15 ม.ค. เวลา 15:05 • ครอบครัว & เด็ก

‘เรื่องเงิน’ อย่าปล่อยให้ ‘เด็กโตแล้วค่อยสอน’

รวมทักษะการเงิน 15 ข้อ ที่พ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูกตั้งแต่เด็ก
ในโลกทุนนิยมที่หมุนรอบ ‘เงิน’ การมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการจัดการบริหารและใช้เงินจึงเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมาก
แต่โชคร้ายที่ทักษะความรู้ที่สำคัญนี้ไม่ได้ถูกสอนกันในโรงเรียนเหมือนอย่างวิชาอื่นๆ หน้าที่ความรับผิดชอบจึงต้องตกมาสู่มือของพ่อแม่ในการสอนลูกๆ ของตัวเอง
การสอนพวกเขาเรื่องการเงินตั้งแต่ยังเด็กจะช่วยทำให้พวกเขามีความมั่นใจในการจัดการเรื่องการเงินของตัวเอง ใช้จ่ายด้วยความรับผิดชอบ เป็นความรู้ช่วยนำทางบนเส้นทางการเงินที่ท้าทายในชีวิตอีกด้วย
นี่คือบทเรียนการเงิน 15 ข้อที่พ่อแม่ทุกคนควรปลูกฝังให้ลูกก่อนที่เขาจะโตเป็นผู้ใหญ่
✅1.เงินไม่ได้งอกบนต้นไม้
คำกล่าวนี้เราเคยได้ยินมาโดยตลอด เป็นความรู้การเงินพื้นฐานที่ช่วยให้เด็กๆ เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเงิน ของเป็นกล่องๆ ที่พนักงานส่งของมาส่งที่บ้านไม่ได้มาฟรีๆ เงินมาจากการทำงานและความพยายาม การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เด็กๆ ฟังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ สอนให้รู้ว่าการทำงานนั้นมีความหมายและเราควรใช้เงินอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่จำเป็นต้องซื้อของที่อยากได้เสมอไป
✅2.สอนเรื่องพื้นฐานของการวางแผนการเงิน (Budgeting)
ทักษะพื้นฐานที่สำคัญมากๆทางการเงินคือการจัดสรรเงินของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเงินที่พ่อแม่ให้หรือการหารายได้พิเศษต่างๆ เราควรสอนให้ลูกจัดหมวดหมู่เงินที่ได้รับมาออกเป็นส่วนๆ เช่นเงินออม เงินที่เอาไปใช้จ่าย เงินที่เอาไว้สำหรับซื้อของขวัญให้เพื่อน ฯลฯ ทักษะตรงนี้จะสร้างความมั่นใจเรื่องการเงินให้พวกเขาในอนาคตและทำให้ตัดสินใจใช้เงินได้อย่างมีเหตุผลด้วย
✅3.ออมก่อน ใช้ทีหลัง
เรื่องนี้แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็พลาดกันบ่อยๆ เมื่อได้เงินมาแล้ว เราต้องหักส่วนที่ออมออกก่อน แล้วส่วนที่เหลือถึงจะเอาไปใช้จ่ายได้ การแบ่งเงินออมออกมาก่อนนั้นทำให้เห็นถึงความสำคัญของเป้าหมายระยะยาวและเก็บออมเผื่ออนาคตที่จำเป็นต้องใช้เงินด้วย
✅4.การอดทนรอคอย (Delayed gratification) ส่งผลดีในระยะยาว
เราเคยได้ยินตลอดถึงความสำคัญของการ ‘อดเปรี้ยวไว้กินหวาน’ อดทนรอคอยเพื่อให้ถึงเวลาที่เหมาะสม และมันก็เป็นจริงในเรื่องของการเงินด้วย การใช้จ่ายซื้อของด้วยอารมณ์นั้น อยากได้ต้องได้เดี๋ยวนั้น นำไปสู่ปัญหาการเงินมากมายในชีวิต
จริงอยู่ที่การใช้เงินเพื่อซื้อของเราอาจจะมีความสุขชั่วคราวในเวลานั้น แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจด้วยว่าเงินที่ใช้จ่ายไปนั้นจะทำให้เราลำบากภายหลังรึเปล่า บางทีมันควรจะเป็นส่วนของเงินที่ต้องเก็บเอาไว้เพื่อ
✅5.อยากได้ หรือ จำเป็น
