อที่จะได้รับของวิเศษใช้แบบโนบิตะบ้าง
2️⃣ สร้างเอกลักษณ์ที่น่าจดจำให้กับตัวละคร 🧑‍🎤
ส่วนนี้เราต้องจัดการทั้งภายนอกและภายใน ในส่วนภายนอกคือ 👉 การสร้างความจดจำตั้งแต่เสื้อผ้า หน้าผม รูปร่าง ส่วนของภายในคือ 👉 แนวความคิด ทัศนคติ ความสามารถ ความเก่งกาจหรือข้อบกพร่อง
โดยส่วนภายในนี้จะสะท้อนออกมายังภายนอก ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการเคลื่อนไหว การพูดการจา การตอบโต้ต่อสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเราสามารถทำให้มันโดดเด้งยังไงก็ได้ แต่ให้อยู่บนฐานของความสมเหตุสมผลกับตัวละครตัวนั้น
🧐ลองนึกถึงตัวละครเหล่านี้ที่ดังระดับโลกดูก็ได้ เราเห็นเอกลักษณ์ของเขามั้ย อย่าง ดร.อินเดียน่า โจนส์, แฮรี่ พ็อตเตอร์, เฟรดดี้ ครูเกอร์, L หรือ ไฮเซนเบิร์ก จากเบรคกิ้ง แบด
3️⃣ สร้างความเก่งกาจเก๋าเกมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง 🏆
ให้ตัวละครได้เก่งกาจในเรื่องใดสักเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเรา ไม่ว่าเขาจะโชว์มันหรือไม่กล้าโชว์มันก็ตาม 👉 ให้เขามีเรื่องที่เขาทำได้ดี และใช้มันสร้างโมเมนต์เจ๋ง ๆ ในเรื่องได้
📌ข้อนี้จะทำให้เราจัดการโครงสร้างเรื่องได้อีกหลากหลายสิ่งเลย เราอาจใช้ความเก่งสร้างปัญหาให้เขาก็ได้ หรือใช้มันสร้างทางออกให้กับเขา นอกจากนี้ยังสามารถใช้มันคลี่คลายเรื่องในช่วง Climax ได้อีกด้วย ดังนั้นคิดไว้ก่อนเถอะครับ อย่าด้อยค่าตัวละครของเราเองเลย
4️⃣ ไม่ลืมสร้างข้อบกพร่องหรือนิสัยเสียให้กับเขา 🙅‍♂️
เราเป็นมนุษย์ย่อมมีข้อบกพร่อง จุดอ่อนหรือนิสัยเสียในตัวกันอยู่แล้ว ตัวละครเองก็เช่นกัน ถ้าจะให้ดี สิ่งนั้นก็ควรเกี่ยวข้องกับแก่นสารของเรื่อง เพื่อให้ตัวละครของเราได้แก้มันและเกิดใหม่ในท้ายที่สุด
📌อย่าลืมให้ความบกพร่องนั้นของเขาเป็นตัวขัดแข้งขัดขา ไม่ให้เขาได้บรรลุเป้าหมายของเขา การมีสิ่งนี้ในเรื่องนี่แหละครับจะทำให้เรื่องของเราน่าสนุกขึ้นด้วย
5️⃣ สร้างปูมหลังที่เหมาะสม ⏳
ในการสร้างปูมหลังนั้น เราทำเพื่อสองเหตุผลครับ เหตุผลแรกคือ 👉 ทำให้คนดูหรือคนอ่านเข้าใจตัวละคร ซึ่งหลายการกระทำอาจจำเป็นต้องมีเหตุผลรองรับว่า ทำไมตัวละครถึงทำเช่นนั้น ทำไมถึงคิดอย่างนั้น หรือรู้สึกอย่างนั้น ปูมหลังจึงจำเป็นต้องให้เห็นในเรื่อง จะเป็นการปูหรือการตบก็ได้
เหตุผลที่สองคือ 👉 เราเองในฐานะคนเขียนจะได้รู้จักตัวละครของเราจริง ๆ การใส่ปูมหลังนี่เองคือการทำให้เขามีชีวิตจิตใจ ยิ่งเรารู้จักเขาเยอะ เราก็ยิ่งอธิบายและเขียนถึงเขาได้ง่ายขึ้นเท่านั้น เหมือนกับที่เรารู้จักคนรอบตัวของเรานั่นแหละ
💌 และนี่ก็เป็น 5 เทคนิคที่เราใช้ในการสร้างตัวละครมาโดยตลอด จริง ๆ ยังมีอีก แต่เดี๋ยวในคราวหน้าจะมาเขียนเล่าเพิ่มเติมครับ
มันก็จะประมาณนี้แหละครับ
📢ใครอยากรู้วิธี Set Up & Pay Off ตัวละคร รวมถึงเทคนิคสร้างสถานการณ์เปิดตัวตัวละครอย่างมีพลัง พบกันในคอร์ส Character Guide ที่จะพาคุณไปทำความเข้าใจตัวละครแบบ “ถึงแก่น”!!
เรียนสดออนไลน์ผ่าน Zoom
🗓️ 25 & 26 มกราคม 2568 | 13.00 - 17.00 น.
💰ราคา 3,500 บาท (จากปกติ 3,900 บาท)
แถมฟรี ! สมาชิกรายปี Standard Member มูลค่า 890 บาท
ดูรายละเอียดได้ที่ https://lin.ee/pPPY8la
หรือ Facebook : Story BOWL Society
โฆษณา