18 ม.ค. เวลา 04:59 • ธุรกิจ

Authentic Brands Group จอมชุบชีวิตแบรนด์แฟชั่นขาลง จนมีพอร์ตหลายแสนล้าน

เมื่อพูดถึงแบรนด์แฟชั่นอย่าง Reebok, Forever 21, Champion, Billabong, Quiksilver, Roxy น่าจะเป็นชื่อที่ใครหลายคนรู้จักหรือเคยซื้อสินค้ามาใช้กันบ้าง
ซึ่งแบรนด์เหล่านี้มีจุดเชื่อมโยงกันคือ เคยประสบปัญหาธุรกิจอย่างหนัก จนถูกบริษัท “Authentic Brands Group” ซื้อกิจการไปฟื้นฟูให้กลับขึ้นมาใหม่
1
เรื่องราวการทำธุรกิจของบริษัทนี้น่าสนใจอย่างไร ?
ทำไมต้องโฟกัสที่การซื้อแบรนด์ขาลง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
บริษัท Authentic Brands Group หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ABG ก่อตั้งโดยคุณ Jamie Salter นักธุรกิจชาวแคนาดา ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 61 ปี
1
ในอดีต เขาเคยลองทำธุรกิจ โดยซื้อกิจการร้านขายอุปกรณ์สโนว์บอร์ดมาในราคา 1 ล้านบาท ก่อนบริหารให้เติบโตและขายต่อไปในราคา 170 ล้านบาท
ต่อมาในปี 1992 คุณ Salter ได้ก่อตั้งบริษัท Ride Inc. ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตสโนว์บอร์ด และสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม แม้ราคาหุ้นเคยพุ่งสูงขึ้นกว่า 1,500% ในช่วงหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ตกต่ำลงตามยอดขายที่หดตัว
นั่นทำให้เขาเรียนรู้ว่า แต่ละธุรกิจนั้นมีวัฏจักร ซึ่งถ้าเข้าไปลงทุนในจังหวะที่ย่ำแย่ แล้วบริหารจัดการให้กลับมาเป็นที่นิยมได้ ก็น่าจะเป็นท่าที่ทำกำไรได้มหาศาล
จากนั้นคุณ Salter ก็ลองทำธุรกิจด้วยแนวคิดนี้อยู่หลายครั้ง และมองเห็นถึงศักยภาพที่เป็นไปได้
จึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัท Authentic Brands Group ในปี 2010 ด้วยเงินทุนประมาณ 680 ล้านบาท
โดยกลยุทธ์ของบริษัท ABG คือ การมองหาแบรนด์ในอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่กำลังตกที่นั่งลำบาก เพื่อดำเนินการขอซื้อกิจการ
ซึ่งคุณ Salter เปิดเผยว่า จะมุ่งเน้นแบรนด์ที่มีอายุหรือประวัติศาสตร์ธุรกิจยาวนาน เพราะมีมูลค่าแบรนด์ที่น่าสนใจซ่อนอยู่ และไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ง่าย ๆ
เมื่อดีลสำเร็จ ABG จะหาวิธีฟื้นฟูธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น การลดต้นทุน หรือประยุกต์ใช้แผนการตลาดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
หลังจากนั้น ABG ก็จะขายสิทธิ์การใช้แบรนด์ให้กับบริษัทอื่นนำไปใช้ประโยชน์ และเก็บค่าตอบแทนประมาณ 4-6% ของยอดขายทั้งหมด
มาลองดูตัวอย่างแบรนด์ดัง ภายใต้พอร์ตของ ABG
- Reebok แบรนด์รองเท้าและเสื้อผ้า อายุ 67 ปี
ABG ซื้อกิจการ Reebok จาก Adidas ในปี 2022 ด้วยเงินมูลค่า 85,000 ล้านบาท นับเป็นดีลใหญ่สุดของบริษัท
โดย Reebok ประสบปัญหายอดขายหดตัวจากการแข่งขันที่ดุเดือดกับแบรนด์รองเท้ากีฬาและรองเท้าแฟชั่นรายอื่น ๆ ในตลาด
- Forever 21 แบรนด์เสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่น อายุ 41 ปี
หลังจาก Forever 21 ยื่นล้มละลาย เพราะเน้นสาขาหน้าร้านขนาดใหญ่จนทำให้มีต้นทุนจมมหาศาล ขณะที่ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าทางออนไลน์แทน