พ่อแม่ต้องคอยตักเตือนลูกๆ เสมอระหว่างสิ่งที่จำเป็น (ปัจจัย 4) กับสิ่งที่อยากได้ (ของเล่น แกดเจ็ต เสื้อผ้าแฟชั่น ฯลฯ) ให้ความสำคัญกับสิ่งที่จำเป็นก่อนเสมอ สร้างนิสัยของความรับผิดชอบตั้งแต่ยังเด็กๆ และถ้าเด็กโตหน่อยเราอาจจะสอนเรื่องเกี่ยวกับเทคนิคทางการตลาดที่ล่อตาล่อใจให้เราเสียเงินด้วยก็ได้
✅6.หาโอกาสสร้างรายได้เล็กๆน้อยๆ ด้วยกัน
การหาเงินไม่ใช่หน้าที่ของเด็กๆ แต่ว่าพ่อแม่สามารถปลูกฝังนิสัยการเป็นผู้ประกอบการหรือการทำธุรกิจให้กับลูกๆ ได้ อาจจะชวนกันไปขายของมือสอง เอาเสื้อผ้า ของเล่นที่สภาพดี ไปขายที่ตลาดนัดหรือออนไลน์ อาจจะคุยให้ลูกฟังว่าตัวเองทำงานอะไรและหาเงินได้ยังไง ชวนกันทำขนมไปขายหรือตั้งบูตขายของที่ถนนคนเดิน ฯลฯ
หาโอกาสในการสร้างหรือคุยเรื่องการเงินด้วยกันบ่อยๆ จะทำให้เด็กๆ มีความเข้าใจเรื่องการวางแผนการเงินมากขึ้น
✅7.อย่าลืมพื้นฐานเรื่องการออมเงิน
เรื่องพื้นฐานที่มองข้ามไม่ได้ คอยแนะนำเรื่องความสำคัญของการเก็บออม ธนาคาร และดอกเบี้ย ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ
✅8.ตั้งเป้าหมายการเงินด้วยกัน
บางทีลูกๆ อาจจะมีของที่อยากได้มากๆ เช่นรองเท้าคู่ใหม่ ชุดระบายสี หรือแม้แต่จักรยานสักคัน แน่นอนว่าการที่พ่อแม่มีเงินแล้วซื้อให้เพราะความรักไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพียงแต่เราอาจจะพลาดโอกาสในการสอนลูกเรื่องการเก็บออมเงินเพื่อเป้าหมายใหญ่ๆ
พ่อแม่ควรช่วยลูกตั้งเป้าหมายทางการเงิน คอยสนับสนุนเขาว่าต้องทำยังไง ได้เงินมาแล้วควรแบ่งไว้เท่าไหร่ เมื่อไหร่ที่จะถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นบทเรียนสอนความรับผิดชอบเมื่อพวกเขาโตขึ้นได้อย่างดี
✅9.การให้
การมอบของเล่นหรือบริจาคเงินถือเป็นบทเรียนเกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคมได้เป็นอย่างดี ทุกครั้งที่มีโอกาสและสามารถทำได้ พ่อแม่ควรสนับสนุนให้ลูกๆลองแบ่งเงินบางส่วนที่เก็บไว้เพื่อมอบให้คนอื่นที่ขาดแคลนหรือยากไร้ บริจาคเสื้อผ้าหรือของเล่นที่สภาพดีให้เด็กคนอื่นๆในพื้นที่ห่างไกลและจำเป็น สิ่งเหล่านี้จะช่วยสอนให้เด็กมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
✅10.สอนเรื่องหนี้และความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการเป็นหนี้
แม้ว่าประเด็นนี้อาจจะมีความซับซ้อนสักหน่อย แต่ผู้ใหญ่ควรหาโอกาสอธิบายให้เด็กๆ ฟังถึงความเสี่ยงในการไปกู้ยืมเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ว่ามันทำงานยังไง หนี้อาจจะไม่ได้เลวร้ายทั้งหมด แต่การกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นนั้นถือเป็นการสร้างนิสัยการเงินที่ไม่ดีนัก หน้าที่ของพ่อแม่คือการสอนและแยกแยะให้เด็กๆ ฟังถึงเครื่องมือการเงินตรงนี้และใช้มันอย่างระมัดระวัง
✅11.เงินเป็นเครื่องมือไม่ใช่เป้าหมายของทุกอย่าง
การมีเงินเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในสังคม การไปโรงเรียน ท่องเที่ยว ซื้ออาหาร ฯลฯ ทุกอย่างล้วนใช้เงินทั้งสิ้น เพียงแต่พ่อแม่ต้องเน้นย้ำกับลูกๆ ด้วยว่าเงินเป็นเพียงเครื่องมือที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายของชีวิต การมีเงินเยอะๆ ไม่ควรเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง
สอนลูกๆ ให้เติมเต็มชีวิตด้วยความสุข ความสัมพันธ์ของครอบครัวและคนรอบข้าง การทำงานที่มีความหมาย มากกว่ามุ่งมั่นแต่จะหาเงินเพื่อซื้อวัตถุมาเพิ่มความสุขให้กับชีวิต
✅12.ค่อยๆสอนประเด็นที่ยากๆตามอายุของเด็ก
เริ่มต้นง่ายๆ เก็บออม แบ่งเงิน แบ่งปัน หลังจากนั้นเมื่อโตขึ้นอีกหน่อยก็อาจจะคุยเรื่องดอกเบี้ย ธุรกิจ การกู้ยืม หนี้สิน เมื่อโตขึ้นอีกก็อาจจะเปลี่ยนเป็นการลงทุน ภาษี ประกัน หรือแม้แต่การเก็บออมสำหรับช่วงวัยเกษียณ สิ่งสำคัญคือผู้ใหญ่ต้องค่อยๆ พัฒนาประเด็นไปตามอายุของเด็กเมื่อเขามีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
✅13.เป็นตัวอย่างที่ดี
ประเด็นนี้สำคัญมาก บอกให้ลูกเก็บออม เราต้องเก็บออมให้เป็น บอกให้ลูกซื้อของที่จำเป็น เราก็ต้องทำด้วย การกระทำสำคัญกว่าคำพูดเสมอ ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม พูด สอน แต่เรากลับทำตรงกันข้าม สุดท้ายไม่ว่าจะพูดให้ปากฉีกถึงหูลูกก็คงไม่ทำตาม
✅14.เมื่อผิดพลาด จงใช้มันเป็นบทเรียน
เราทุกคนเคยผิดพลาดกันทั้งสิ้น ไม่ว่าคุณหรือลูก เราอาจจะเก็บออมเพื่อจะไปเที่ยว แต่ดันห้ามใจไม่อยู่ไปซื้อของแบรนด์เนมที่ไม่ได้คิดว่าจะซื้อ สุดท้ายมาเสียใจทีหลัง เราก็สามารถหยิบบทเรียนนี้มาสอนลูกได้ว่าเราพลาดไปตรงไหน หรือบางทีลูกอาจจะพลาดเอาเงินไปให้เพื่อนยืม แล้วเพื่อนไม่คืน บทเรียนมันคืออะไรก็มาคุยกัน ประสบการณ์เหล่านี้คือโอกาสในการสอนเรื่องการจัดการเงินและการตัดสินใจในชีวิตทุกๆ วัน
✅15.เปิดใจคุยกันบ่อยๆคือกุญแจสำคัญของความสำเร็จทางด้านการเงิน
สิ่งสำคัญที่สุดของเรื่องการสื่อสารระหว่างพ่อแม่และลูกๆ การเตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับเส้นทางการเงินของตัวเองนั้นไม่ได้เรียนวันนี้แล้วจบ ไม่ใช่คอร์สการเงินที่สอนแล้วได้ใบประกาศฯ มาใบหนึ่งแล้วลูกๆก็ไปเผชิญความท้าทายด้วยตัวเอง
การเปิดใจคุยกันบ่อยๆ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องการเงินถือเป็นสิ่งจำเป็นและเราในฐานะพ่อแม่เองก็ต้องคอยสอบถามอยู่เรื่อยๆ
การลงทุนในความรู้เรื่องการเงินของเด็กๆ ตั้งแต่ยังเล็ก จะส่งผลลัพธ์ในทางที่ดีให้กับชีวิตของพวกเขาในระยะยาว เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ช่วยให้พวกเขามีความมั่นใจ รับผิดชอบ และกล้าตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
ส่วนตัวพ่อแม่เองก็ต้องคอยอัปเดตและหาความรู้ใหม่ๆ ใส่ตัวอยู่เสมอ อย่าลืมว่าข้อมูลเรื่องการเงินนั้นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กรอบคิดบางอย่างหรือสิ่งที่เคยเข้าใจอาจจะเปลี่ยนไปแล้ว เพราะฉะนั้นคนเป็นพ่อแม่เองก็ต้องคอยเปิดใจและอย่ายึดติดกับความเข้าใจแบบเดิมๆ ด้วยครับ
#aomMONEY #การเงิน #ปลูกฝังเรื่องเงิน #วัยเด็ก #วันเด็ก #สอนเรื่องเงิน #ลูก
โฆษณา