ABG ก็ได้ร่วมกับพาร์ตเนอร์เข้าซื้อหุ้น Forever 21 ในปี 2020 ด้วยดีลมูลค่า 2,700 ล้านบาท โดย ABG ถือหุ้นสัดส่วน 37.5%
- Champion แบรนด์เสื้อผ้าของสหรัฐอเมริกา อายุ 106 ปี
ABG ซื้อกิจการ Champion ในปี 2024 ด้วยเงินมูลค่า 40,000 ล้านบาท หลังจากที่แบรนด์ประสบปัญหายอดขายหดตัว เพราะได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่น้อยลง
- Boardriders บริษัทเจ้าของแบรนด์ Billabong, Quiksilver, Roxy
ABG ซื้อกิจการ Boardriders ในปี 2023 ด้วยเงินมูลค่า 42,000 ล้านบาท หลังจากแบรนด์ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเทรนด์ออนไลน์ได้ทันรายอื่น
อย่างไรก็ตาม การซื้อแบรนด์ที่อยู่ในช่วงขาลง ก็อาจไม่สำเร็จเสมอไป เช่น ABG เคยซื้อกิจการนิตยสารกีฬา Sports Illustrated แต่มีปัญหากับผู้ซื้อลิขสิทธิ์ จนทิศทางธุรกิจไม่ชัดเจนและนำไปสู่การปลดพนักงาน
ทั้งนี้ นอกจากแบรนด์แฟชั่นแล้ว ABG ยังถือลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปินหรือนักกีฬาที่มีชื่อเสียงในอดีตด้วย เช่น คุณ Marilyn Monroe, คุณ Elvis Presley, คุณ Michael Jackson และคุณ Muhammad Ali
รวมถึงเป็นพาร์ตเนอร์กับบุคคลดังในปัจจุบัน เช่น คุณ David Beckham และคุณ Shaquille O'Neal เพื่อช่วยโฆษณาทำการตลาดหรือต่อยอดธุรกิจจากเครดิตของคนเหล่านี้
แล้วปัจจุบันธุรกิจของ ABG เป็นอย่างไร ?
ABG สะสมแบรนด์ต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในพอร์ตมากกว่า 50 แบรนด์ ทำให้กลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญของวงการสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์
1
โดยมีการจำหน่ายผ่านตัวแทนอยู่ใน 150 ประเทศทั่วโลก และทำยอดขายรวมกันทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 1,000,000 ล้านบาท..
แม้ ABG เป็นบริษัทเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และไม่ได้เปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่ชัดเจนมากนัก
แต่คุณ Salter ก็เคยเปิดเผยว่า บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ราว 40,000 ล้านบาท ในปี 2023
ซึ่งความน่าสนใจของธุรกิจ ABG ก็ไปเตะตาบริษัทบริหารจัดการทรัพย์สินที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างกองทุน BlackRock ที่ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 25%
โดยในรอบการระดมทุนเมื่อปี 2023 บริษัทถูกประเมินมูลค่าธุรกิจเอาไว้สูงถึง 680,000 ล้านบาท..
จากเรื่องราวนี้จะเห็นได้ว่า
สำหรับธุรกิจแฟชั่นนั้น “เวลา” คงเปรียบเสมือนดาบสองคม
ถ้าไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับตลาดในปัจจุบันได้ ก็อาจถูกมองว่าล้าสมัย แต่ถ้าเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคอยู่อย่างสม่ำเสมอ เวลาที่สั่งสมมาจะกลายเป็นมูลค่าที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ
ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่า Authentic Brands Group ที่อาศัยช่วงที่แบรนด์เหล่านั้นกำลังตกต่ำ ซื้อกิจการมาไว้อยู่ในมือมูลค่าหลายแสนล้านบาท จะใช้ประโยชน์จาก “เวลา” และชุบชีวิตแบรนด์ ให้สร้างผลตอบแทนกลับมาได้ดีแค่ไหน..
โฆษณา